ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่ามกลางกระแสการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เข้มงวดเข้ามาเรื่อยๆ ก็มีข่าวความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย” หรือ คปพ.แทรกเข้ามา นั่นเพราะในช่วงเวลานี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กำลังพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอ ซึ่งได้ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการแปรญัตติ
ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาวาระแรกของ สนช.ด้วยคะแนนเสียง 152 ต่อ 5 และ 154 ต่อ 2 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 แม้ว่าประชาชนในนาม คปพ.ได้พยายามคัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากยังมีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงาน และทำให้อธิปไตยด้านปิโตรเลียมยังเป็นของเอกชนต่อไปโดยผ่านระบบสัมปทานจำแลง
ในวันนั้น นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะตัวแทน คปพ.ซึ่งมารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา ได้อ่านแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของ สนช.นั่นเพราะในการอภิปราย สนช.หลายคนได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีความแตกต่างจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ของ สนช.ที่เคยทำขึ้นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน และหลายคนแสดงความกล้าหาญที่จะไม่ขอรับหลักการ แต่ก็น่าเสียใจและเสียดายที่การลงมติไม่ได้อยู่บนเหตุผลและฐานผลการศึกษาที่ สนช.เคยรับรองไว้ เท่ากับว่า สนช.ไม่ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน
ในขั้นแปรญัตตินั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ได้มีมติให้ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะมี พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล รายละเอียด กลั่นกรองและสรุปข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ได้เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ โดยกำลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ได้ลงรายละเอียดในรายมาตรา และได้เชิญ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มาแสดงความคิดเห็น แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะทาง คปพ.ต้องการให้มีการถ่ายทอดสด แต่คณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถอนุญาตตามคำขอได้ เพราะเป็นการพิจารณาในสภา เกรงว่าอาจมีการพูดพาดพิงบุคคลที่สามได้
พล.อ.สกนธ์บอกอีกว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากและจะครบกำหนด 60 วัน ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ แต่จนถึงวันนี้การพิจารณายังไม่ไปถึงไหน ดังนั้น จะเสนอให้ สนช.มีมติขยายเวลาการทำงานให้กับคณะกรรมาธิการฯ ต่อไปเป็น 120 วัน และยอมรับว่ามีความหนักใจ แต่เชื่อว่าสิ่งที่เราแก้ไขจะมีประชาชนบางส่วนยอมรับ และเชื่อว่ารัฐบาลคงมีเหตุผลที่ทำตามคำเรียกร้องของประชาชนได้เท่านี้ แม้จะไม่สมบูรณ์แต่อยากให้เอาหลักการนี้ไว้ก่อน แล้วค่อยไปแก้ให้สมบูรณ์ทีหลัง
ส่วนข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น พล.อ.สกนธ์เห็นว่าคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะทางรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีแจ้งว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องขอเวลาศึกษา คาดว่าต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะต้องพิจารณาในรายละเอียดให้รอบคอบ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ คปพ.ปฏิเสธเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ นั้น ได้รับการเฉลยในเวลาต่อมาว่า คปพ.โดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สกนธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมแล้ว เพื่อชี้แจงเหตุผลการปฏิเสธเข้าร่วมแสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ
1. ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเป็นร่างที่ สนช.ลงมติเห็นชอบหลักการใหญ่ไปแล้ว โดยที่ไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช.เอง ส่งผลทำให้ อธิปไตยปิโตรเลียมไทยไม่สามารถกลับมาเป็นของรัฐไทย ไม่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนไม่ชัดเจนวิธีประมูลแข่งขัน ไม่แก้ไขให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในหลายมิติตามผลการศึกษา เมื่อปัญหาเกิดขึ้นที่การเห็นชอบในหลักการวาระที่ 1 จึงไม่สามารถมาแก้ไขด้วยการแปรญัตติปลีกย่อยในวาระที่ 2 อีกแล้ว คปพ.จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการโดยจะเข้าร่วมการประชุมแปรญัตติอีกแล้ว
2. เมื่อการเข้าร่วมประชุมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการใดๆ ได้ ด้วยเหตุผลนี้ที่ผ่านมา คปพ.จึงเรียกร้องการถ่ายทอดสดเพราะเล็งเห็นว่าอย่างน้อยก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชนให้รับรู้ความจริงโดยไม่ถูกบิดเบือน
3. ในขณะที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม ของ คปพ.เดินตามผลการศึกษาของ สนช. อีกทั้งยังมีการทวงคืนอธิปไตยปิโตรเลียมกลับคืนมา มีความชัดเจนเรื่องเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในหลายมิติ คปพ.จึงเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ และ สนช.ให้หาหนทางเสนอต่อรัฐบาลให้ถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ โดยในระหว่างการรอ ครม.พิจารณาถอนร่างฯ คณะกรรมาธิการควรขยายระยะเวลาออกไปเพื่อรอพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมของภาคประชาชน และ สนช.ควรแสดงความจริงใจ ฝ่าวิกฤตชาติ รวมตัว สนช.มากกว่า 25 คนเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม ของ คปพ.ซึ่งดำเนินการร่างกฎหมายจากผลการศึกษาของ สนช.เอง
เช้าวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา คปพ.ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับออกจากการพิจารณาของ สนช. พร้อมยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 2 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... โดย คปพ.จะยื่นรายชื่อประชาชนจากทั่วประเทศต่อนายพรเพชร ซึ่งจะพยายามรวบรวมให้ถึง 2 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการปิโตรเลียมอย่างแท้จริง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ได้ออกไปรับหนังสือบริเวณหน้ารัฐสภา โดยนายปานเทพได้ขอให้นายสุรชัยส่งสัญญาณไปถึงกรรมาธิการฯ และในระหว่างรอการตัดสินใจของรัฐบาลในการถอนร่างฯ ขอยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 21,480 รายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.เพราะเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความต้องการของประชาชน แม้ว่าอาจจะเจออุปสรรคในการตีความในอนาคตว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมฯ เข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.การเงินหรือไม่
นายปานเทพได้ย้ำว่า ไม่อยากเห็นความขัดแย้งด้วยการดันทุรังกฎหมายที่ประชาชนไม่เห็นชอบออกมา เพราะถ้าออกมาถึงแม้ท่านจะมีจำนวนมือในสภามากพอ แต่ก็จะเกิดความขัดแย้งนอกสภาแน่นอนภายหลังการลงมติ เราจึงไม่อยากเห็นความขัดแย้งที่ฝืนความรู้สึกของประชาชน
ขณะที่นายสุรชัยบอกว่า จะรีบนำเอกสารส่งไปยังกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว ถ้าเรื่องยังไม่ได้ข้อยุติจะประสานไปยังประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้ขยายเวลาการพิจารณาออกไป รวมถึงจะประสานส่งเรื่องให้รัฐบาลรับทราบ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือผลประโยชน์ชาติ แต่ต่างกันเรื่องของรายละเอียด รวมทั้งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในวิป สนช.ด้วย
ฟังจากคำพูดของนายสุรชัย ดูเหมือนว่าภาคประชาชนจะยังมีความหวังอยู่บ้าง แต่จากบทเรียนการคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ มาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ซึ่งในระยะแรกก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลขานขับด้วยการชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่แล้วก็มีการมุบมิบผ่าน ครม.ออกมาจนได้ ต่อมามีการปรับแก้เนื้อหา เพิ่มคำว่าระบบแบ่งปันผลผลิตเข้าไป แต่ก็เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแบบหลอกๆ เพราะโดยเนื้อแท้ยังเอื้อให้มีการสัมปทาน และ คปพ.ได้ติดตามคัดค้านการเสนอร่างดังกล่าว ทั้งในขั้นตอนการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และการพิจารณาของ สนช.ในวาระแรก ซึ่งก็ดูเหมื่อนว่าจะมีการขานรับ แต่ในที่สุดร่างกฎหมายทั้งสองฉบับก็ผ่านฉลุยมาตลอด
นี่จึงเป็นบทเรียนที่ภาคประชาชนต้องศึกษาและปรับเปลี่ยนยุทธิวิธีการต่อสู้ใหม่