xs
xsm
sm
md
lg

4 สิงหาฯ เจอกันที่หน้ารัฐสภา ทวงคืนอธิปไตยปิโตรเลียมไทย แล้วอย่าลืมไปลงประชามติรัฐธรรมนูญด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีความคึกคักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จัดงาน คอนเสริ์ตเสวนา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พบ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวาระ "อธิปไตยปิโตรเลียมไทยเพื่อปวงชนชาวไทย" ได้ทำให้หลายคนได้ปรากฏตัวบนเวทีมวลชนอีกครั้งอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏตัวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นหนึ่ง เพื่อให้กำลังใจประชาชนอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล และ พิภพ ธงไชย ตลอดจนผู้ที่ขึ้นปราศรัยและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคน ซึ่งทำให้หวนรำลึกบรรยากาศเก่าๆ ของประชาชนที่รักชาติบ้านเมืองได้มานัดหมายรวมตัวกันเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติอีกครั้งหนึ่ง

การที่เครือข่ายประชาชนเพื่อปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ก็เพราะเหตุว่ารัฐบาลได้เสนอ พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... จนสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ วาระที่ 1 ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในหลักการสรุปได้ 3 ประการสำคัญ

ประการที่หนึ่งเป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่ได้แก้ไขให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเท่ากับเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการแก้ไขให้เกิดความโปร่งใส การจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐให้มีประสิทธิภาพตามผลการศึกษาให้ครบถ้วนแต่ประการใด จึงเท่ากับเป็นกฎหมายที่ทั้งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะไม่ทำตามผลการศึกษาของตัวเองที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว จึงย่อมเท่ากับไม่ฟังเสียงของประชาชนด้วย

ประการที่สองเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ทำให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทย โดยเฉพาะมิติการบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ผลิตได้ และการขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้กลับมาเป็นของรัฐไทยอย่างแท้จริง ทำให้แหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปนั้น ไม่มีองค์กรที่เรียกว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาถือกรรมสิทธิ์ บริหาร และขายปิโตรเลียมที่รัฐพึงได้จากการผลิตปิโตรเลียม และต้องยกให้เอกชนไปบริหารหรือขายปิโตรเลียมแทนรัฐซึ่งคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม

ดังนั้นหากมีการเร่งรัดให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมไทยโดยเฉพาะในแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงภายในปี 2559 หรือปี 2560 นี้โดยยังไม่มีการทวงคืนอธิปไตยปิโตรเลียมไทยให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ ประเทศไทยจะต้องเสียอธิปไตยในปิโตรเลียมไทยไปอีกไม่น้อยกว่า 39 ปี อีกทั้งยังเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลในชุดต่อๆไปปฏิบัติตามในทุกแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอนาคตอีกด้วย

นั่นหมายความว่าการหากผิดพลาดครั้งนี้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยอาจจะต้องสูญเสีย เพราะวางรากฐานยกให้เอกชนไปชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

ประการที่สามเป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่มีความชัดเจนในวิธีการเลือกระบบการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมว่าจะเลือกระบบไหนระหว่างการใช้ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต อีกทั้งวิธีการคัดเลือกเอกชนก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะใช้การประมูลเม็ดเงินผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด หรือการใช้ดุลพินิจให้คะแนน การที่กฎหมายเปิดช่องว่างมากมายในการใช้ดุลพินิจเช่นนี้ย่อมเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจะเป็นผลทำให้รัฐไม่สามารถได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากการแข่งขันเสรีและโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็จะเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อๆไปสบช่องและโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงต้องแข่งกับเวลา โดยนอกจากจะแสดงออกคัดค้าน พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... แล้ว ยังได้จัดทำร่าง พรบ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งมีหลักการที่ตรงกันข้ามกับร่างกฎหมายปิโตเลียมที่อยู่ระหว่างการแปรญัตติในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างสิ้นเชิง

โดย พรบ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. .... ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีหลักการสำคัญที่สรุปได้ 3 ประการดังนี้

ประการที่หนึ่งเป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่ร่างขึ้นมาเพื่อแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นกฎหมายที่ได้มีการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น การประมูลที่ทำให้เกิดความโปร่งใส การแก้ไขเพื่อการจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การแก้ไขเรื่องอธิปไตยปิโตรเลียมให้เป็นของรัฐไทยอย่างแท้จริง ยกเลิกอนุญาโตตุลาการและใช้อำนาจศาลไทยแทน การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ ฯลฯ จึงเท่ากับเป็นกฎหมายที่ยึดแนวทางผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเวทีของอนุกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติมาแล้ว

ประการที่สองมีองค์กรจัดตั้งขึ้นมาที่เรียกว่า "บรรษัทพลังงานแห่งชาติ" ที่รัฐถือหุ้นทั้ง 100% ขึ้นมาเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ บริหารปิโตรเลียม และขายปิโตรเลียม เพื่อให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยกลับมาเป็นของรัฐไทยอย่างแท้จริง อันจะเป็นผลทำให้การตรวจนับปริมาณ และการขายปิโตรเลียมจะอยู่ในการตรวจสอบในทุกขั้นตอน ต่างจากระบบสัมปทานที่ยกการบริหาร การตรวจนับ และการขายปิโตรเลียมให้เป็นของเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

การจัดตั้งองค์กรลักษณะดังกล่าวนี้เทียบเคียงได้กับการจัดตั้ง "บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด" หรือ ปตท.สผ. ซึ่งประสบความสำเร็จมาด้วยดี เพียงแต่ ปตท.สผ. ได้ถูกแปรรูปให้เอกชนถือหุ้นจนทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและสับสนถึงวัตถุประสงค์ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน หรือเพื่อกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะเมื่อข้าราชการในกระทรวงพลังงานผู้มีหน้าที่กำกับดูแลมีผลประโยชน์ทับซ้อนและได้รับผลตอบแทนในกิจการดังกล่าว จึงเป็นเหตุที่ต้องตั้งในองค์กรในการบริหารจัดการและขายปิโตรเลียมที่ถือหุ้นโดยรัฐทั้ง 100% เหมือนกับนานาประเทศที่จัดตั้งองค์กรลักษณะนี้เมื่อใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตเพื่อบริหารจัดการปิโตรเลียมที่รัฐได้มาอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่สามเป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่มีความชัดเจนในวิธีและหลักเกณฑ์การเลือกระบบการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมว่าจะเลือกระบบไหนระหว่างการใช้ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต เพื่อลดการใช้ดุลพินิจเพียงไม่กี่คน อีกทั้งวิธีการคัดเลือกเอกชนก็มีความชัดเจนว่าจะใช้การประมูลเม็ดเงินผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นตัวตัดสินชี้ขาด เพื่อปิดการใช้ดุลพินิจและอุดช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างมากมายมหาศาล

การกำหนดวิธีการประมูลให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นหฃลักประกันว่ารัฐจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดในการผลิตปิโตรเลียมด้วยการแข่งขันเสรีและโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็จะเป็นบรรทัดฐานป้องกันมิให้รัฐบาลชุดต่อๆไปมาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติอีกประการหนึ่งด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ กฎหมายปิโตรเลียมของรัฐบาลที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบและอยู่ระหว่างการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น 1. เป็นกฎหมายที่ไม่ทำตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียเอง 2. ไม่สามารถทำให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยกลับมาเป็นของรัฐไทยได้อย่างแท้จริง และ 3. ไม่มีวิธีการและหลักเกณฑ์ทีว่าจะเลือกระบบการให้สิทธิปิโตรเลียมและการประมูลให้ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐได้จริงหรือไม่

ตรงกันข้ามกับกฎหมายปิโตรเลียมของภาคประชาชน โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงงานได้จัดทำร่างขึ้นมานั้น 1. เป็นกฎหมายที่ทำตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2. ทำให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยกลับมาเป็นของรัฐไทยได้อย่างแท้จริง และ 3. มีวิธีการและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าจะเลือกระบบการให้สิทธิปิโตรเลียมและการประมูลให้ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐได้จริง

สำหรับการเสนอกฎหมายดังกล่าวนั้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เพื่อใช้สิทธิ์ในการขอริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ตามบทบัญญัติมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบกับมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ซึ่งจะต้องรวบรวมรายชื่อให้ไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อในการเสนอกฎหมายดังกล่าว

ครั้น เมื่อถึงเวลาครบ 1 เดือน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ประกาศผลการรวบรวมรายชื่อของประชาชนในการเสนอกฎหมายดังกล่าวมากกว่า 15,000 รายชื่อแล้ว!!!

ดังนั้นจึงได้ประกาศนัดหมายในการส่งมอบรายชื่อในวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ที่ฟุตปาทฝั่งตรงกันข้ามรัฐสภา โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อร่วมเข้าชื่อในการเสนอกฎหมายประวัติศาสตร์ และส่งมอบรายชื่อในวันและเวลาดังกล่าวได้เป็นวันสุดท้าย

และหลังจากนั้นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งหมดก็ควรจะไปใช้สิทธิ์ลงประชามติรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เพื่อให้รายชื่อที่เข้าชื่อมานั้นผ่านคุณสมบัติในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย

ส่วนประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องปิโตรเลียมจะลงประชามติอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าหากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ฟังเหตุฟังผลจากเสียงของประชาชนที่ห่วงใยชาติบ้านเมือง ประชาชนก็จะคิดเองได้ว่าบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะต้องไปผสมผสานกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะไว้วางใจได้หรือไม่

ในทางตรงกันข้ามหากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับฟังเหตุฟังผลจากเสียงของประชาชนที่ห่วงใยชาติบ้านเมือง และถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายปิโตรเลียมอย่างแท้จริง ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ประชาชนก็จะคิดเองได้ว่าบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกสมาชิกวุฒิสภานั้นที่จะต้องไปผสมผสานกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะไว้วางใจได้หรือไม่เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น