xs
xsm
sm
md
lg

แกล้งตาบอดมองไม่เห็น "มาตรา 52 ทวิ" กับการแก้ไขปัญหารอยต่อแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในรอบปีกว่าที่ผ่านมานี้ ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณและศักยภาพสูงที่สุดคือ เอราวัณและบงกช ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในปี พ.ศ. 2565 และปี พ.ศ. 2566 นั้นควรจะทำอย่างไร

ฝ่ายหนึ่งคือคนรัฐบาลให้สัมภาษณ์หลายครั้งเกี่ยวกับรอยต่อที่กำลังจะหมดอายุลงนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด จึงโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อว่าการมอบสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมคือทางเลือกที่ดีที่สุด ถึงขนาดได้เคยมีการเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ใช้วิธีการเจรจาโดยไม่ต้องประมูลมาแล้ว แต่บังเอิญมีกระแสของภาคประชาสังคมรู้ทันจึงได้ทักท้วงและคัดค้าน จึงเป็นผลทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ทำการประมูล 2 แหล่งนี้แทนการเจรจา แต่ก็ยังมีความคลุมเครือว่าประมูลในระบบใดระหว่างระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และจะมีความโปร่งใสได้จริงหรือไม่?

เพราะด้านหนึ่งในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม พรบ.ปิโตรเลียม ของรัฐบาลก็กลับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตใช้หลักการคล้ายคลึงกับสัมปทานเดิมหรือที่เรียกว่าสัมปทานจำแลง คือพึ่งพาการบริหารและการขายปิโตรเลียมให้ไปอยู่ที่เอกชนคู่สัญญา รัฐสละเอกสิทธิในการบริหารและขายปิโตรเลียม ส่วนระบบจ้างผลิตนั้นกระทรวงพลังงานได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ใช้ระบบดังกล่าวเพราะมีความยุ่งยาก ก็น่าจะเป็นเพราะ การแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียมของรัฐบาลนั้นไม่มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารองรับในการบริหารและขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ จึงเป็นผลทำให้ระบบจ้างผลิตซึ่งรัฐต้องเป็นฝ่ายบริหารและขายปิโตรเลียมที่ได้มา 100% ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

และในอีกด้านหนึ่งคือคำสัมภาษณ์ของพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งระบุว่าหากแหล่งเอราวัณและบงกชประมูลไม่สำเร็จก็จะหันกลับไปใช้วิธีการเจรจากับรายเดิม นั่นมีข้อที่น่าเป็นห่วงว่าการกำหนดคุณสมบัติ ตลอดจนการจัดเตรียมข้อมูลและเงื่อนไขให้เพียงพอเหมาะสมแก่การประมูลจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ เมื่อมีแรงจูงใจหากประมูลไม่สำเร็จก็จะกลับไปใช้วิธีเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมรออยู่ข้างหน้า

ยังไม่นับว่าวิธีการประมูลนั้น จะเป็นการกำหนดเนื้องานโดยภาครัฐแล้วให้เอกชนประมูลตัวเงินตามมาตรฐานสากล หรือจะใช้เหมือนรูปแบบสัมปทานเดิมตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือใช้ดุลพินิจและให้คะแนนเนื้องานเป็นหลักสำคัญโดยไม่มีการแข่งขันตัวเงินอย่างแท้จริงหรือไม่ การเกิดช่องโหว่เช่นนี้ได้ก็เพราะ พรบ.ปิโตรเลียม ที่มีการแก้ไขครั้งนี้หละหลวม ไม่มีความชัดเจน และเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจในวิธีการได้อย่างมากมายจนเกินไป และอาจจะเป็นช่องโหว่ให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในวันนี้หรือวันข้างหน้าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ด้วย จริงหรือไม่?

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กลับมีเห็นว่าในวาระที่สำคัญเช่นนี้ควรจะที่จะนำ 2 แหล่งปิโตรเลียมให้กลับมาเป็นของรัฐได้แล้ว ในการนี้จึงให้ควรจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้ามาบริหารและขายปิโตรเลียมที่รัฐจะได้กลับคืนมา และให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันราคารับจ้างผลิตต่ำที่สุดตามกลไกตลาดเสรีเหมือนกับการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4 G ส่วนปัญหารอยต่อการผลิตปิโตรเลียมระหว่างรายเก่ากับรายใหม่นั้นก็มีทางเลือกในการบริหารจัดการได้หลายทาง ไม่สามารถนำมาใช้เป็น "ข้ออ้างหลัก"ในการกีดกันหรือปิดกั้นการแข่งขันแต่ประการใด

เพราะถ้าจะอ้างว่าก๊าซธรรมชาติเพื่อที่จะผลิตไฟฟ้าจะไม่เพียงพอ ในความเป็นจริงแล้วก็สามารถที่จะวางแผนลดการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนำมาผลิตไฟฟ้าได้ และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศเอาเองในช่งรอยต่อทีเกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตปิโตรเลียมรายเก่ากับรายใหม่

ครั้นจะอ้างว่าหากก๊าซไม่เพียงพอในช่วงรอยต่อระหว่างผู้ผลิตปิโตรเลียมรายเก่ากับรายใหม่ จึงจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)จากต่างประเทศและจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ก็ไม่เป็นความจริงอีก เพราะในปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)มีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเสียอีก

หรือหากกลัวว่าเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกชลดกำลังการผลิตลงเพราะไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเพิ่มเติมแล้ว รัฐบาลก็สามารถเจรจาให้เอกชนรายใหม่ที่ชนะประมูลสามารถเข้าพื้นที่ก่อนล่วงหน้าได้เช่นเดียวกัน เพราะเอกชนรายเก่าหากไม่คิดจะลงทุนเพิ่มเติมใดๆแล้ว หากเอกชนรายใหม่เข้าพื้นที่ก่อนเวลาก็ไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆเช่นกัน จริงหรือไม่?

แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานจะไม่แสดงวิธี "บริหารจัดการ" เพื่อลดปัญหารอยต่อระหว่างผู้ผลิตปิโตรเลียมรายเก่ากับรายใหม่ตามที่กล่าวมาข้างต้น นอกเสียจากทำให้ประชาชนตื่นตระหนกว่า จะทำให้ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย ถ้ามีความจริงใจและมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกระทรวงพลังงานกำลังมองข้ามการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่รัฐสามารถให้เอกชนผลิตปิโตรเลียมตามที่รัฐกำหนดได้ตามมาตรา 52 ทวิ ให้เกิดความต่อเนื่องได้ ซึ่งมาตรา 52 ทวินี้ มีการเพิ่มเติมมาตรานี้ตาม พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ความว่า:

มาตรา 52 ทวิ วรรคหนึ่ง "ในกรณีที่รัฐมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอให้ผู้รับสัมปทานเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานได้สงวนไว้ตามมาตรา 45 ก็ได้ โดยเสนอแผนการผลิตในเขตพื้นที่หนึ่งที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะตามโครงสร้างของแหล่งปิโตรเลียม"

มาตรา 52 ทวิ วรรคสาม "ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับข้อเสนอตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว"

มาตรา 52 ทวิ วรรคสี่ "เมื่อรัฐบาลได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าสิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในพื้นที่ที่ได้กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และรัฐบาลมีอำนาจมอบหมายให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวได้"

จะเห็นได้ว่า พรบ.ปิโตรเลียม ได้บัญญัติในการสร้างหลักประกันในการผลิตปิโตรเลียมไม่ให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติได้ ดังนั้นเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมจึงต้องมีหน้าที่ผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล มิเช่นนั้นสิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานจะถือว่าสิ้นสุดลง

และนั่นหมายความว่าการจะมาอ้างว่าต้องเร่งรีบเพราะปิโตรเลียมจะขาดความต่อเนื่องนั้น เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้นแต่ประการใด และถ้าจะเกิดขึ้นก็เป็นเพราะรัฐบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 52 ทวิให้เอกชนผู้รับสัมปทานผลิตปิโตรเลียมให้ต่อเนื่องนั่นเอง

มาตรา 52 ทวิ จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม ให้ต้องเปิดทางให้ผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ที่ชนะประมูลเอราวัณและบงกชเข้าดำเนินการก่อนหมดอายุสัมปทานได้อย่างแน่นอน เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกยกเลิกสิทธิการสัมปทาน ถ้าเอกชนรายเดิมไม่อยากลงทุนเพิ่มเพราะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มเติมนั้นไม่คุ้มค่าจริงตามที่กล่าวอ้าง

แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น พรบ.ปิโตรเลียม ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบในหลักการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ในระหว่างเร่งรีบ รวบรัด แปรญัตติในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับตัดมาตรา 52 ทวิ ให้ไม่ต้องใช้บังคับกับการแบ่งปันผลผลิตในอนาคตอีก

นั่นแปลว่าหลักประกันในเรื่องความต่อเนื่องตาม พรบ.ปิโตรเลียม ตามมาตรา 52 ทวิ จะไม่สามารถนำมาใช้กับระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคตได้ ผลก็คือนอกจากระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้คล้ายสัปทานนี้ เมื่อจะหมดอายุสัญญาแบ่งปันผลผลิตก็จะอ้างความต่อเนื่องมาขู่ประชาชนได้เต็มปากเต็มคำในการต่ออายุสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าต่อไปในอนาคตอย่างไม่รู้จบสิ้น จริงหรือไม่?

วิญญูชนลองพิจารณาเอาเองเถิดว่า รัฐบาลนอกจากจะไม่มีท่าทีที่จะใช้ มาตรา 52 ทวิ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ต่อเนื่องในแหล่งเอราวัณและบงกชแล้ว ยังเคยอ้างความไม่ต่อเนื่องเพื่อที่จะพยามเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม อีกทั้งยังมาลบมาตรา 52 ทวิ ไม่ให้มาบังคับใช้กับระบบแบ่งปันผลผลิตในอนาคตจากการแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียมครั้งนี้ด้วยนั้น มีความสุจริตจริงใจในการแก้ไขปัญหาความมั่งคง ความต่อเนื่อง และผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติจริงหรือไม่?

ทำกันถึงขนาดนี้จะให้เชื่อได้หรือไม่ว่าเพราะตาบอดมองไม่เห็น "มาตรา 52 ทวิ" หรือแกล้งมองไม่เห็นกันแน่

คนที่จะหยุดความผิดปกติเช่นนี้มีคนเดียวเท่านั้นคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ที่จะใช้ความกล้าหาญถอนร่าง พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...แล้วนำมาให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันร่างกฎหมายปิโตรเลียมให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

อย่าปล่อยให้เป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่จะกระทบต่อการลงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยไม่จำเป็นเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น