xs
xsm
sm
md
lg

ความต่อเนื่องผลิตปิโตรเลียม “เอราวัณ กับ บงกช” อยู่ที่ความจริงใจ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะมีความเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ เมื่อแหล่งสัมปทานเอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานลงในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 นั้นจะส่งผลทำให้เกิดการสะดุดในการผลิตปิโตรเลียม จนส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ซึ่งก็ต้องย้ำว่ามันเป็นการหมดอายุสัมปทาน ไม่ได้แปลว่าแหล่งปิโตรเลียมนั้นหมดอายุหรือไม่มีปิโตรเลียมแล้ว

จากคำสัมภาษณ์ของนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2559 จึงให้ทราบความจริงว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้สินทรัพย์ของ 2 บริษัท คือ เชฟรอน และ ปตท.สผ. ลงทุนไปตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันรวมประมาณ 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 280,000 ล้านบาท

แยกเป็นแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน ประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วยแท่นหลุมผลิต จำนวน 28 แท่น แท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 5 แท่น แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน 1 แท่น แท่นที่พักอาศัย 2 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น

ในขณะที่แหล่งบงกช สินทรัพย์มีมูลค่าราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย แท่นหลุมผลิต 25 แท่น แท่นแท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 2 แท่น แท่นที่พักอาศัย 1 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น

นอกจากนี้นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า

“มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการหักค่าเสื่อมราคา ที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาประเมินว่าสุดท้ายแล้ว มูลค่าสินทรัพย์หักค่าเสื่อมราคาแล้วจะอยู่ในระดับใดกันแน่ เพื่อที่จะได้ทราบราคากลางประมูลออกมา ซึ่งคาดว่ามูลค่าสินทรัพย์จะลดลงมาก เนื่องจากมีการใช้งานมาหลายปี ประกอบกับตั้งสินทรัพย์ในราคาที่สูง เกรงว่าจะดึงดูดหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่จะเข้ามาประมูลน้อย เพราะอย่าลืมว่า ทางผู้ประกอบการจะต้องกันเงินไว้ก้อนหนึ่งสำหรับการรื้อถอนแท่นที่หมดอายุลงด้วย ซึ่งต้องใช้เงินในส่วนนี้อีกประมาณ 7-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อแท่น

อีกทั้ง ผู้ที่สนใจจะร่วมประมูลมองว่า ปริมาณสำรองก๊าซที่มีอยู่ ยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยจะเห็นได้จากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ระบุอยู่ในรายงานประจำปี 2557 แหล่งเอราวัณ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2,800 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งบงกช มีประมาณ 1,474 พันล้านลูกบาศก์ฟุต”

บทสัมภาษณ์นี้หากเป็นความจริง ก็มีความน่าสนใจว่าเหตุใดอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงมีความกังวลว่าหากตั้งราคาสินทรัพย์ในราคาที่สูงก็เกรงว่าจะดึงดูดหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่จะเข้ามาประมูลน้อย?

เพราะถ้าจะประมูลในระบบจ้างผลิต รัฐย่อมเป็นเจ้าของปิโตรเลียมโดยตรง ทรัพย์สินของรัฐเป็นเท่าไหร่ก็ไม่เกี่ยวกับเอกชน ผู้รับจ้างผลิตก็มีหน้าที่ประมูลค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ตามเงื่อนไขและความต้องการเนื้องานของการประมูล

แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความคิดที่จะใช้ระบบจ้างผลิตแล้ว ใช่หรือไม่ !?

และก็สอดคล้องกับร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน จึงไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่มาดูแลถือกรรมสิทธิ์และบริหารทรัพย์สินปิโตรเลียมที่รัฐจะได้ในนามบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ใช่หรือไม่?

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าเสียดายโอกาสอย่างยิ่งสำหรับแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่ยังมีศักยภาพสูงอยู่มาก แต่ไม่สามารถนำกลับมาเป็นของรัฐ 100% ได้เมื่อหมดอายุสัมปทาน ทั้งๆที่รอคอยกันยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

ความเป็นจริงแล้วมูลค่าทรัพย์สินนั้นจะใช้การตีค่าเสื่อมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทรัพย์สินเหล่านี้เมื่อรัฐได้กลับมาก็สามารถนำกลับมาเป็นส่วนทุนของชาติในด้านปิโตรเลียม และถ้ารัฐจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตก็ต้องถือว่าทรัพย์สินเหล่านี้เป็นส่วนทุนของรัฐที่จะนำมาให้เอกชนประมูลในการแบ่งปันผลผลิตกับเอกชนอีกด้วย

ไม่มีใครอยากประเมินทรัพย์สินให้สูงหรือต่ำเกินความเป็นจริง แต่สำหรับทรัพย์สินที่ได้จากการหมดอายุสัมปทานของเอกชนนั้นควรจะให้ความเป็นธรรมกับประเทศชาติด้วย ดังนั้นจะต้องไม่คิดเพียงแค่จะหักค่าเสื่อมอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องจ้างบริษัทที่เป็นกลางในการประเมินทรัพย์สินในมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้งานได้จริงหรือที่เรียกว่า Economic Value ให้ผู้ประมูลได้รับทราบ มิเช่นนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม เหมือนตัวอย่างเมื่อความเคลือบแคลงสงสัยกรณีเมื่อครั้งการประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซในการแปรรูป ปตท.

“โดยก่อนการแปรรูป ปตท. ได้มีการประเมินมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผูกขาดและสร้างมาจากภาษีของประชาชนชาวไทย และการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อการแปรรูปไว้ที่ 46,189 ล้านบาท โดยคิดฐานมาจากอายุการใช้งานเพียง 25 ปี

หลังการแปรรูปเพียง 9 ปี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้แก่ General Electric International Operation Company (GEIOC) และบริษัท Shell Solution Thailand (SGST) ทั้ง 2 บริษัท ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของท่อส่งก๊าซเดิมนี้พบว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ตอนก่อนการแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 25 ปี รวมเป็น 50 ปี โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 105,000 ล้านบาท ถึง 120,000 ล้านบาท จริงหรือไม่?”

ดังนั้นหากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะยังคงใช้การประเมินจากค่าเสื่อมอย่างเดียวก็คงจะไม่ถูกต้อง และควรจะต้องประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนชาวไทยและผู้เข้าร่วมประมูลได้รับทราบด้วย เพราะหากตีค่าทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ก็จะส่งผลทำให้เสียประโยชน์ของชาติในสัดส่วนขั้นต่ำที่รัฐพึ่งได้ด้วยจริงหรือไม่?

ซึ่งถ้ากระทรวงพลังงานจะยื้อไม่ยอมใช้วิธีการจ้างผลิต แต่จะใช้วิธีการของแบ่งปันผลผลิต ในแหล่งเอราวัณและบงกชแล้ว การประเมินทรัพย์สินตามความเป็นจริงก็ไม่ควรห่วงว่าจะไม่เกิดแรงจูงใจต่อเอกชนในการลงทุน เพราะในระบบแบ่งปันผลผลิตนั้นขอให้มีข้อมูลเพียงพอและเป็นจริง เอกชนเขาก็จะสามารถประมูลแข่งขันกันเอาเองว่ารัฐควรจะได้สัดส่วนเท่าไหร่ และเอกชนผู้เข้าประมูลควรจะได้เท่าไหร่ ผลเป็นอย่างไรก็ถือได้ว่านั่นคือผลตอบแทนของรัฐตามการแข่งขันของราคาตลาด จริงหรือไม่?

แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการอ้างว่าแบ่งปันผลผลิต แต่ใช้วิธีเลียนแบบเนื้อหาสำคัญในการสัมปทานแบบเดิม คือ รัฐนำทรัพย์สินให้เอกชนเช่าในราคาถูกๆ(จากการประเมินคิดค่าเสื่อมอย่างเดียว) แต่ให้เอกชนเป็นผู้ขายปิโตรเลียมแทนรัฐ ซึ่งหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

สิ่งที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งคือแทนที่จะใช้วิธีการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด แต่กลับใช้วิธีให้คะแนนโดยใช้ดุลพินิจเพียงไม่กี่คน โดยปราศจากการแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ในประเด็นนี้ต่างหากที่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้การให้ข้อมูลทางธรณีวิทยา และปริมาณการสำรวจในอดีตนั้น รัฐจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลเหล่านี้อย่างเพียงพอแก่ผู้ประมูลทุกรายเพื่อให้ฐานความเข้าใจนั้นมีความใกล้เคียงกันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และเป็นธรรม เพราะหากการแข่งขันไม่เกิดขึ้นจริงเพราะเงื่อนไขการประมูล ย่อมถือว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน รวมถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามที่ตามมาก็คือหากเกิดการประมูลแล้วผู้ชนะประมูลไม่ใช่รายเดิมนั้นจะทำให้เกิดการสะดุดหรือไม่? คำตอบนี้มี 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่หนึ่ง คือ ส่วนที่มีการสำรวจและขุดเจาะอยู่แล้ว รับรองได้ว่าส่วนนี้เอกชนผู้รับสัมปทานอยู่ก็คงจะไม่หยุดให้โง่ เพราะเวลาทำเงินเหลือน้อยเต็มที ดีไม่ดีก็อาจจะเร่งผลิตให้มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ดูตัวอย่างเหมืองทองเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัญญาเร่งระเบิดทั้งวันทั้งคืนในเวลานี้

ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่จะต้องสำรวจขุดเจาะเพิ่มในแหล่งสัมปทานเดิม ที่มีการคาดเดาว่าในเวลาที่เหลือเอกชนจะไม่ลงทุนเจาะหลุมเพิ่มเพราะไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ก็ยังมีวิธีการบริหารจัดการได้อีกหลายวิธีเพื่อความต่อเนื่อง เช่น การเจรจาที่รัฐระดมทุนเป็นพันธบัตรลงทุนเพิ่มในส่วนนี้เองเพื่อจ้างรายเดิมผลิตในช่วงรอยต่อ โดยมีเป้าหมายและแรงจูงใจให้เอกชนคือปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตก็ย่อมสามารถทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย จริงหรือไม่?

หรือแม้สมมุติรัฐจะอ้างว่าไม่มีเงินลงทุน และเห็นว่ามีความเสี่ยงในการลงทุนหลุมใหม่ ก็ยังสามารถจัดการด้วยวิธีอื่นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องได้อีก ดังเช่นข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งเคยเสนอเอาไว้หลายครั้งว่า

มาตรการที่ 1 นำก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาผลิตไฟฟ้า 5,410 เมกะวัตต์ ช่วงรอยต่อ พ.ศ. 2566-2568

มาตรการที่ 2 เปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตแหล่งก๊าซใหม่จำนวน 5 แปลงในอ่าวไทย ผลิตไฟฟ้าได้ 740 เมกะวัตต์ ส่งขึ้นที่โรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งพร้อมขยายกำลังการผลิตในปี พ.ศ.2564

มาตรการที่ 3 ปลูกพืชพลังงาน เพื่อผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2568 หรือ 200 เมกะวัตต์ต่อปี

ด้วย 3 มาตรการนี้จะพบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้จะสูงเกินกว่ากำลังผลิตสำรองมาตรฐานร้อยละ 15 ตลอด 20 ปี การผลิตไฟฟ้าจึงไม่สะดุดแม้แต่ปีเดียว โดยที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มาทะเลาะกับประชาชนอีกด้วย

และสมมุติว่าจะไม่ใช้มาตรการทั้ง 3 ตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เพราะในเวลาตอนนี้ก๊าซ LNG มีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศแล้ว และมีแนวโน้มลดลงต่ำไปเรื่อยๆ ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแม้แต่คำสัมภาษณ์ของนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ซีอีโอ ของ ปตท.สผ. ก็ยอมรับเองว่าราคา LNG ตลาดจรที่ไทยนำเข้าปัจจุบันอยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทีอยู่ ในขณะที่ราคาก๊าซในประเทศมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งก็มีการเตรียมนำเข้าก๊าซ LNG มาทดแทนการชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปใช่หรือไม่ ดังนั้นการนำเข้าก๊าซ LNG จึงย่อมไม่ได้เป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในวันนี้เลย

ถ้าเป็นห่วงค่าไฟฟ้าแพงจริงๆละก็ จะแจ้งให้ทราบว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมในปัจจุบันก็มีต้นทุนถูกกว่า LNG (กำลังถูกลงไปเรื่อยๆ) แต่ภาครัฐกลับไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในพลังงานสะอาดและถูกหรือไม่ และเพราะอะไร?

ความสะดุดในการผลิตไฟฟ้าจึงสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอนถ้ามีความจริงใจ แต่ความจริงที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่ควรจะเป็นในทุกวันนี้ ก็เพราะมีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นต่างหาก


คปพ.เตือน “ประยุทธ์” อย่าใส่ความค่าไฟแพง ชี้มุบมิบให้สัมปทานพลังงานต้องรับผิดชอบ!
คปพ.เตือน “ประยุทธ์” อย่าใส่ความค่าไฟแพง ชี้มุบมิบให้สัมปทานพลังงานต้องรับผิดชอบ!
คปพ.ออกแถลงการณ์ถูกพาดพิงสัมปทานปิโตรเลียม ระบุเสียใจนายกฯ พูดจายุให้ประชาชนเกลียดชังเสียเอง เชื่อรับข้อมูลผิดพลาด-หน่วยงานรัฐบิดเบือน ย้ำต้องการแข่งขัน ราคาโปร่งใส ใช้ระบบจ้างผลิต ระบุ หลังสิ้นสุดสัมปทานอุปกรณ์เครื่องมือเป็นของรัฐอยู่แล้ว ข้ออ้างปิโตรเลียมมีน้อยไม่จริง เพราะใหญ่ที่สุดในไทย “ปตท.-เชฟรอน” ฟาดกำไรเป็นกอบเป็นกำกว่า 40 ปี ซัดระบบสัมปทาน ก๊าซอ่าวไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก 3-5 เท่า ย้ำค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลให้สัมปทานไม่โปร่งใส ต้องรับผิดชอบผู้เดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น