คปพ.ออกแถลงการณ์ถูกพาดพิงสัมปทานปิโตรเลียม ระบุเสียใจนายกฯ พูดจายุให้ประชาชนเกลียดชังเสียเอง เชื่อรับข้อมูลผิดพลาด-หน่วยงานรัฐบิดเบือน ย้ำต้องการแข่งขัน ราคาโปร่งใส ใช้ระบบจ้างผลิต ระบุ หลังสิ้นสุดสัมปทานอุปกรณ์เครื่องมือเป็นของรัฐอยู่แล้ว ข้ออ้างปิโตรเลียมมีน้อยไม่จริง เพราะใหญ่ที่สุดในไทย “ปตท.-เชฟรอน” ฟาดกำไรเป็นกอบเป็นกำกว่า 40 ปี ซัดระบบสัมปทาน ก๊าซอ่าวไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก 3-5 เท่า ย้ำค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลให้สัมปทานไม่โปร่งใส ต้องรับผิดชอบผู้เดียว
วันนี้ (5 มิ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2559 เรื่องชี้แจงกรณีนายกรัฐมนตรีพาดพิง คปพ. ให้รับผิดชอบหากการผลิตปิโตรเลียม บงกช และเอราวัณ ล่าช้า และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ระบุว่า ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) รับผิดชอบถ้าราคาไฟฟ้าแพงขึ้น อันเนื่องมาจากการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช ล่าช้า จนเกิดปัญหาก๊าซขาดแคลน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้น
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่า คำพูดดังกล่าวนั้น อาจมีสาเหตุเกิดจากนายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด โดยผู้ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรี ไม่ศึกษาข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเสื่อมศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรี ว่ามีอคติกับภาคประชาชนผู้ห่วงใยชาติบ้านเมือง อีกทั้งผู้ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรี ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และหลงผิดในข้อมูลสำคัญอันอาจทำให้เสียประโยชน์ของชาติในอนาคตได้
การพูดพาดพิงของนายกรัฐมนตรี ทำให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงความจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งผลิตปิโตรเลียม ว่า “ภาคประชาชนไม่ยอมให้ทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่ออายุให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม หรือการไม่เอาประมูล หรือการประมูลที่อาจจะเอื้อประโยชน์นั้น” ราวกับว่าประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และเป็นอุปสรรคต่อการผลิตปิโตรเลียมของประเทศ
แต่ความเป็นจริงแล้ว เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาล ดำเนินการเร่งผลิตปิโตรเลียมด้วยการเปิดประมูลแข่งขันราคาอย่างโปร่งใส ทั้งในรูปแบบการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือการประมูลค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำที่สุดในระบบจ้างผลิตด้วยการแข่งขันราคาอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังนั้น การกล่าวหาในทำนองว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เป็นอุปสรรคต่อการผลิตปิโตรเลียมนั้น จึงเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ไร้เหตุผลและเป็นเท็จทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และ บงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงนั้น เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงไม่เห็นด้วยที่จะใช้การประมูลยื่นข้อเสนอแล้วใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนอย่างที่เคยดำเนินการมาในระบบสัมปทานเดิม ซึ่งมีช่องว่าง และความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใส แต่เรียกร้องขอให้เปลี่ยนมาเป็นการให้รัฐถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมดเมื่อหมดอายุสัมปทาน และใช้การประมูลในระบบการจ้างผลิตแทน
ประการที่สอง กรณีที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนอย่างแรง ว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เสนอให้รัฐบาลผลิตปิโตรเลียมด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไม่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ และบุคลากรนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อหมดอายุสัมปทานตามกฎหมาย อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงแท่นขุดเจาะและเครื่องจักร ตลอดจนปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ จะต้องตกเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินเหล่านี้อีก
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเสนอให้นำแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และ บงกช มาเปิดประมูลในระบบจ้างผลิตโดยให้เอกชนแข่งขันด้วยค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมที่ต่ำที่สุด และสามารถจ่ายค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียมก็ได้ ข้ออ้างเรื่องบุคลากรไม่พร้อม เครื่องมือไม่พร้อม และเงินไม่พร้อม จึงไม่ถูกต้องแต่ประการใด
ประการที่สาม กรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่า “การที่รัฐบาลไม่ได้เตรียมเครื่องมือ และบุคลากรล่วงหน้าเพื่อผลิตปิโตรเลียมนั้นถูกต้องแล้ว เพราะประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อย กระเปาะเล็ก อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน” นั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้กับแหล่งเอราวัณ และ บงกช ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานลง ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 อีกทั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งเชฟรอน และ ปตท.สผ. ต่างก็มีผลประกอบการกำไรอย่างมหาศาลจากการได้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่งนี้ ดังนั้น กรณีที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และ บงกช ว่า มีปิโตรเลียมน้อย และกระเปาะเล็กไปปะปนกับแหล่งปิโตรเลียมอื่น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลนายกรัฐมนตรี นำไปพูดออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น ขาดความรู้ ขาดความรอบคอบ ไม่แม่นยำในข้อมูล และขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริง ทำให้นายกรัฐมนตรีเสียหายในการพูดต่อสาธารณชน ในด้านนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติ
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ.... ต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ถึงหลักการ และวิธีการในการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกล่าวโดยสรุปดังนี้
1. เมื่อไม่ปรากฏเบาะแสของทรัพยากรปิโตรเลียมใด ๆ เลย รัฐสามารถให้สัมปทานปิโตรเลียมได้
เมื่อผลสำรวจพบปริมาณปิโตรเลียมแล้ว ให้เปิดประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างเสรี
เมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงเป็นที่ประจักษ์ เช่น แหล่งสัมปทานเดิมที่มีศักยภาพและหมดอายุลง ให้เปิดประมูลแข่งขันค่ารับจ้างต่ำสุดในการผลิตปิโตรเลียมสำหรับระบบจ้างผลิต
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นั้น มีระบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกระบบ โดยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลมีร่างแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียมเพียงไม่กี่มาตรา และยังคงใช้ดุลพินิจในการเลือกระบบประมูล และให้คะแนนผู้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียมเอาเองตามอำเภอใจ โดยไม่มีเกณฑ์การตัดสินใจที่ชัดเจน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดในระบบสัมปทานแบบเดิม ไม่เว้นแม้แต่แหล่งเอราวัณ และ บงกช อันมีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมสูงสุดในประเทศไทย ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะใช้ระบบสัมปทานที่รัฐเสียเปรียบอีกต่อไป
ประการที่สี่ กรณีที่นายกรัฐมนตรี อ้างว่า หากแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และ บงกช ดำเนินการล่าช้าออกไป จะส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่แพงกว่า ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และต้องให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เป็นผู้ต้องรับผิดชอบนั้น ในความเป็นจริงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น มีราคาต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ได้จากระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้น ข้อห่วงใยที่ว่า ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น จึงไม่เป็นความจริง
จากหลักฐานข้อมูลพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (US Energy Information Administration) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานพบว่า ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ราคาก๊าซธรรมชาติโลก โดยการประกาศของ Henry Hub ราคาอยู่ที่ 1.730 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในสัมปทานที่ ปตท.สผ. บริหารอยู่ ได้แก่ แหล่งบงกช มีราคาสูงถึง 5.208 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชใต้อยู่ที่ 8.261 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ส่วนแหล่งเอราวัณที่เชฟรอนรับสัมปทานอยู่นั้นราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5.477 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ระบบสัมปทานทำให้ก๊าซจากอ่าวไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก 3 - 5 เท่าตัว ดังนั้น การเร่งประเคนสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศแล้วอ้างว่าราคาพลังงานในประเทศจะต้องใช้ราคาตลาดโลกนั้น แท้ที่จริงแล้วประเทศไทยใช้ราคาพลังงานสูงกว่าตลาดโลกมานานแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ทำให้นายกรัฐมนตรีย่อมไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างถูกต้องได้
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อยืนยันจากคำสัมภาษณ์ของ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ระบุชัดเจนว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางลดผลกระทบจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่อาจจะลดลงหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ปัจจุบันราคาตลาดจรอยู่ที่ 5 - 6 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ 6 - 7 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ในเรื่องแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อความมั่นคง (LNG) โดยการให้ขยายคลังก๊าซ และระบบท่อส่งเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า แทนโครงการใช้ถ่านหินซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลื่อนออกไป จึงย่อมแสดงว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไม่เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจ
ส่วนความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่า หากจะบังคับให้ผู้รับจ้างผลิตขายก๊าซในราคาต่ำกว่าตลาดโลก และจะไม่มีเอกชนรายใดมาลงทุนนั้น แสดงให้เห็นว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในระบบจ้างผลิต เพราะในระบบจ้างผลิตรัฐเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และผู้รับจ้างผลิตเป็นเพียงแค่ผู้รับจ้างทำหน้าที่ผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น ส่วนการกำหนดราคาขายปิโตรเลียมนั้น รัฐจะเป็นผู้ขายในราคาเท่าใดก็ได้ เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศ
เช่นเดียวกันกับระบบแบ่งปันผลผลิต ที่รัฐจะเป็นผู้ขายปิโตรเลียมในสัดส่วนของตัวเอง ส่วนของผู้รับจ้างที่รับค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียม หรือ เอกชนที่ได้รับผลผลิตเป็นสัดส่วนปิโตรเลียมที่ผลิตได้ จะไปขายในราคาเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องของเอกชนรายนั้น ๆ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอกราบเรียนมาถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดศึกษาและทบทวนข้อมูลระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยทำหนังสือกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในหลายต่อหลายครั้งดังที่ผ่านมาแล้ว
ประการที่ห้า กรณีที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่า คนไทยไม่มีความพร้อม และไม่มีความรู้ในการผลิตปิโตรเลียมนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยก็มีบริษัทอย่างเช่น ปตท.สผ. ที่เคยโฆษณาองค์กรประกาศว่า ปตท.สผ. เป็นบริษัทของคนไทยที่มีความสามารถในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ไม่ใช่กิจการของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงขาดความชอบธรรมที่จะได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ต้องประมูล แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีบริษัท นิติบุคคลไทยที่รัฐคอยกำกับดูแลอยู่นั้น มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลได้ นอกจากนี้ ปตท.สผ. และบริษัทต่างชาติที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ในปัจจุบันนั้น ต่างก็ใช้ผู้รับเหมาช่วง และบุคลากรที่เป็นคนไทย เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมโดยส่วนใหญ่ ดังนั้น หากผู้รับสัมปทานรายเดิม มีอันต้องยุติบทบาทลง เพราะหมดอายุสัมปทาน รัฐก็ยังสามารถจ้างผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้ โดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จากคนไทยและนิติบุคคลไทย ข้อห่วงใยที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่าคนไทยไม่พร้อมนั้นไม่เป็นความจริงเพราะเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้อยู่
ดังนั้น การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียมที่รัฐพึงได้ จึงไม่ใช่ปัญหาที่ยุ่งยากอย่างที่นายกรัฐมนตรีมีความกังวล เพราะด้านหนึ่งสามารถรับผู้ที่มีประสบการณ์มีความรู้มาอยู่ในบรรษัทได้ และอีกด้านหนึ่งสามารถจ้างผลิตโดยบุคคลไทย หรือนิติบุคคลไทย ได้เฉกเช่นเดียวกันกับบริษัทผลิตปิโตรเลียมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ประการที่หก กรณีที่นายกรัฐมนตรี กล่าวอ้างว่า ที่ประเทศเพื่อนบ้านมีราคาพลังงานถูกกว่าประเทศไทยนั้น เพราะมีเงินอุดหนุน หรือ Subsidized ในการตรึงราคาพลังงานให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้องใช้เงินอุดหนุนเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถจะมีงบประมาณของรัฐมาตรึงราคาได้อีกต่อไปในท้ายที่สุดนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีน่าจะกำลังยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ในกลไกที่ทำให้ราคาพลังงานของมาเลเซียมีราคาต่ำกว่าของประเทศไทย เพราะกรณีของประเทศมาเลเซียนั้น ไม่ได้ใช้เงินกองทุนอุดหนุน หรือ ภาษีมาอุดหนุนตรึงราคาพลังงาน Subsidized อย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ ดังเหตุผลต่อไปนี้
ประเทศมาเลเซีย มีรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ชื่อบริษัท ปิโตรนาส ทำหน้าที่เป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่ถือครองกรรมสิทธิ์และบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ได้จากการผลิตทั้งประเทศ โดยรัฐมีหน้าที่ขายก๊าซธรรมชาติในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนชาวมาเลเซียโดยไม่ให้ปิโตรนาสขาดทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้อย่างเป็นธรรม ดังนั้น รูปแบบราคาก๊าซธรรมชาติของมาเลเซีย ไม่ใช่การใช้เงินอุดหนุน หรือ Subsidized แต่เป็นการกำหนดให้ปิโตรนาสขายก๊าซธรรมชาติในราคาที่ไม่ให้เอากำไรเกินสมควรและเอาเปรียบประชาชน
ในส่วนของราคาน้ำมันประเทศมาเลเซีย รัฐบาลได้คืนเงินปันผลจากกำไรของบริษัทปิโตรนาสคืนสู่ประชาชนโดยนำมาเป็นส่วนลดราคาขายปลีกน้ำมัน ตามแต่ละช่วงเวลาของสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในขณะนั้น ไม่ใช่การนำภาษีของรัฐบาล หรือการจัดตั้งกองทุนที่เรียกเก็บจากประชาชนเพื่ออุดหนุนตรึงราคาปิโตรเลียมแบบประเทศไทยดังที่นายกรัฐมนตรีไทยเข้าใจผิด ดังนั้น การตรึงราคาน้ำมันในประเทศมาเลเซีย จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญต่อประชาชนของประเทศมาเลเซีย ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมและเป็นเจ้าของบรรษัทพลังงานแห่งชาติร่วมกัน และทรัพยากรธรรมชาติของมาเลเซีย มีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวมาเลเซียทั้งประเทศ
ถึงแม้บริษัท ปิโตรนาส จะขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้ประชาชนชาวมาเลเซีย ต่ำกว่าที่ประเทศไทยได้ใช้ แต่วิธีการเช่นนี้ กลับพบว่า บริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ซึ่งมีรายได้ใกล้เคียงกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของไทย แต่ปิโตรนาส กลับมีกำไรมากกว่า ปตท. อย่างมหาศาล ปรากฏตัวอย่างในงบการเงินของ ปตท. ปี พ.ศ. 2555 ดังนี้
ปตท. มีรายได้ 2.85 ล้านล้านบาท มีกำไร 1.7 แสนล้านบาท ในขณะที่ ปิโตรนาส มีรายได้ 2.95 ล้านล้านบาท มีกำไร 8.91 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรที่มากกว่า ปตท. กว่า 5 เท่าตัว แสดงให้เห็นว่า การใช้นโยบายราคาพลังงานที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ไม่ได้เป็นปัญหาต่อภาระทางการคลังตามที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจแต่ประการใด แต่การที่ปิโตรนาสดำเนินการได้ดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นเพราะ บริษัท ปิโตรนาส ได้ควบคุมการผลิตต้นน้ำ ให้เป็นทรัพย์สินของบรรษัทพลังงานแห่งชาติทั้งหมดมิให้ตกอยู่ในมือเอกชน หรือชาวต่างชาติ จึงสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล และนำกำไรที่ได้นั้นมาช่วยเหลือประชาชนชาวมาเลเซียทั้งประเทศ และถ้าหากประเทศไทยจะดำเนินการในแนวทางเช่นนี้ได้ต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติทั้งในรูปแบบและการบริหารในลักษณะเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ถ้าหากนายกรัฐมนตรี เข้าใจว่า มาเลเซียไม่มีการอุดหนุนตรึงราคาอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีเงินสนับสนุนพอจนต้องปล่อยราคาพลังงานลอยตัวนั้น ก็จะเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะปิโตรนาสจะปันผลกำไรเพื่อมาตรึงราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นเท่านั้น ส่วนเมื่อราคาน้ำมันตกลง ปิโตรนาสย่อมมีกำไรลดลง และประชาชนก็ไม่ได้เดือดร้อนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำผลกำไรมาตรึงราคาอีกในปัจจุบัน จึงนับว่าปิโตรนาสได้บริหารจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวมาเลเซียอย่างแท้จริง
ประการที่เจ็ด การที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้าต้องเพิ่มขึ้นเพราะความล่าช้า ในการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช จนเป็นเหตุต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ประชาชนไปเล่นงาน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เอาเองนั้น
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอเรียนชี้แจงด้วยความเคารพว่า ตราบใดที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้อำนาจกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ครบตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มารับผิดชอบไม่ได้ และจะใช้วิธีให้ข้อมูลประชาชนจนเกิดความกังวลใจและสับสนว่า ความล่าช้าจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แล้วโยนความผิดมาให้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ก็ไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงก็ดี หรือทำให้ก๊าซธรรมชาติขาดแคลนก็ดี หรือทำให้การประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชไม่เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมได้จริงก็ดี ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียว
ท้ายที่สุดนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ใคร่ขอเรียนให้รัฐบาลทราบว่า แม้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ได้กล่าวหาว่า
“เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พูดถึงเรื่องพลังงานแบบส่งเดช เป็นพวกต้องการแต่ต่อต้าน วันหน้าประกาศไว้เลย ถ้าทำอะไรที่แหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ไม่ได้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ต้องมารับผิดชอบด้วย ประชาชนก็ไปเล่นงานเอาก็แล้วกัน เพราะ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เป็นคนทำให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น” นั้น
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในฐานะประชาชนชาวไทย ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยดีเสมอมา อีกทั้งยังเป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการพลังงานเหมือนอย่างบุคคลบางกลุ่มบางพวก รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอ้างว่าจะเข้ามาสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ แต่กลับมีคำกล่าวที่ทำให้ประชาชนมาเกลียดชังกลุ่มประชาชนด้วยกันเอง และเกลียดชังกลุ่มประชาชนที่ห่วงใยชาติบ้านเมืองและปรารถนาดีต่อนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
สองปีที่ผ่านมา ปฏิรูปพลังงานมีความล่าช้า อืดเป็นเรือเกลือ ทำแบบลูบหน้าปะจมูก ไปไม่ถึงไหน เป็นปัญหาอยู่ที่ภาครัฐ หรือภาคประชาชนกันแน่ รัฐอยากปฏิรูปพลังงาน แต่หน่วยงานของรัฐกลับกีดกันภาคประชาชน ไม่ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปพลังงาน อีกทั้งยังให้ข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริงแก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ในขณะที่สองปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้รวมตัวกัน ทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาพลังงานอย่างเข้มข้นและจริงจัง โดยระดมผู้รู้จากประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ มาร่วมร่างกฎหมายปิโตรเลียมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อเสนอทางออกเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องแนวทางและกระบวนวิธีการปฏิรูปพลังงานที่แท้จริงให้กับรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขั้นตอนในการปฏิบัติ โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการพลังงานของชาติทั้งระบบ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอยืนยันที่จะปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ชาติและประชาชน ด้วยเจตจำนงอันมุ่งมั่นต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ตามพระราชปณิธาน ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงสละพระราชสมบัติและพระราชอำนาจเพื่อราษฎรทั่วไปทรงแถลงข้อความไว้ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
วันอาทิตย์ที่ 5 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559
ณ ห้องแก้วกมล โรงแรมเดอะสุโกศล