“ปานเทพ” สวนนายกฯ อย่าโยนความรับผิดชอบให้ คปพ. หากราคาพลังงานแพงเพราะการผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ และ บงกช ล่าช้า ชี้ รัฐบาลไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้อง คปพ. อาทิ เปิดประมูลจ้างผลิตต่ำสุด ปรับโครงสร้างราคาให้ลดลงตามราคาตลาดโลก ย้ำไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ คปพ. ก็ได้ แต่ต้องโปร่งใสและยึดหลักแข่งขันเสรี ไม่รีบประเคนแหล่งพลังงานให้ใคร
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ให้ คปพ. รับผิดชอบถ้าราคาพลังงานแพงขึ้น ถ้าเกิดการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช ล่าช้า จนเกิดปัญหาก๊าซแอลพีจีขาดแคลน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า คำพูดดังกล่าวนั้น เต็มไปด้วยอคติ ขาดความรู้ และความเข้าใจ หลงผิดในข้อมูลสำคัญ ฟังและจำแต่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานด้านเดียวมาพูด ไม่เคยเปิดใจศึกษาข้อเสนอของ คปพ. ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
ขอย้ำว่า คปพ. ไม่ได้มีอำนาจในรัฐบาลในเรื่องการบริหารปิโตรเลียม ในขณะเดียวกันข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมของ คปพ. มากมาย ก็กลับไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ จากรัฐบาล แล้วจะให้ คปพ. รับผิดชอบได้อย่างไร?
เช่น ข้อเสนอการบูรณาการด้านพลังงานทั้งระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้รัฐบาลควบคู่ไปกับการสร้างการแข่งขันเสรีการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมให้ทันเวลา โดยไม่สะดุดและทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่ขาดแคลน,
การไม่สร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นให้เป็นภาระค่าไฟฟ้ากับคนไทยทั้งประเทศ,
ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ลดลงทั้งระบบ,
การแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ให้โปร่งใส โดยให้ภาคประชาชนส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ฯลฯ
ข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นำไปสู่การมีพลังงานที่เพียงพอ ประเทศชาติได้ผลตอบแทนสูงสุดจากการแข่งขันเสรี ประชาชนได้ใช้ราคาน้ำมันที่เป็นธรรมตามราคาตลาดโลก และได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ แล้วจะเกิดผลเสียต่อประเทศชาติตรงไหน?
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมักกล่าวหาภาคประชาชน ว่า เอาแต่คัดค้านโดยไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่พอ คปพ. มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมบนข้อมูลและหลักวิชาการ รัฐบาลกลับไม่เคยตอบข้อเสนอเหล่านี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ว่า ทำไมจึงทำไม่ได้ มัวแต่จะอ้างว่าต้องเร่งรีบ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงหากดำเนินการตามข้อเสนอของ คปพ. ตั้งแต่ปีที่แล้ว ป่านนี้ก็คงมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และเปิดประมูลการจ้างผลิตและการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมไปตั้งนานแล้ว
ดังนั้น การพูดว่าให้ คปพ. ต้องรับผิดชอบเรื่องพลังงาน เพียงเพราะ คปพ. แถลงข่าวจับได้ว่าจะมีกระบวนการที่จะเจรจาประเคนแหล่งปิโตรเลียม 2 แห่ง คือ เอราวัณ และ บงกช โดยไม่เกิดการประมูลแข่งขัน ถูกต้องแล้วหรือ?
หรือ การที่ คปพ. แถลงข่าวเพราะจับได้ว่า มติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 นั้นมีความคลุมเครือในเรื่องวิธีการประมูลและจะนำไปสู่การไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติได้จริง แล้วมาโทษว่าถ้าพลังงานแพงต้องให้ คปพ.รับผิดชอบนั้นเป็นธรรมแล้วหรือ?
ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่ลองถามมุมกลับว่า กลัวอะไรกับข้อเสนอทำให้เกิดการแข่งขันเสรีด้วยวิธีการประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะกลับมาเป็นของรัฐ?
หรือถามกลับว่าหากไม่เกิดการแข่งขันตัวเงินที่รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างโปร่งใสแล้วรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จะรับผิดชอบไหม และรับผิดชอบอย่างไร?
ดังนั้น การที่จะล่าช้าออกไป เพียงเพราะอ้างว่า คปพ. คัดค้าน แต่กลับไม่สนองตอบข้อเสนอและทางออกที่เป็นรูปธรรมของ คปพ. ความรับผิดชอบจึงย่อมต้องเป็นรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ คปพ.
ในประการต่อมาที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างว่า แหล่งเอราวัณ และ บงกช ที่กำลังจะหมดอายุ นั้นมีกระเปาะเล็ก มีปิโตรเลียมน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุนนั้นเป็นเหตุผลที่ไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะทั้ง 2 แหล่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีปริมาณปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจทั้งเชฟรอน และ ปตท.สผ. ก็มีกำไรมหาศาลจากปิโตรเลียมที่ได้ 2 แหล่งนี้ จึงไม่ควรจะอ้างว่ากระเปาะเล็ก มีน้อย ไม่คุ้มการลงทุนไปปะปนเหมือนแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ เพราะเมื่อหมดอายุสัมปทานแล้ว ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนในเอราวัณ และ บงกช ย่อมตกเป็นของรัฐอยู่แล้ว
เพราะเอราวัณ และ บงกช นอกจากจะมีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพแล้ว ลูกค้าก็มีชัดเจน แถมเครื่องมือและเครื่องจักรก็ตกเป็นของรัฐอีก เหตุใดยังจะใช้วิธีการใช้ดุลพินิจให้คะแนนการให้เอกชนยื่น “ข้อเสนอ” แทนการแข่งขัน “ราคาค่าจ้างผลิต” ต่ำสุด ที่จะเป็นหลักประกันว่าจะสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดจากการแข่งขันในตลาดเสรี และโปร่งใส?
ในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีพูดในรายการเหมือนเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อนอย่างแรง ว่า คปพ. เสนอให้รัฐบาลผลิตปิโตรเลียมด้วยตัวเอง รัฐบาลซึ่งไม่มีความพร้อมด้านคนและเครื่องมือ
แต่ความจริง คปพ. เสนอให้นำแหล่งเอราวัณ และ บงกช กลับมาเป็นของรัฐ 100% แล้วเปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันมาผลิตปิโตรเลียมด้วยค่าจ้างผลิตต่ำที่สุด และจ่ายค่าจ้างเป็นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่รัฐจะได้รับกลับคืนมาเมื่อหมดอายุสัมปทานลง
อย่าบอกว่าคนไทยทำไม่ได้ ไม่มีความพร้อม เพราะ ปตท.สผ. ก็เป็นริษัทไทยที่ทั้งสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม และบริษัทต่างชาติที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมส่วนใหญ่ก็จ้างคนไทยแทบทั้งสิ้น และผู้ที่จะรับจ้างผลิตก็มีอยู่หลายบริษัททั่วโลก จึงไม่เกี่ยวกับคน หรือเครื่องมือไม่พร้อม ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างแต่ประการใด ถ้าใช้วิธีการประมูลจ้างผลิต
ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีกล่าวหา คปพ. ว่า ต้องการให้ประชาชนใช้ราคาพลังงานต่ำกว่าตลาดโลกนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ คปพ. ได้เคยเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ให้เป็นธรรมตามราคาตลาดโลกที่ลดลงไปอย่างมาก เพราะราคาที่คนไทยใช้อยู่นั้นสูงกว่าตลาดโลกต่างหาก
ปรากฏหลักฐาน คือ หนังสือ คปพ. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 กราบเรียนฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ขอเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดราคาน้ำมัน ลดราคาแอลพีจี ลดราคาเอ็นจีวีสำหรับภาคขนส่ง ลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ ลดราคาไฟฟ้า เนื่องในโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาต่ำลงมากที่สุดในรอบ 13 ปี (พร้อมเอกสารแนบ) ตามหลักฐานปรากฏตามลิงก์ด้านล่าง
http://www.gasthai.com/1111/ter-037-0259.pdf
http://www.gasthai.com/1111/ter-037-a1.pdf
ดังนั้น ถ้าจะโทษราคาพลังงานแพง กับ คปพ. ในวันข้างหน้า ก็ต้องถามว่า ถ้าห่วงใยประชาชนขนาดนั้น เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ลดราคาลงเสียตั้งแต่วันนี้ตามข้อเสนอของ คปพ.!!?
ทั้งนี้ เพราะการที่ราคาพลังงานจะเป็นธรรม และเหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจกับคนในประเทศขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ และนโยบายรัฐบาล
ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย แท้ที่จริงไม่ได้ใช้เงินรัฐอุดหนุน (Subsidize) อย่างที่นายกรัฐมนตรีไทยเข้าใจ แต่ มีบริษัท ปิโตรนาส ที่รัฐถือหุ้น 100% และ “ลดกำไร” ไม่ให้มากเกินควร เพียงเท่านี้ราคาน้ำมันที่มาเลเซียก็ถูกกว่าประเทศไทยแล้ว
และการที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่า วิธีการเช่นนี้จะทำให้รัฐแบกรับไม่ได้นั้นก็ลองพิจารณาจากตัวเลขงบการเงิน ปี 2555 ระหว่าง ปิโตรนาส และ ปตท. ซึ่งมีรายได้ใกล้เคียงกัน ดังนี้
2555 รายได้ ปตท. มีจำนวน 2.85 ล้านล้านบาท มีกำไร 1.7 แสนล้านบาท
2555 รายได้ ปิโตรนาส ที่ขายน้ำมันในมาเลเซียถูกกว่าประเทศไทย มีรายได้ 2.95 ล้านล้านบาท ใกล้เคียง ปตท. แต่ มีกำไร 8.91 แสนล้านบาท
ปิโตรนาส มีกำไรสูงกว่า ปตท. ประมาณ 5 เท่าตัว ทั้ง ๆ ที่รายได้ใกล้เคียงกัน และขายน้ำมันถูกกว่าประเทศไทย
เหตุผลที่เป็นอย่างนี้ เพราะปิโตรนาสคุมต้นน้ำ คือ แหล่งปิโตรเลียมที่มีกำไรมหาศาลเอาไว้ได้ ไม่ให้ตกอยู่ในมือเอกชนหรือต่างชาติ ต่างจากประเทศไทยที่คิดแต่จะประเคนกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้เอกชนทั่วโลก หรือไม่ให้เกิดการแข่งขันราคา จริงหรือไม่?
ข้อเสนอของ คปพ. มีเป้าหมายนำแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงสุดให้กลับมาเป็นของรัฐ แล้วจัดการแข่งขันประมูลให้เอกชนยื่นค่าจ้างผลิตต่ำสุดเพื่อ “ความโปร่งใส การแข่งขันเสรี” และให้ประชาชนใช้ปิโตรเลียมในราคาเป็นธรรมไม่ให้สูงกว่าตลาดโลก โดยเสนอทุกทางเลือกทั้งเสนอกฎหมาย ทั้งมาตรการ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ควบคู่ไปกับป้องกันและบรรเทาไม่ให้เกิดความสะดุดในการผลิตปิโตรเลียม จึงเป็นข้อเสนอที่มุ่งประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน
และถ้าอยากจะให้ คปพ. รับผิดชอบ ก็ต้องมอบอำนาจให้ คปพ. ตัดสินใจจึงจะถูกต้อง และถ้าไม่มอบอำนาจ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ คปพ.อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว จึงค่อยมากล่าวโทษ คปพ. ให้รับผิดชอบ จริงหรือไม่?
ความจริงรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ คปพ. ก็ได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้วิธีอื่นที่ทำให้บรรลุเป้าหมายเหมือนกัน คือ “ความโปร่งใส การแข่งขันเสรี” ก็คงไม่มีใครขัดข้อง
แต่ถ้ารัฐบาลมีธงมุ่งแต่ “หลีกเลี่ยงการประมูลที่มีความโปร่งใส” และ “การหลีกเลี่ยงการแข่งขันตัวเงินที่เป็นรูปธรรม” มัวแต่จะเร่งรีบประเคนแหล่งปิโตรเลียมที่ควรตกเป็นของรัฐแล้วไปให้เอกชนเร็วที่สุด คุยกันแค่ไหนก็ไม่มีทางรู้เรื่อง
ต่อให้รู้เรื่องก็จะแกล้งโง่ไม่รู้เรื่อง จริงหรือไม่?
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
4 มิถุนายน 2559