xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์ คปพ.จี้รัฐหยุดต่อสัมปทานปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช” แบบไม่ต้องประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ คัดค้านมอบสิทธิการผลิตปิโตรเลียมแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” โดยไม่ประมูลแข่งขัน ชี้อาจส่อทุจริต รัฐอาจได้ผลตอบแทนสูงไม่จริง เอื้อประโยชน์เอกชน นัดยื่นหนังสือ 31 พ.ค.นี้







วันนี้ (29 พ.ค.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2559 เรื่อง ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมยื่นหนังสือแสดงจุดยืน คัดค้านการเจรจาเพื่อมอบสิทธิ์การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุลง ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยไม่มีการประมูลแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในระบบจ้างผลิตหรือระบบแบ่งปันผลผลิต ระบุว่า

ตามที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อสาธารณะว่า ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้เห็นชอบแนวทางการบริหารแหล่งปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงในปี 2565 และ 2566 ได้แก่ แหล่งเอราวัณ ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (บริษัทเชฟรอน) และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (มหาชน) จำกัด (ปตท.สผ.) ด้วยการเปิดเจรจากับรายเดิมก่อน จากนั้นหากไม่ได้ข้อยุติ จึงค่อยเปิดประมูลให้รายอื่นเข้ามาแข่งขัน และยังได้กล่าวว่ารัฐจะไม่ทำเองเพราะไม่มีเงินลงทุนนั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวดังนี้

“1. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยยืนยันมาตลอดว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้มีความโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนการให้สิทธิสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ตลอดจนดำเนินการให้มีการประมูลแข่งขัน ในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิต ในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ ซึ่งรวมถึงแหล่งเอราวัณและบงกชด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวให้เกิดได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด

2. เนื่องจากแหล่งเอราวัณ และบงกช เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย ตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งสองแหล่งดังกล่าว มีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมาก แตกต่างจากแหล่งสัมปทานอื่นที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลาย เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนในส่วนดังกล่าวอีก อีกทั้งยังสามารถนำมาตีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) เพื่อกำหนดเป็นสัดส่วนร่วมลงทุนกับเอกชนในอนาคตได้

แหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่งจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติแน่นอน มีลูกค้าที่ชัดเจน ดังนั้นจะใช้ระบบการให้สัมปทานเหมือนแหล่งอื่นๆที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ได้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเสนอให้ใช้วิธีการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในระบบจ้างผลิต โดยให้เป็นการแข่งขันเสรี และโปร่งใสได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการประมูลในระบบคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4G ที่ผ่านมา

3. การใช้วิธีการเรียกผู้รับสัมปทานรายเดิมมาเจรจาเพื่อมอบสิทธิการผลิตปิโตรเลียมโดยไม่มีการแข่งขันนั้น นอกจากจะไม่ได้เป็นหลักประกัน ว่ารัฐจะได้ผลตอบแทนสูงสุดจริงหรือไม่แล้ว ยังอาจเกิดช่องว่างทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ทำให้รัฐได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการใช้ระบบประมูลแข่งขันอย่างเสรี ดังที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559 ความตอนหนึ่งว่า “ถ้าไม่เปิดประมูลก็ถูกมองว่าฮั้วอีก” ดังนั้น หากใช้วิธีการเจรจาโดยไม่ใช้วิธีการประมูล ซึ่งแตกต่างจากคำสัมภาษณ์ที่รัฐมนตรีพลังงานเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ ประชาชนย่อมเคลือบแคลงสงสัยว่า มีการฮั้วกันหรือไม่

การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กล่าวว่ารัฐไม่มีเงินในการลงทุนสำรวจและผลิตในแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากแหล่งเอราวัณและบงกชกลับมาเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อใด ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนไปจะกลับมาเป็นของรัฐทันที ซึ่งรัฐสามารถนำเอาทรัพย์สินเหล่านี้นำไปร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ได้รับสิทธิ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มเติมจากการขายปิโตรเลียมที่ได้มาซึ่งมากกว่าค่าภาคหลวงตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาอย่างมหาศาล ข้ออ้างที่จะต้องใช้วิธีการเจรจาแทนการประมูลแข่งขันอย่างเสรี เพราะรัฐจะไม่ทำเองเพราะไม่มีเงินลงทุนนั้น จึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยและไร้เหตุผล

4. เพื่อให้การประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต ดำเนินไปโดยมีผู้ดูแล และบริหารผลประโยชน์ตลอดจนทรัพย์สินของรัฐ ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีองค์กรที่อยู่ในรูปของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ หากไม่มี แล้วให้เอกชนเป็นผู้บริหารหรือขายปิโตรเลียมตามอำเภอใจ ก็จะกลายเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบจ้างผลิตจอมปลอม

แต่เมื่อพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ยังไม่มีองค์กรดังกล่าวข้างต้น จึงย่อมเท่ากับว่ารัฐไม่จริงใจในการดำเนินนโยบายระบบแบ่งปันผลิต หรือระบบจ้างผลิตอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงควรดำเนินนโยบายแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่มีโครงสร้าง ทำให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ที่จะมอบสิทธิ์การผลิตปิโตรเลียม ให้กับเอกชนรายใด ไม่ว่าด้วยระบบใดก็ตาม

5. การที่มีความพยายามกล่าวอ้าวว่า สามารถใช้วิธีการเจรจาแทนการประมูลได้ เพราะผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมต่อเนื่องนั้น อาจเป็น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (มหาชน) จำกัด (ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงถือว่าไม่มีความจำเป็นต้องประมูลเพราะแหล่งปิโตรเลียมที่ได้รับมาจะตกเป็นทรัพย์สินในกิจการของรัฐ ผ่าน ปตท.สผ.นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ปตท.สผ.เป็นบริษัทลูกของ ปตท.อีกชั้นหนึ่ง รัฐจึงถือหุ้นใน ปตท.สผ. ผ่าน ปตท.เหลือเพียงสัดส่วนแค่ประมาณ สามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นการมอบสิทธิ์ให้ ปตท.สผ.โดยไม่มีการประมูลจึงเอื้อให้เอกชนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ถึงเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ โดยรัฐและประชาชน 65 ล้านคน ไม่ได้รับประโยชน์ดังกล่าวไปด้วยแต่ประการใด

6. การที่พระราชบัญญัติปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยังไม่แก้ไขให้แล้วเสร็จ ตามผลการศึกษาของคณะกรรมวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่พึงได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตปิโตรเลียมทั้งในแหล่งบงกช และเอราวัณ นำผลขาดทุนของแหล่งปิโตรเลียมอื่น ที่ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนรายจ่ายอื่นๆ ในต่างประเทศ มาเป็นค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ การมอบสิทธิการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยปราศจากการประมูลแข่งขัน จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือเอกชนรายอื่นเพิ่มเติมไปอีก ตลอดจนไม่มีความชัดเจนในการเพิ่มผลประโยชน์แก่รัฐ ในกรณีที่พบภายหลังว่าแหล่งปิโตรเลียมมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้และราคาปิโตรเลียมที่เพิ่มสูงขึ้นตามที่เห็นได้จากข้อมูลในอดีต

7. ตามที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างถึงความจำเป็นในความต่อเนื่องของการผลิต เนื่องจากพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ระบุถึงวิธีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ในการต่อสัญญาครั้งที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ผลิตปัจจุบันมีอำนาจผูกขาดการผลิตจนถึงวันสุดท้าย โดยไม่ยอมให้ผู้ได้รับสิทธิรายใหม่สามารถเข้าไปเตรียมงานได้ จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถได้รับผลผลิตปิโตรเลียมได้ต่อเนื่องเมื่อหมดสัญญาการผลิต หากตราบใดที่ยังไม่แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมในประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นสาระสำคัญให้เสร็จเสียสิ้นก่อน ก็จะส่งผลทำให้ไม่เพียงแต่แหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะอ้างความต่อเนื่องในการต่อสัญญาในอนาคตเท่านั้น แต่ย่อมหมายถึงแหล่งสัมปทานทั้งหมดที่จะหมดอายุสัญญาในอนาคต ย่อมไม่สามารถทำการประมูลเปลี่ยนเป็นรายอื่นๆ ได้ตลอดไปเช่นเดียวกัน การวางบรรทัดฐานที่ใช้วิธีการเจรจาด้วยข้ออ้างเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดการผูกขาดให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมตลอดไป โดยปราศจากการแข่งขันและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

8. สำหรับข้อกังวลในเรื่องการขาดความต่อเนื่องในการผลิตไฟฟ้าของประเทศในกรณีเกิดการขาดตอนในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ในปี 2565 และ 2566 นั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยมีความเห็นว่า กรณีไม่มีก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่ง และไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเลย รัฐสามารถบริหารจัดการให้เกิดความต่อเนื่องได้ โดยอาศัยมาตรการการนำก๊าซธรรมชาติส่วนที่ส่งให้แก่บริษัทปิโตรเคมีมาใช้ผลิตไฟฟ้าชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังผลิตพึ่งได้ มีเพียงพอทันที แต่กำลังผลิตสำรองจะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ 42.2% (ใช้ข้อมูลการใช้ไฟสูงสุดปี 2559 ในการคำนวณ) เหลือ 16.6% ในปี 2565 เหลือ 3.8% ในปี 2566 และ เหลือ 4.2% ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าระดับสำรองมาตรฐานที่ 15% แต่รัฐก็ยังมีเวลาเพียงพอในการสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนและการประหยัดพลังงาน จำนวน 4,000 เมกกะวัตต์ให้ได้ภายในระยะเวลา 6 ปีที่เหลือนี้ และเมื่อผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (คาดการณ์ไว้ที่ไม่เกิน 3 ปี) และทั้งสองแหล่งเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ ก็จะทำให้กำลังผลิตสำรองสูงกว่า 15% ในปี 2568 ต่อไป ทั้งนี้ กฟผ. ยังสามารถนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อทดแทนจากต่างประเทศได้หากต้องการ

จึงขอเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หยุดยั้งการเจรจาเพื่อมอบสิทธิ์การผลิตปิโตรเลียมให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยปราศจากการประมูลแข่งขันในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิต และดำเนินการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตามผลการศึกษาของ คณะกรรมการศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยเร็วที่สุด ตลอดจนจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมารองรับการถือครองและบริหารทรัพย์สินที่ได้จากกิจการปิโตรเลียมในระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตอย่างเป็นรูปธรรม แล้วจึงค่อยดำเนินการเปิดประมูลอย่างเสรี โปร่งใส และเป็นธรรมในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิต ในแหล่งเอราวัณ และบงกช ให้เหมือนกับการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4G รวมถึงการพิจารณาการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งระบบ อย่างมียุทธศาสตร์ตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่เคยเสนอไปแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์ที่จะได้จากแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่งนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนร่วมแสดงเจตนารมณ์ยื่นหนังสือคัดค้านการกระทำดังกล่าว ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร. ตรงข้ามประตูที่ 4 ทำเนียบรัฐบาล

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)”












กำลังโหลดความคิดเห็น