โดย...ทีมข่าวเฉพาะกิจ
--------------------------------------------------------------------------------
ห้วงเวลานี้มีระงมเสียงแซ่ซ้องว่า แทนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลท็อปบูตจะอาศัยช่วงที่ถืออำนาจในมือไว้อย่างเป็นกอบเป็นกำเข้าแก้วิกฤตการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะจัดการต่อกลุ่มก๊วนอันธพาลการเมือง แล้วใส่ใจในการปฏิรูปอย่างรอบด้าน ตามคำเรียกร้อง และออกมาร่วมกันตะโกนก้องของผู้คนในสังคม
แต่ไหงกลับใช้อำนาจที่มีอยู่ทุ่มเทไปกับการรักษาความเป็น “รัฐราชการ” พร้อมๆ กับใช้ ม.44 เอื้อประโยชน์แก่ “กลุ่มทุน” แถมยังพยายามถ่ายเทอำนาจจากฝ่ายอื่นๆ ไปให้ “กองทัพ” และกระชับอำนาจที่มีอยู่ให้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา
การกระทำดังกล่าวของ “ท่านผู้นำ” นำไปสู่การฉายภาพให้เห็นแบบชัดเจนขึ้นมากของ 2 ปรากฏการณ์ที่ต้องนับว่าเป็น “วงจรอุบาทว์” อันเกิดขึ้นบน “แผ่นดินปลายด้ามขวานทอง” และเชื่อว่าน่าจะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
ก่อนอื่นลองพิจารณาจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 14/2559 ล่าสุด เรื่องการตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)” ที่เพิ่งถูกทำคลอดเมื่อวันที่ 4 เม.ย. แบบรอยตัดสายสะดือยังไม่ทันแห้ง ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ในเรื่องราวที่ว่าได้ดียิ่ง
ที่สำคัญคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับวาดหวังว่าจะทำให้ไฟใต้มอดดับได้นี้คือภาพที่ฉายชัดแจ๋วแหววว่า สุดท้ายสถานการณ์ไฟใต้ก็ยังต้องถูกทำให้ “วนเวียนอยู่ในอ่าง” อีหรอบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า
ภายหลังการยึดอำนาจที่ผ่านๆ มาหลายต่อหลายครั้ง คณะทหารผู้ก่อการมักจะสร้างความคาดหวังให้แก่สังคมว่า จะเข้ามาเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่ถูกหมักหมมไว้นมนานให้คลี่คลายไป ยิ่งในครั้งหลังๆ มานี้ต้องจัดว่าเป็นที่ตื่นตา และต้องใจของผู้คนในสังคมอย่างมาก และความคาดหวังก็ท่วมท้นว่าจะสามารถตัดวงจรอุบาทว์ไม่ให้กลับมาเกิดขึ้นได้อีก
โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กลุ่มก๊วนคนที่ได้มาทำหน้าที่ผู้ปกครองประเทศต่างมาจากระบบการเลือกตั้งแบบพิกลพิการ แม้บรรดานักเลือกตั้งเหล่านี้นำพาบ้านเมืองให้เดินไปได้แบบตามยถากรรมก็ตาม แต่ท่ามกลางการนั่งบัลลังก์ผู้นำชาติกลับมากมายไปด้วยเสียงแซ่ซ้องของการฉ้อราษฎร์บังหลวง
การเข้ามายึดอำนาจเพื่อกุมบังเหียนนำพาบ้านเมืองของ คสช.เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วก็เช่นกัน ต้องนับว่า ดัชนีความคาดหวังของผู้คนทั้งประเทศพุ่งปรี๊ดชนิดแทบจะทะลุเพดานเลยก็ว่าได้
เมื่อพิจารณาความระหว่างบรรทัดแล้วจะพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 14/2559 นี้กำลังจะนำไปสู่การทำคลอด “คณะกรรมการแต่งตั้ง” ขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่งใช้ชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
อันจะไปทาบทับ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการ “เลือกตั้ง” ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการจากการแต่งตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมีจำนวนไม่เกิน 60 คน โดยมีที่มาจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยการพิจารณาร่วมกันของ กอ.รมน.และ ศอ.บต. จํานวนไม่เกิน 45 คน 2.ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากผู้ว่าฯ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา จังหวัดละไม่เกิน 2 คน และ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนไม่เกิน 5 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวยังระบุชัดเจนว่า ให้ “คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ” มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และให้เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทน “สภาที่ปรึกษาฯ” ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.อีกด้วย
ในส่วนของสภาที่ปรึกษาฯ เดิมก็มีวาระ 2 ปีเช่นกัน แต่กำหนดให้มีเพียง 49 คน โดยให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ในชายแดนใต้เลือกกันเอง เช่น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้แทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำศาสนาทั้งอิสลาม พุทธ และศาสนาอื่น, กลุ่มผู้หญิง, บุคลากรทางการศึกษาที่รวมถึงสถาบันปอเนาะ และสื่อมวลชนในพื้นที่
สำหรับสภาที่ปรึกษาฯ ที่เพิ่งถูกทำแท้งไปนี้ถือเป็นชุดที่ 2 โดยชุดแรกหมดวาระไปตั้งแต่ก่อน คสช.ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ในขณะนั้นได้จัดให้มีการเลือกผู้แทนในแต่ละสาขาใหม่ จนได้รายชื่อทั้ง 49 คนมาแล้ว ระหว่างรอการลงนามแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ปรากฏเกิดการยึดอำนาจของ คสช.เสียก่อน และภายหลังได้เสนอชื่อไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กลับไม่มีการลงนามแต่งตั้งจนถึงวันนี้
ส่งผลให้สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถทำงานได้มานานร่วม 2 ปีแล้ว ซึ่งนับว่ามีผลต่อการเดินหน้าดับไฟใต้อย่างมีนัยสำคัญแน่นอน ไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่ใช้ ม.44 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ทดแทน
นอกจากนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ยังกำหนดให้การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง “กอ.รมน.”กับ “ศอ.บต.” โดยให้ “เลขาธิการ ศอ.บต.” ปรึกษาหารือ และรับข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของ “เลขาธิการ กอ.รมน.” ไปดำเนินการหรือปฏิบัติงาน
หากกรณีใดปัญหาให้ “เลขาธิการ กอ.รมน.” เสนอเรื่องให้ “รอง ผอ.รมน.” ซึ่งก็คือ “ผู้บัญชาการทหารบก” โดยตำแหน่งเป็นผู้วินิจฉัย
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่เกิด หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ให้ “กอ.รมน.” มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการประสานงาน หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับการบูรณาการการทำงานระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.นั้น ทำให้ กอ.รมน.มี “อำนาจตัดสินใจเหนือกว่า” ศอ.บต. ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ปี 2553 ให้อำนาจ และศักดิ์ของ 2 องค์กรนี้เทียบเท่ากัน
อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ “ฝ่ายปกครอง” มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและประสานงานเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในท้องที่ใด แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 กลับกำหนดให้เป็นอำนาจของ “กอ.รมน.”
ทั้งหมดทั้งปวงแล้วต้องถือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 เป็นการ “กระชับอำนาจในการดับไฟใต้” ที่อยู่ภายใต้ปีกโอบของ “กองทัพ” ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ภายหลังที่ คสช.ยึดอำนาจบริหารบ้านเมืองไว้ในเมืองเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เดินหน้าดูดดึงอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะจากฝ่ายปกครอง และตำรวจไปไว้ในมือทหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาโดยตลอด
ความจริงแล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเลย เมื่อคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศสำเร็จ การจะเดินหน้าฟื้นฟู หรือปรับปรุงบ้านเมืองที่ถูกบรรดานักเลือกตั้งย่ำยีให้บอบช้ำมานาน ทหารก็ยอมต้องมีความคิด และความเชื่อมั่นในเลือดสีเขียวด้วยกัน สิ่งที่ตอกย้ำได้ดีคือ ก่อนหน้าไม่กี่วัน คสช.ก็มีการใช้ ม.44 เพิ่มอำนาจในการปราบปราม กวาดล้าง จับกุมผู้มีอิทธิพล หรือมาเฟียได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดาสีกากี
จะว่าไปแล้ว ณ เวลานี้ได้ก่อเกิด “รัฐทหาร” ขึ้นมาทาบทับ และทดแทน “รัฐตำรวจ” ก็น่าจะได้
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบ และเข้าใจของผู้คนจำนวนมากว่า ในหน้าประวัติศาสตร์ของการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การจะกด หรือถึงขั้นกุดหัวสถานการณ์ความไม่สงบให้คลี่คลายลงได้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาๆ มีแต่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องใช้นโยบาย “การเศรษฐกิจ” และ“การเมือง” นำหน้า “การทหาร” เท่านั้นจึงจะเอาอยู่
สิ่งนี้ยืนยันได้นับตั้งแต่ยุดเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เช่น รัชกาลที่ 6 ทรงออกพระบรมราโชบายพิเศษสำหรับมณฑลปัตตานี หรือในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อเนื่องมา ซึ่งมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้จาก “การทหารนำการเมือง” สู่ “การเมืองนำการทหาร” พร้อมกันนั้น ก็ผลักดัน “ความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ” อย่างเป็นรูปธรรมควบคู่ไปด้วย จึงส่งผลให้สถานการณ์ไฟใต้คลี่คลายอย่างเป็นที่ประจักษ์
อันไฟใต้คลี่คลายเป็นที่ประจักษ์ชัดจนถึงขึ้นรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เกิดความอหังการมมังการจะปักหมุด “รัฐตำรวจ” ลงบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน แล้วกลับกลายเป็นไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำมันเบนซินไปราดรดเพื่อหวังให้ไฟใต้ดับสนิท สุดท้ายไฟใต้ได้มีโอกาสปะทุระลอกใหม่นับตั้งแต่ต้นปี 2547 และยังโชนเปลวล่วงเลยเวลากว่า 12 ปีมาจนถึงวันนี้
ที่ว่าด้วย 2 ปรากฏการณ์อันเปรียบได้เป็น “วงจรอุบาทว์” ณ แผ่นดินปลายด้ามขวานทองของไทยนั้น ปรากฏการณ์แรกก็คือเมื่อ “ท่านผู้นำ” ยังคงยืนหยัดที่จะใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” โดยเทน้ำหนักไปที่หน่วยงานอย่าง “กองทัพ” รับบทพระเอกดับไฟใต้แต่ผู้เดียว โดยกุดหัว หรือละเลย หรือให้ความสำคัญน้อยมากต่อฝ่าย “พลเรือน” โดยเฉพาะหน่วยงานอย่าง ศอ.บต.ที่เคยนำพาการพัฒนาชายแดนใต้คลี่คลายจากสถานการณ์ความรุนแรงมาแล้วอย่างเป็นที่ประจักษ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นที่คาดเดาของสังคมได้ว่า สถานการณ์ไฟใต้จากนี้ไปก็คงไม่ต่างอะไรกับการหวนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของวงจรใช้ “กองกำลังขับเคลื่อน” ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องวนเวียนเปลี่ยนปรับมาสู่การใช้ “การพัฒนาขับเคลื่อน” บ้านเมืองเพื่อให้ครบวงรอบอย่างที่เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มาแล้ว
อีกปรากฏการณ์ คือ เมื่อ “ท่านผู้นำ” ประกาศชัดว่าจะส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐไล่ล่า เพื่อทำลายล้างเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในฟากฝ่ายที่พิสมัยการใช้อาวุธ มากกว่าที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเจรจาให้สิ้นซากภายใน 6 เดือน อันเป็นผลจากคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังเกิดเหตุกลุ่มโจรใต้บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อใช้ตั้งฐานโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารพราน นั่นก็ไม่ต่างอะไรจากการที่รัฐได้ประกาศเปิด“ยุทธการตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ขึ้นมาแล้ว
สิ่งที่จะตามมา และก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยากสำหรับผู้คนในสังคมจำนวนมากมายก็คือ แผ่นดินไฟใต้ต่อแต่นี้จะเกิดการตอบโต้ของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามรัฐอย่างหนักหน่วง ซึ่งความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์ดังกล่าวก็น่าจะเป็นไปแบบชนิดที่ต้องเรียกว่า “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” อันเป็นความคิดสุดโต่งของโจรใต้อย่างแน่นอน
ท่ามกลางไฟใต้ที่กำลังฉายภาพคุโชนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจ และกระชับอำนาจให้กองทัพอย่างเหลือประมาณ จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไม ณ ห้วงปัจจุบัน ทั้งเสียงระเบิด และเสียงปืนจึงยังก้องกังวานบาดหู และบาดใจผู้คนในสังคมไทยแทบจะทุกวัน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องจับตาว่ากันต่อไปว่า คงไม่ใช่เฉพาะ 7 หัวเมืองหลักในพื้นที่ชายแดนใต้ อันได้แก่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นเป้าหมายโจมตีหลักเท่านั้น แต่หัวเมืองสำคัญในภาคใต้อื่นๆ และเลยรวมไปถึงเหมืองหลวงอย่าง“กรุงเทพฯ” ก็ไม่ควรที่จะละสายตาไปได้
ที่ผ่านมา กลุ่มโจรใต้ก็เคยแสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถที่จะขยายแนวรบออกไปนอกพื้นที่ชายแดนใต้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ “เมืองสะเดา” หัวเมืองสำคัญด้านชายแดนไทย-มาเลเซีย “เมืองสมุย” ที่ถือเป็นเกาะมรกตทางการท่องเที่ยวขึ้นชื่อฝั่งอ่าวไทย หรือแม้กระทั่ง “เมืองภูเก็ต” เกาะไข่มุกอันดามันแห่งเอเชีย ก็เคยก่อปฏิบัติการมาแล้ว เพียงแต่ไม่สัมฤทธิผลเท่านั้น