ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“เป็นมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ขอความร่วมมือให้มากขึ้น โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งที่ผ่านมาก็แจ้ง แต่อยากให้แจ้งเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เราต้องทำลายกระบวนการต่างๆ ให้ได้โดยเร็ว เพราะมันมีผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งการค้า การลงทุน ความปลอดภัย ชื่อเสียงประเทศ มันต้องทำลายเครือข่ายให้ได้ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังนอกแบบ ไม่ใช่ ทำไม่ได้ ต้องใช้กฎหมาย…
“เพราะวันนี้เรามองว่าทุกคนคือ คนไทย หรือคนไทยมุสลิม ดังนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย สิ่งที่เรามองไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่มองเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงทางอาชญากรรม ที่ใช้ความรุนแรงมากๆ เดือดร้อนทั้งไทยพุทธและมุสลิม มันจะสร้างความเดือดร้อนไปไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว ผมถึงบอกว่า 6 เดือนนี้ดูได้ไหม ร่วมมือกันได้ไหม ทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทำอย่างไรจะร่วมมือทำลายเครือข่ายให้ได้...
“เพราะว่าชีวิตคนไม่ได้ มันจะเกิดระเบิดครั้งหนึ่งไม่มีคนตายมันก็ระเบิด ผมไม่ต้องการให้เกิดสักอย่าง แล้วจะได้ไปพัฒนาให้คนใต้ได้อยู่ดีๆ ไม่ต้องเดินขบวนเรียกร้องให้ร้อน ทั้งเรื่องยาง-ปาล์มเหมือนเดิม กี่สิบปีมาแล้วต้องแก้ไขให้ได้…
“ขอร้องฝากไปถึงประชาชนด้วย ถ้าใครที่สามารถจะแจ้งข่าวที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ เครือข่ายได้ อะไรได้ ผมจะมีรางวัลพิเศษให้ในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะต้องดูแลพิทักษ์คุ้มครองพยานไม่ให้เกิดอันตราย ก็ต้องไปดู ส่งเอกสารมาได้ตลอด เขียนจดหมายมาถึงผมก็ได้ จะได้ตรวจสอบได้ว่ามันจริง ไม่จริง ว่าใช่ ไม่ใช่”
เป็นการตอบคำถามสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการสั่งการให้เพิ่มมาตรการดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้มข้นขึ้น ภายหลังเกิดเหตุกลุ่มผู้ก่อการร้ายเปิดยุทธการปฏิบัติการต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13-14 มี.ค. จนเป็นข่าวครึกโครมและเป็นที่จับตาของทั้งคนไทยและนานาชาติ
หากมองผ่านข้ามน้ำเสียงและท่าทีที่แสดงออกถึงความเจ้าอารมณ์ไปให้ได้ แล้วหันไปอ่านความระหว่างบรรทัดในคำพูดของ “ท่านผู้นำ” ในครั้งนี้ ก็จะพบ 2 ประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน
ประเด็นหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้ที่ถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการขับเคลื่อนบ้านเมือง ได้สั่งการให้ “ใช้มาตรการเข้มข้นภายในเวลา 6 เดือน” จัดการกับเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินในในภาคใต้ของไทยให้หมอบรายคาบแก้วให้ได้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ความรุนแรงสามารถก่อเกิดในได้อีกในระลอกใหม่ และเพื่อนำพาผืนแผ่นดินปลายด้ามขวานไปสู่สันติสุข
ประเด็นหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรู้สึกในเชิงยอมรับว่า “งานด้านการข่าว” ของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ยังด้อยประสิทธิภาพ โดยเฉพาะยังมีช่องโหว่ให้บางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งในเครือข่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในฟากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุข ยังสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์เคลื่อนไหวและก่อการร้ายได้อย่างมีอิสระ
อีกทั้งเมื่อหันกลับไปพินิจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน อันตรงกับวาระครบรอบ 56 ปีของการก่อตั้ง “ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolosion Nasional malaya patani)” หรือที่มักเรียกกันว่า “ขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN)” เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่ามีเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและถูกจับจ้องเป็นพิเศษคือ กลุ่มผู้ก่อการบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และใช้เป็นที่มั่นยิงถล่มฐานปฏิบัติการ ร้อย ทพ.4816 กรมทหารพรานที่ 48 ที่ตั้งอยู่ด้านข้างๆ
ประเด็นหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์โจรใต้บุกยึด “โรงพยาบาล” แล้วใช้เป็นป้อมปืนยิงถล่มใส่ทหารพราน พร้อมๆ กับใช้ความเปราะบางของสถานที่เป็นเกราะกำบังไม่ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้กลับด้วยอาวุธหนัก ถือเป็นปฏิบัติการใหม่ที่กลุ่มสุดโต่งพร้อมละเมิดกฎกติกาไม่ว่าจะระดับใด โดยเฉพาะน่าจะมั่นใจว่ายังสามารถควบคุมมวลชนในพื้นที่ได้ และที่สำคัญถือเป็นปฏิบัติการก้าวรุกเกินคาดหมายอีกครั้ง ที่ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงต้องนำไปขบให้แตก แล้วหาทางวางมาตรการรับมือรวมถึงรุกกลับให้ได้
ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวถือเป็น “บทเรียน” มากค่า ที่ไม่เพียงแต่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เท่านั้นที่จะต้องรับเอาไปแบบเต็มๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายแบบเด็ดยอดไปแล้ว โดยเฉพาะในภารกิจเปิดยุทธการดับไฟใต้ให้บรรลุเป้าหมาย แล้วคืนความสงบสุขให้กลับมาสู่แผ่นดินปลายด้ามขวาน แต่ยังต้องรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องใส่ใจ โดยไม่ละเลยอีกหนึ่งในวิกฤตสำคัญอันแสนสาหัสสากรรจ์ ซึ่งกำลังปั่นทอนพลังของสังคมอย่างหนักหน่วงอยู่ในเวลานี้
ความจริงแล้วทั้ง 3 ประเด็นที่ว่ามา ใช่ว่าจะเพิ่งปรากฏขึ้นจนเป็นที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม ลองทบทวนแบบย้อนกลับไปที่ละประเด็นก็จะพบว่า ประเด็นที่กลุ่มโจรใต้บุกยึดหรือทำลายพื้นที่ “อ่อนไหว” ที่ผ่านแล้วๆ มาก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ปฏิบัติการวางระเบิดที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก็เคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว มิพักต้องกล่าวถึงวัด มัสยิด โรงเรียน โรงแรม สถานีรถไฟ ตลาด ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เหตุไฉนกับโรงพยาบาลใหญ่ระดับประจำอำเภอจึงไม่ได้รับการป้องกันเท่าที่ควร
ต่อประเด็นประสิทธิภาพของงาน “ด้านการข่าว” ของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เช่นกัน เป็นสิบๆ ปีมาแล้วที่มีการทั้งการจัดส่งทหาร ตำรวจและพลเรือน รวมถึงการสร้างกองกำลังขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยมีประจำการแบบทะลุทะลวงตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน แม้กระทั่งชุมชน ซึ่งถึงวันนี้ไม่ใช่แค่กับผู้นำท้องที่ไม่ว่าจะเป็นระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่นต่างๆ เท่านั้น แต่กับประชาชนในพื้นที่ก็ต้องนับว่ารู้จักหน้าค่าตากันเป็นอย่างดี แต่ไหงกลับแทบไม่ระแคะระคายมาก่อนที่จะมีปฏิบัติการกลุ่มโจรใต้
กล่าวสำหรับประเด็นอันเป็นผลจากปฏิบัติการช่วงครบรอบอันเป็นวันสัญลักษณ์สำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็นที่เพิ่งผ่านมา ซึ่ง “ท่านผู้นำ” ได้ออกมาประกาศเรื่องการขีดเส้นตายชัดเจนแล้วว่า “ภายใน 6 เดือน” ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อกวาดล้างและทำลายเครือข่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนฟากฝ่ายที่ยังใช้ความรุนแรงให้สิ้นซาก ซึ่งต่อจากนี้น่าจะมีการใช้ “อำนาจพิเศษ” สั่งการให้เกิดผลโดยเร็ว
จนเวลานี้มีเสียงร่ำลือตามมาว่า กรณีที่ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คนปัจจุบันที่จะต้องย้ายเข้าส่วนกลางเพื่อก้าวขึ้นไปรับตำแหน่ง “พลเอก” ก่อนเกษียณในเดือน ก.ย.ปี 2559 นี้ อาจจะได้รับการร้องขอให้อยู่ทำหน้าที่เดิม ทั้งนี้ก็เพื่อรับบทในการยกระดับปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังโจรใต้แบบเข้มข้นต่อเนื่องจนจบภารกิจ ซึ่งก็จะเป็นไปตามกำหนดประมาณ 6 เดือนตามคำสั่ง “ท่านผู้นำ” ด้วยเช่นกัน
ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นเป็นเหตุและเป็นผลอย่างยากจะแยกออกจากกัน และวิกฤตไฟใต้ก็จัดว่าเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงการกุมบังเหียนบ้านเมืองของท่านผู้นำอย่าง “บิ๊กตู่” และคณะ “รัฐบาลทหาร” ในเวลานี้ ซึ่งกำลังเข้มข้นไปด้วยบรรยากาศและกิจกรรมของการกระชับอำนาจ อันมีเป้าว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องยอมกำหนดให้ คสช.ควบคุมสถานการณ์ได้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี หรือถ้าเป็นไปได้ก็ 20 ปีตามกลไกที่ได้วางแผนทิศทางการขับเคลื่อนประเทศชาติระยะยาวไว้แล้ว
ในส่วนของกระบวนการกระชับอำนาจเพื่อดับไฟใต้ ณ วันนี้มีการดึงอำนาจไปไว้ในมือ “กองทัพ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะไม่ประกาศ แต่ก็ถือว่า “นโยบายการทหารนำการเมือง” ถูกใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเป็นผลอันเนื่องจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2557 เป็นต้นมา ซึ่งในวันนี้แม้แต่หน่วยงานสำคัญในฝ่ายพลเรือนอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือฝ่ายตำรวจอย่าง ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ก็ยังต้องไปซุกอยู่ใต้ปีกของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
สำหรับสถานการณ์ไฟใต้นับจากนี้ไป ถือเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาอยู่กันแบบอย่ากระพริบเลยทีเดียวว่า ปฏิบัติการทำลายล้างกลุ่มโจรใต้ที่มีแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งก็คือ “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” เครือข่ายที่แตกหน่อออกมาจากขบวนการบีอาร์เอ็นภายใต้การนำของ 3 ขุนพลคือ อับดุลเลาะ แวมะนอ, มะแซ อุเซ็ง และ สะแปอิง บาซอ จะบรรลุผลภายใน 6 เดือนได้หรือไม่
ทั้งนี้ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนชายแดนใต้ต่างก็ยังวาดหวังว่า ในเวลาของ คสช.ที่ใกล้งวดเต็มทีแล้ว ประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อการดับไฟใต้ได้ด้วยเวลา 6 เดือนจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้จริงสักที เนื่องจากไม่ว่าจะรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหารในชุดที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรืออีกหลากชุดในระบอบทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ ล้วนเคยประกาศไว้แล้วทั้งสิ้นว่าจะดับไฟใต้ภายในเวลา 6 เดือน หรือ 9 เดือน หรืออย่างช้าไม่เคยเกิน 1 ปี แต่สุดท้ายต่างก็เป็นเพียงลมปากเพื่อเรียกร้องคะแนนนิยม
โดยในเวลานี้ทุกคนต่างวิงวอนว่า ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศไว้เมื่อครั้งนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เดินทางมาค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2557 เพื่ออำลาตำแหน่ง ผบ.ทบ.กับเหล่าทหารภาคใต้ที่ว่า จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้จบภายใน 1 ปีก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นผล