คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ก่อนที่จะเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่หน้าร้านอาหารมิตติ้ง ซึ่งติดกับจุดตรวจของ มว.ฉก.นปพ.11 เส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานีเมื่อบ่ายวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นติดต่อกันกว่า 2 สัปดาห์
มีการสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ผู้นำท้องที่ รวมทั้งเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชนทั่วไป ทั้งที่เป็นมุสลิม และที่เป็นพุทธ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่เป็น “ไทยพุทธ” กลายเป็นเหยื่อสถานการณ์ที่ถูก “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้ในการ “เอาคืน” และ “แก้แค้น” เจ้าหน้าที่ อีกครั้ง
อาจจะหมายร่วมถึงการแสดงให้เห็นว่า “แนวร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ไม่ได้มีส่วน “เกี่ยวพัน”ต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม ที่เป็นตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น, พูโล และบีเอ็นพีพี ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” กับคณะของ พล.อ.อักษรา เกิดผล ตัวแทนของฝ่ายรัฐไทย เพื่อหาช่องทางในการดับไฟใต้
เพราะข้อเสนอหนึ่งของฝ่ายไทยคือ ให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม แสดงให้เกิดถึง “ศักยภาพ” ด้วยการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีการกำหนดของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งไม่ทำอันตรายต่อ “เป้าหมายอ่อนแอ” ซึ่งหมายถึงข้าราชการ พลเรือน และประชาชนผู้บริสุทธิ์
ที่สำคัญก่อนที่จะมีการเกิดขึ้นของคาร์บอมบ์ที่หน้าร้านอาหารมิตติ้งประมาณ 1 สัปดาห์ “การข่าว” ในพื้นที่ต่าง “กระสา” ถึงกลิ่นของคาร์บอมบ์ที่ห่างหายไปนานว่ากำลังจะกลับมาอีกครั้ง โดยเป้าหมายอยู่ที่พื้นที่ 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ โดยมี “หาดใหญ่” รวมอยู่ในเป้าหมาย และมีการแจ้งเตือนหน่วยกำลังในพื้นที่ให้ระวังป้องกันชนิดที่มี “ความถี่เป็นพิเศษ”
แสดงให้เห็นว่างานการข่าวในพื้นที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่สามารถ “ชี้เป้า” ว่าคาร์บอมบ์จะเกิดขึ้น ณ จุดใด แต่ก็มี “ความแม่นยำ” ของข่าวที่มีการแจ้งเตือนพอสมควร
เพราะหลังการแจ้งเตือนของ “หน่วยข่าว” จึงเป็นหน้าที่ของ “หน่วยกำลัง” ในพื้นที่ ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันว่า จะดำเนินการป้องกันอย่างไร เช่น การตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่สงสัยว่าเป็นที่ “ซ่องสุม” กำลัง เป็นที่ “หลบซ่อน” ของฝ่ายปฏิบัติการ หรือ “กดดัน” มิให้ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ที่อยู่ในพื้นที่เปิด “เกมรุก” ในการลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อมิให้มีพื้นที่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว และอีก ฯลฯ ที่เป็นยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่
แต่สุดท้ายเสียงบึมของคาร์บอมบ์ก็สนั่นเมืองปัตตานี ซึ่งเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่ฐานปฏิบัติการของ มว.ฉก.นปพ.11 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี
แม้ว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีเพียงผู้บาดเจ็บทั้งตำรวจ และประชาชน 12 ราย ร้านอาหาร และฐานปฏิบัติการกลายเป็นจุลมหาจุลจากการถูกไฟไหม้ พร้อมทั้งทรัพย์สิน ทั้งรถยนต์ จยย. และอื่นๆ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่สามารถ “เยียวยา” ได้ จึงถือว่ายัง “โชคดี” ที่ไม่มีใครเสียชีวิต
มีการตั้งขอสังเกตถึงจำนวน “อาวุธปืน 20 กว่ากระบอก” ในฐานปฏิบัติการที่ถูกเผาไหม้ในครั้งนี้ว่า ทำไมจึงมีอาวุธปืนอยู่ในฐานปฏิบัติการ โดยที่อาวุธเหล่านั้นไม่ได้อยู่ประจำกายของผู้เบิกอาวุธมาใช้ปฏิบัติหน้าที่
เป็นไปได้หรือไม่ว่า กำลังพลจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรือไม่มีอยู่จริง แต่มีการเบิกอาวุธตามอัตรา 40 กว่านาย ซึ่งเป็นกำลังของฐานปฏิบัติการแห่งนี้ เพราะโดยปกติอาวุธปืนประจำกายของตำรวจจะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละนาย
หรือในวันเกิดเหตุมีการ “ลาราชการ” โดยการทิ้งอาวุธปืนไว้ที่ฐานปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “กองร้อยพระองค์ดำ” ของทหารที่ถูกบุกโจมตีที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อหลายปีก่อน ที่ต้องสูญเสียอาวุธปืนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ในคืนเกิดเหตุมีกำลังประจำกองร้อยเพียง 10 กว่านายเท่านั้น
สำหรับวิธีการที่แนวร่วมนำมาใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ คือ การ “ปล้นชิงรถยนต์” เพื่อใช้ในการทำคาร์บอมบ์ครั้งนี้ คือ ปล้นรถยนต์จาก นายสมศักดิ์ ดุษฏีพิริยะ เจ้าของอู่ซ่อมรถในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 09.30 น. แล้วนำไปประกอบระเบิดให้เป็นคาร์บอมบ์ในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง ก่อนที่จะมาจอดไว้ที่หน้าร้านมิตติ้ง และระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 12.30 น.ของวันเดียวกัน
วิธีการวางระเบิดคาร์บอมบ์แบบ “มาเร็ว เคลมเร็ว” แบบนี้คือ การปล้นชิงรถยนต์ตอนเช้า แล้วทำให้เกิดระเบิดในตอนบ่าย ซึ่งห่างจากการปล้นรถยนต์ไม่กี่ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
เพราะเมื่อปี 2558 ก็เคยมีการปล้นรถยนต์จากพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ในตอนเช้า และประกอบเป็นคาร์บอมบ์นำไปวางไว้แถวหน้าสถานีตำรวจที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี เพียงแต่โชคดีที่มีผู้ผิดสังเกต มีการตรวจพบเสียก่อนที่จะมีการระเบิดเกิดขึ้น
คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แม้จะไม่มีส่วนที่ “เชื่อมโยง” กับขบวนการ “แบล็ค สวอน” ที่เปิดเผยโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พบว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักรบ “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอซิส” หรือ “ไอเอส” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ก็ทำให้ “อุณหภูมิ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความ “ร้อนฉ่า” ขึ้นมาในทันที เนื่องจากคาร์บอมบ์ห่างหายไปจากพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอไปแล้วในระยะหนึ่ง รวมทั้งคาร์บอมบ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ “รอบนอก” แต่เป็นพื้นที่ “วงใน” ที่เกือบจะเข้าไปกลางไข่แดงของเขตเทศบาลเมืองปัตตานี
และที่สำคัญที่สุดคือ เทศบาลเมืองปัตตานีกำลังอยู่ระหว่าง “การจัดงานสมโภชเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว” ซึ่งเป็นงานสำคัญของ จ.ปัตตานี รวมทั้งในวันที่ 28 ก.พ.ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะมี “การจัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 1016” ขึ้น โดยมีการเชิญ “พล.อ.อัษรา เกิดผล” หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข และ “ดาโต๊ะ ซัมซามิน” ตัวแทนมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยมาร่วมวงเสวนาในครั้งนี้
ดังนั้น คาร์บอมบ์ลูกนี้นอกจากเป็นการสร้าง “ความวิตกกังวล” ให้แก่คนใน 4 จังหวัดที่กำลังเกิดความเชื่อมั่นในการป้องกันเหตุของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4 และ กอ.กอ.รมน.ภาค 4 สถานการณ์ของ 4 จังหวัดดีขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 หัวเมืองเศรษฐกิจที่ปลอดจากเหตุรุนแรง
ในขณะเดียวกัน คาร์บอมบ์ครั้งนี้ก็ทำให้สถานะของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ถูกมองว่ามีอยู่ในสภาพของการ “ถดถอย” ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง และของผู้คนในพื้นที่ กลับมา “มีพลัง” อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น การปฏิบัติการของแนวร่วมที่เกิดขึ้นจึงเป็นปฏิบัติการที่ถูกที่ถูกจังหวะ ถูกเวลา ชนิดที่ไม่ควรมองข้าม
ที่นำเอาเหตุคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาเขียนถึงค่อนข้างยาว เพียงเพราะต้องการ “สะท้อน” ให้เห็นถึง “ปัญหา” ที่ต้องมีการแก้ไข และที่สำคัญคือ ต้องการมีการ “ทบทวน” ในเรื่องของการปฏิบัติการของการป้องกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพให้มากกว่าที่เป็นอยู่
เพราะสิ่งเหล่านี้ เช่น การปล้นรถแล้วนำไปทำระเบิดในทันที การแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ การปลอมยานพาหนะให้เหมือนของหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่
เพียงแต่หน่วยงานของรัฐอาจจะ “ไม่ได้ซึมซับ” ต่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพื่อนำมาทำแผนปฏิบัติการในการป้องกันการ “ซ้ำรอยเดิม”
เพราะโดยข้อเท็จจริง “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีวิธีการ หรือ “ยุทธวิธีใหม่ๆ” มาใช้เพื่อก่อเหตุร้ายแต่อย่างใด เพียงแต่หน่วยงานของรัฐเองต่างหากที่ไม่ได้มีวิธีคิด หรือวิธีการที่ “ใหม่กว่า” มาใช้ในการต่อกรเท่านั้น
การที่ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบป้องกัน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจด้วยความเข้มงวดแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องให้หน่วยงาน หรือหน่วยกำลังที่รับผิดชอบในทุกพื้นที่ “ใส่ใจ” และ “เอาจริง” ต่อนโยบาย และแผนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอย่างจริงจัง
รวมทั้งต้องมีการ “เอาผิด” ต่อผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งขาดการ “จริงจัง” ในการปฏิบัติตามนโยบายในการสร้างความสงบสุขของแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยจึงจะได้ผล
แผนดี นโยบายดี แต่ถ้าหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติยัง “เฉื่อยเฉย” ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง สิ่งที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ตามแผนงานก็ย่อมที่จะเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง