xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ชี้ กพช.ส่อเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซเอื้อเจ้าเดิม จี้ยึดคืน ใช้ระบบจ้าง ตั้งบรรษัทพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ชี้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ส่อเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช เอื้อผู้รับสัมปทานเดิม ซัด รมว.พลังงาน พูดจ้างผลิตปิโตรเลียมเป็นเรื่องยุ่งยากควรพิจารณาตนเอง จี้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติใน 6 เดือน ยุติประมูล 2 แหล่งก๊าซในระบบแบ่งปันผลผลิต ยึดคืนเป็นของรัฐ แล้วประมูลด้วยระบบจ้างผลิต จัดเวทีร่วมกับ กสม.ประชาพิจารณ์เนื้อหา 2 ร่างกฎหมาย

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานก.พ. เมื่อเวลา 09.40 น. กลุ่มประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ประมาณ 25 คน นำโดยนางบุญยืน ศิริธรรม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศ์ษา เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืน คัดค้านการเจรจาเพื่อมอบสิทธิ์การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุลง ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยไม่มีการประมูลแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในระบบจ้างผลิตหรือระบบแบ่งปันผลผลิต พร้อมเห็นว่าแนวทางที่กระทรวงพลังงานดำเนินอยู่ขาดหลักการ มีความไม่โปร่งใส และยังคงใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคล หรือคณะบุคคลเป็นหลัก จึงทำให้คปพ.มีข้อสงสัย คือไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น จะใช้วิธีการประมูลในระบบใด ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของรมว.พลังงาน เป็นการปูทางไปสู่การประมูลแบบระบบสัมปทานเดิม โดยใช้กลุ่มคนกลุ่มเดียวเป็นผู้ตัดสินใจใช่หรือไม่ และจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะใช้วิธีเจรจาผู้ประกอบการเดิม เกรงว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือจนเกิดล็อกสเป็ค

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ว่า ที่ประชุม กพช.มีมติให้ดำเนินการประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อบริหารแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565 และ 2566 นั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ขอเรียนชี้แจงว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้เคยเสนอร่าง พระราชบัญญัติประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ. ... ต่อนายกรัฐมนตรี ถึงหลักการและวิธีการในการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

กล่าวโดยสรุปดังนี้ 1. เมื่อปรากฏเบาะแสของทรัพยากรปิโตรเลียม รัฐมีหน้าสำรวจเพื่อหาปริมาณปิโตรเลียม 2. เมื่อไม่ปรากฏเบาะแสของทรัพยากรปิโตรเลียมใดๆ เลย รัฐสามารถให้สัมปทานปิโตรเลียมได้ 3. เมื่อผลสำรวจพบปริมาณปิโตรเลียมแล้ว ให้เปิดประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบ
แบ่งปันผลผลิตอย่างเสรี 4. เมื่อพบปริมาณปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงเป็นที่ประจักษ์ เช่น แหล่งสัมปทานเดิมที่มีศักยภาพ และหมดอายุลง ให้เปิดประมูลแข่งขันค่ารับจ้างต่ำสุดในการผลิตปิโตรเลียมสำหรับระบบจ้างผลิต

ดังนั้นจะเห็นว่าแนวทางที่กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่นั้น ขาดหลักการที่ชัดเจนในการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างโปร่งใส และยังคงใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นหลัก ซึ่งเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย มีข้อสังเกตที่น่าเคลือบแคลงสงสัยจากคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังต่อไปนี้

ประการแรก ไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น จะประมูลในระบบใด เป็นการให้สัมภาษณ์เพื่อปูทางไปสู่การประมูลคุณสมบัติตามระบบสัมปทานเดิมใช่หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการประมูลที่ไม่ได้สนใจผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด แต่เป็นการประมูลให้คะแนนโดยใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน มิได้เป็นหลักประกันในการทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสูงสุดแต่ประการใด

เนื่องจากแหล่งเอราวัณ และบงกช เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทยตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งสองแหล่งดังกล่าวมีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมาก แตกต่างจากแหล่งสัมปทานอื่นที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลาย เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนในส่วนดังกล่าวอีก อีกทั้งยังสามารถนำมาตีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) เพื่อกำหนดเป็นสัดส่วนร่วมลงทุนกับเอกชนในอนาคตได้ แหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่งจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติแน่นอน มีลูกค้าที่ชัดเจน ดังนั้นจะใช้ระบบการให้สัมปทานเหมือนแหล่งอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ได้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเสนอให้ใช้วิธีการประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในระบบจ้างผลิต โดยให้เป็นการแข่งขันเสรี และโปร่งใสได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการประมูลในระบบคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4G ที่ผ่านมา

ประการที่ 2 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า เมื่อทำการเปิดการประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกชแล้ว หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะใช้วิธีเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับสัมปทานรายเดิม มีแรงจูงใจดำเนินการตั้งเงื่อนไขในการประมูลหรือ “ล็อกสเปก” ให้คู่แข่งขันรายใหม่ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้จริง ทั้งที่ในธุรกิจนี้มีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่อีกหลายบริษัทในอีกหลายประเทศที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกลดต่ำลงกว่าเดิม แหล่งบงกชและเอราวัณที่กำลังดำเนินการผลิตปิโตรเลียมอยู่และมีลูกค้าอยู่แน่นอน จึงเป็นที่สนใจของบริษัทพลังงานเป็นอย่างมากเพราะสามารถทำเงินและสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการได้ทันที จึงความเสี่ยงต่ำกว่าการพัฒนาแหล่งใหม่เป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันแหล่งบงกชและเอราวัณมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ที่มีมูลค่าประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นหลักประกันความสำเร็จของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

ประการที่ 3 การที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “ขณะนี้ 2 แหล่งผลิตก๊าซฯ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วงแรกเลยถ้าเขาไม่เจาะหลุมผลิตก๊าซฯ เพิ่มเพราะไม่รู้ว่าจะชนะประมูลหรือไม่ และกว่ารายใหม่จะเข้ามาก็ต้องรอให้สิ้นสุดอายุสัมปทานจะมีช่องว่างนี้อยู่ คือ ก๊าซฯ จะทยอยหายไปทั้งหมด 2,200 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปี 2565” และยังได้กล่าวอีกว่า “กระทรวงพลังงานพร้อมปฏิบัติตาม มติ กพช. ที่ให้เปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งที่จะหมดอายุ แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน กรณีที่หากก๊าซฯหายไปบางช่วงและต้องใช้ LNG มาทดแทนในการผลิตไฟฟ้า และจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ...” นั้น

ความเป็นจริงแล้ว หากกระทรวงพลังงานได้วางแผนบริหารจัดการตั้งแต่เมื่อครั้งมีการต่ออายุสัมปทานแหล่งบงกชและเอราวัณ ในปี 2550 ด้วยการเตรียมการประมูลให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการ โดยการกำหนดเงื่อนไขในการต่อสัญญา ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องถ่ายโอนการดำเนินการและถ่ายโอนเทคโนโลยีล่วงหน้าก่อนสัมปทานจะหมดอายุลง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และให้มีการดำเนินการร่วมระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิม กับผู้ประมูลรายใหม่ ในช่วง 2 ปี สุดท้าย ก็จะทำให้การถ่ายโอนการดำเนินการในทั้งสองแหล่งเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สมควรมากล่าวโทษประชาชนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติ อันเป็นเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

และหากผู้รับสัมปทานลดกำลังการผลิต ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจินตนาการเอาเองแทนผู้รับสัมปทานนั้น ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานเอง ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามบทบัญญัติ มาตรา 52 ทวิ วรรคสามและวรรคสี่ แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ความว่า

“ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว

เมื่อรัฐบาลได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการเข้าใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่า สิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในพื้นที่ที่ได้กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และรัฐบาลมีอำนาจมอบหมายให้ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจหรือผู้หนึ่งผู้ใด เข้าประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวได้”

ดังนั้น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพิกเฉย ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 157 ได้ การให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่า เป็นการข่มขู่ประชาชนหรือไม่นั้น จึงเป็นคำพูดที่ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรืออาจขาดความรู้ความเข้าใจต่อบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

ประการที่ 4 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “การเปิดประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะไม่ใช้แนวทางรับจ้างผลิตเพราะค่อนข้างยุ่งยาก” นั้น แสดงให้เห็นว่า หากแหล่งเอราวัณและบงกชซึ่งมีข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยยังไม่สามารถนำกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อนำไปสู่การจ้างผลิตได้ เมื่อประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะไม่เลือกใช้การประมูลแข่งขันในระบบการจ้างผลิตในแหล่งเอราวัณและบงกช นั่นย่อมหมายความว่า ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการเพิ่มระบบจ้างผลิตเข้าไป และกำลังจะพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น ก็จะไม่มีแหล่งปิโตรเลียมไหนในประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพน้อยกว่านี้ จะสามารถใช้ระบบจ้างผลิตได้อีกเลย การเพิ่มระบบจ้างผลิต ตามร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน จึงเป็นเพียงการอำพรางให้ประชาชนสบายใจว่าได้เพิ่มระบบการจ้างผลิตเข้าไปในกฎหมายตามที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว แต่เจตนาที่แท้จริง กลับไม่ต้องการให้ระบบการจ้างผลิตเกิดขึ้นได้จริงเลยในทางปฏิบัติภายใต้นโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ ระบบการจ้างผลิต ไม่ได้มีความยุ่งยากตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวอ้างแต่ประการใด เพราะรัฐสามารถเปิดประมูลแข่งขันการจ้างผลิต โดยให้ค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียมที่ผลิตได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณแต่ประการใด และการจ้างผลิตนั้นก็คือรูปแบบการจัดจ้างปกติของฝ่ายรัฐที่ทำกันอยู่มานานแล้วภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดจ้าง ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงปลัดบัญชีกองทัพบกว่าการจ้างผลิตปิโตรเลียมเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น หาก พล.อ.อนันตพร ไม่มีความสามารถพอที่จะดำเนินการจ้างผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในประเทศไทยได้ ก็สมควรที่จะพิจารณาตัวเองว่า ยังมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไปได้หรือไม่

ประการที่ 5 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างว่าจะมีระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยไม่กำหนดให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ถือครองและบริหารทรัพย์สินปิโตรเลียมด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้มีเจตนาที่จะไม่ให้เกิดระบบจ้างผลิตอย่างแท้จริงเสียตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะในระบบจ้างผลิตนั้น ปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ บริหารโดยรัฐ และรัฐเป็นผู้ขายปิโตรเลียมทั้งหมดโดยผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และเอกชนอื่นใดจะขายปิโตรเลียมแทนรัฐไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงระบุว่า จะไม่ใช้ระบบจ้างผลิต แม้แต่กับแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ซึ่งมีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมสูงสุดของประเทศไทย ในปัจจุบัน เพราะมีเจตนาไม่ต้องการให้รัฐขายปิโตรเลียมด้วยตนเองใช่หรือไม่ จึงเหลือเพียงระบบที่อ้างว่าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อต้องการให้เอกชนผู้ได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียม เป็นผู้ขายปิโตรเลียมแทนรัฐเสียก่อน จึงค่อยแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐในภายหลัง การกระทำเช่นนี้จึงไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่รัฐถือครองกรรมสิทธิ์ บริหารปิโตรเลียม และขายปิโตรเลียมด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง แต่กลับปล่อยให้เอกชนผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมสามารถใช้ช่องว่างนี้ ขายปิโตรเลียมผ่านบริษัทลูก หรือบริษัทในเครือของตนเอง ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลบเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่รัฐได้

ดังนั้น การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตตามร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น ไม่ใช่ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” ที่รัฐเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมด แล้วจึงแบ่งปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้เอกชนตามหลักการมาตรฐานสากล แต่กลับกลายเป็น “ระบบแบ่งปันผลประโยชน์” ที่ต้องพึ่งพาฝากให้เอกชนขายปิโตรเลียมแทนรัฐ แล้วรัฐจึงคอยรับผลประโยชน์ที่เอกชนจะแบ่งให้ นี่คือจุดอ่อนลักษณะเดียวกันกับระบบสัมปทานเดิม เปรียบเสมือนเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่มีหลักประกันในการสร้างผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ทั้งยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้อย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านี้ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีการระบุถึงการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้นระบบแบ่งปันผลผลิตภายใต้ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน จึงเป็นการอำพรางและถูกบิดเบือนกลายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่คล้ายคลึงกับระบบสัมปทานเดิมเป็นอย่างมาก เพราะปิโตรเลียมที่ผลิตได้มานั้นอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์การบริหารจัดการของเอกชน ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเรียกร้องวิธีการประมูลแข่งขันในการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเป็นสากล ดังต่อไปนี้ 1. จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียม ให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส และตรวจสอบได้ จากทุกภาคส่วน ภายใน 6 เดือน 2. ให้ยุติแนวทางการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชตามแนวทางของกระทรวงพลังงาน เพราะทั้งสองแหล่งปิโตรเลียมนี้ มีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน และเพื่อป้องกันในการวางเงื่อนไขหรือล็อคสเปค เพื่อกีดกันทำให้ไม่มีผู้เข้าแข่งขันประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต อันนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยึดยุทธศาสตร์นำแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติของผู้รับสัมปทานเอกชนเกือบครึ่งศตวรรษ ให้กลับคืนมาเป็นของชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยให้จัดการประมูลแข่งขันด้วยระบบจ้างผลิต เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างผลิตที่เสนอค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำสุดในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อรัฐจะสามารถถ่ายโอนการดำเนินการการผลิตได้ทันทีนับแต่วันที่ได้ผู้รับจ้างผลิต และสามารถดำเนินการได้เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานของรายเดิม

3. ให้รัฐบาลร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดเผยเนื้อหาและทำประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ภาคประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมอย่างเต็มที่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามข้อ 1, 2 และ 3 เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณและบงกชให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทวงคืนอธิปไตยด้านพลังงานกลับคืนมาเป็นของชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง









กำลังโหลดความคิดเห็น