xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์ “คปพ.” เตรียมเข้าชื่อเสนอกฎหมายประกบคู่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ครม.ชะลอนำ “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม-พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม” เข้าสู่ สนช. จนกว่าจะแก้ไขเรื่องจัดตั้งบรรษัทพลังงาน-กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน โปร่งใส ให้เสร็จก่อน เผยเตรียมเข้าชื่อประชาชนมากกว่า 1 หมื่นคน เสนอกฎหมายประกบคู่ไปกับร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมของรัฐบาล โดยนัดหมายให้มีผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายดังกล่าว พร้อมพี่น้องประชาชนไม่น้อยกว่า 20 ราย ยื่นเรื่องต่อ ปธ.สนช. 23 มิ.ย.นี้ เวลา 10 โมงเช้า ที่รัฐสภา

วันนี้ (19 มิ.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2559 เรื่อง ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานอำพรางเนื้อหาสัมปทานระบบเดิม ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนในการปกป้องและรักษาอธิปไตยพลังงานไทย มีรายละเอียดว่า

“ตามที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันอังคารที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ดังที่ทราบแล้วนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีจุดยืนดังต่อไปนี้

๑. การที่รัฐชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ ๒๑ ออกไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เพราะยอมทำตามภาคประชาชนที่ขอให้เพิ่มทางเลือกระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตเข้าไปในการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง ต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานใช้เวลาปีกว่าในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมไทย โดยอ้างว่าได้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตไว้ในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมแล้ว แต่ความจริงกลับกลายเป็นการอำพรางหลักการกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่เป็นไปตามระบบสัมปทานเดิม กล่าวคือ แม้ระบุว่า “กรรมสทิธิ์ปิโตรเลยีม” เป็นของรัฐ แต่กฎหมายเปิดช่องให้เอกชนสามารถนำปิโตรเลียมออกจากพื้นที่แปลงปิโตรเลียมโดยยังมิได้เสียค่าภาคหลวง และสามารถนำไปขายได้ทั้งจำนวน ส่วนรัฐจะทำหน้าที่รอรับผลประโยชน์เมื่อเอกชนขายได้เท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับระบบสัมปทาน ดังนั้น การอ้างว่าร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมครั้งนี้ เป็นการเพิ่มทางเลือกระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตเข้าไปนั้น แท้จริงแล้วมิได้เป็นการเพิ่มทางเลือกแต่ประการใดเลย หากแต่เป็นเพียงการอำพรางเพื่อนำไปอ้างให้ประชาชนตายใจเท่านั้น ว่า ได้แก้กฎหมายตามที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว ดังจะเห็นว่า สิทธิในการบริหารและขายปิโตรเลียมยังคงตกอยู่ในมือเอกชนอยู่เช่นเดิม เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า กระทรวงพลังงานใช้เวลาตั้งปีกว่าที่ผ่านมา แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ยังไม่สามารถนำอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานกลับคืนมาให้ประเทศชาติอย่างแท้จริง

๒. การไม่จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และไม่กำหนดให้อยู่ในแผนตารางเวลาใด ๆ ของรัฐบาลว่าจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจะไม่มีองค์กรของรัฐที่มีความคล่องตัวพอที่จะสามารถถือกรรมสิทธิ์บริหาร และขายปิโตรเลียมที่รัฐพึงได้ในระบบที่อ้างว่าจะแบ่งปันผลผลิตนั้น ตามความเป็นจริง รัฐก็จะทำได้เพียงแค่ฝากเอกชนขายให้ และจะรอรับผลประโยชน์ตามสัดส่วนเท่านั้น จึงเท่ากับยกอธิปไตยการขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้เอกชน และรัฐจะอ่อนแอในการตรวจนับปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้เหมือนกับระบบสัมปทาน เพราะรัฐจะเป็นฝ่ายรอให้เอกชนรายงานเม็ดเงินที่ขายได้แล้วอย่างเดียวเป็นหลัก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติทำหน้าที่บริหารและขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ด้วยตัวเองแต่ประการใด ในระบบที่อ้างว่าจะมีระบบจ้างผลิตเป็นทางเลือกในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมด้วยนั้น เมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะในระบบจ้างผลิตนั้น รัฐจะต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บริหาร และขายปิโตรเลียมเองทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเอกชนคู่สัญญาจะไม่มีหน้าที่ขายปิโตรเลียมแทนรัฐ และเอกชนจะรับเพียงค่าจ้างผลิตเท่านั้น ระบบสัญญาจ้างผลิตจึงไม่สามารถหลบเลี่ยงฝากเอกชนขายปิโตรเลียมแทนรัฐได้ ด้วยเหตุนี้การไม่จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมารองรับ จะทำให้ไม่สามารถใช้ระบบสัญญาจ้างผลิตได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้น ระบบจ้างผลิตในร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงาน จึงเป็นทางเลือกที่เลื่อนลอย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง บทพิสูจน์ที่สำคัญ คือ คำสัมภาษณ์ของ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ กล่าวยอมรับว่า จะไม่ใช้ระบบจ้างผลิตกับแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ คือ แหล่งเอราวัณ และบงกช เพราะมีความยุ่งยากนั้น แท้ที่จริงก็เพราะไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารองรับในพระราชบัญญัติปิโตรเลียมนั่นเอง ถ้าขนาดแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งรู้กันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีศักยภาพ และปริมาณปิโตรเลียมสูงที่สุดในประเทศไทย รัฐบาลยังไม่สามารถนำกลับคืนมาเป็นของรัฐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้วใช้ระบบจ้างผลิตได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ข้ออ้างมีทางเลือกระบบจ้างผลิตในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นและปฏิบัติได้จริงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย และนั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถนำอธิปไตยในแหล่งปิโตรเลียมที่รอคอยการหมดอายุสัมปทานเกือบครึ่งศตวรรษกลับคืนมาเป็นของชาติได้เลยไม่ว่าในวันนี้และในวันข้างหน้า

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าให้ไปศึกษาข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และหากผลการศึกษาเห็นว่า มีความจำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็ให้มาแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังนั้น นั่นย่อมแสดงว่า ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น ยังขาดความสมบูรณ์ เพราะขาดการศึกษาอย่างรอบด้านในหลักการสำคัญถ้าเป็นเช่นนั้นคณะรัฐมนตรีจะมีความชอบธรรมในการส่งร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานเพื่อขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อย่างไร เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม มีตารางเวลาชัดเจนที่จะนำไปสู่การให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ แต่คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้ศึกษาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ กลับไม่ได้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเหตุการณ์เยี่ยงนี้อาจทำให้รัฐบาลถูกประชาชนมองด้วยความเคลือบแคลงสงสัย ว่า ไม่มีความจริงใจในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ใช้วิธีอ้างบ่ายเบี่ยง ว่า ให้ไปศึกษาข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพียงเพื่อลดกระแสคัดค้านและชะลอเวลาเท่านั้น ดังจะเห็นว่าขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่ปราศจากบรรษัทพลังงานแห่งชาติกลับยังคงเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่

๓. การที่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า เงื่อนไขใดจะใช้ระบบสัมปทาน เงื่อนไขใดจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และเงื่อนไขใดจะใช้ระบบจ้างผลิต อาจทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจในการเลือกระบบโดยคณะบุคคลเพียงไม่กี่คนตามเงื่อนไขที่ตั้งธงขึ้นมาเอง หรือเลือกตามอำเภอใจ หรือแม้กระท่ังอาจเลือกระบบใดระบบหน่ึงด้วยแรงจูงใจในผลประโยชน์ส่วนตนก็ได้ ดังนั้น ทางเลือกระบบที่บัญญัติในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ก็อาจไม่ได้ถูกเลือกใช้จริงตามที่ควรจะเป็น ดังที่เกิดตัวอย่างมาแล้วว่าจะไม่ใช้ระบบจ้างผลิตกับแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนในวิธีประมูลก็อาจเกิดการประมูลในลักษณะการใช้ดุลพินิจให้คะแนนเนื้องานเป็นตัวชี้ขาดในการได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียม เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในระบบสัมปทานปิโตรเลียม ๒๐ รอบที่ผ่านมา ในความเป็นจริงแล้วหากรัฐบาลคำนึงถึงผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิต ก็ควรมีความชัดเจนกำหนดเนื้องานขั้นต่ำท่ีรัฐต้องการ ควบคู่ไปกับการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของผู้เข้าประมูล แล้วจึงให้ผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเงื่อนไขชี้ขาด

เหมือนกับการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือในระบบ 4G แต่ไม่มีการบัญญัติวิธีการประมูลลักษณะดังกล่าวในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมแต่ประการใด การมีทางเลือกระบบการผลิตปิโตรเลียมยิ่งมาก แต่กลับไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในวิธีการเลือกระบบ ตลอดจนไม่มีความชัดเจนในวิธีการประมูล ก็ยิ่งมีหัวข้อและประเด็นที่ต้องใช้ดุลพินิจได้มากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเกิดผลดีกับประเทศ อาจเกิดความเสียหายและอันตรายต่อประเทศชาติในอนาคต เพราะมีช่องโหว่ทำให้อาจจะเกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงยิ่งกว่าเดิมได้

๔. ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ มิได้แก้ไขให้ครบถ้วนตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิ โตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ อีกทังยังมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงและกีดกันการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของภาคประชาชนมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังปิดกันข่าวสารข้อมูลอยู่เนือง ๆ ตัวอย่างเช่น ปกปิดร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับ ไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาเกิน ๑ สัปดาห์แล้วก็ตาม แม้กระทั่งแผนงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก็ปราศจากกระบวนการประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติเป็นเดิมพัน มีผลกระทบในวงกว้างและประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ได้เคยเขียนหนังสือด้วยลายมือตัวเองให้กับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ความว่า “ทราบ/เห็นชอบ/ให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใส/เป็นธรรม

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

๑. ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชะลอการส่งร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน จนกว่าจะได้ผลสรุปผลการศึกษา และแก้ไขกฎหมายเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่ากรรมสิทธิ์การบริหาร และสิทธิการขายปิโตรเลียมในส่วนที่รัฐจะพึงได้นั้นจะตกเป็นของรัฐที่จะสามารถสร้างอธิปไตยและอิสรภาพด้านราคาในปิโตรเลียมของรัฐได้อย่างแท้จริง

๒. ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงาน ให้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลือกระบบการผลิตปิโตรเลียม และวิธีการประมูล ให้มีความชัดเจน โปร่งใสในการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อปิดช่องโหว่การใช้ดุลพินิจอันอาจจะนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงในอนาคต และให้แก้ไขกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับให้ครบถ้วนในทุกประเด็นตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิ โตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียก่อน

๓. ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะที่ได้เคยรับรองรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ อย่าได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเมื่อร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ของกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปอย่างไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญตามรายงานผลการศึกษาดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ควรจะปฏิเสธไม่รับรองกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวด้วยเช่นกัน และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอเป็นกำลังใจให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนในการยืนหยัดการแก้ ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เคยรับรองเอาไว้แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

๔. อาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับช่ัวคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๗ ในฐานะปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยตามมาตรา ๓ และได้รับความคุ้มครองสิทธิที่เคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา ๔ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะดำเนินการให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ รายชื่อ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเป็นกฎหมายประกบคู่ไปกับร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมของรัฐบาล ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ จะนัดหมายให้มีผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายดังกล่าว พร้อมพี่น้องประชาชนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ยื่นเรื่องต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่รัฐสภา และขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้รักชาติและสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมตามวันและเวลาดังกล่าว”








กำลังโหลดความคิดเห็น