xs
xsm
sm
md
lg

"หมากบังคับที่ต้องตัดสินใจด้านปิโตรเลียม" รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะสร้างประวัติศาสตร์ หรือ ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลาน !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในบรรดาที่หลายคนคาดหวังเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และฝากความหวังไว้กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ส่วนประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องการปฏิรูปและทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามาถทำได้ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ก็คือ "นโยบายด้านปิโตรเลียม" และวาระที่ต้องตัดสินใจในทางใดทางหนึ่งก็เป็น "หมากบังคับให้ต้องตัดสินใจ" รอคิวอยู่ข้างหน้า 2 เรื่องสำคัญ

เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องการทวงคืนท่อก๊าซธรรมชาติ ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติให้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศด้วยการยื่นหนังสือต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เกิดการบังคับคดีที่ถูกต้องในการคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน หรือไม่?

เรื่องที่สองคือวาระที่ต้องตัดสินใจในแหล่งปิโตรเลียมสำคัญที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงของแหล่งเอราวัณในปี 2565 และ แหล่งบงกชในปี 2566 ว่าจะนำแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งนั้น กลับคืนมาเป็นทรัพย์สินของชาติได้หรือไม่?

ทั้ง 2 เรื่องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศ และบังเอิญทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องมาถึงวาระที่ต้องทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องตัดสินใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และขอย้ำว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะผูกพันอนาคตของประเทศไปอีกหลายสิบปี ซึ่งหากวางบรรทัดฐานให้ดีก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติ กลายเป็นเกราะคุ้มกันผลประโยชน์ของชาติในอนาคต หากทำไม่ดีก็อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้นักการเมืองที่หวังจะกอบโกยเอาไปเป็นตัวอย่างในการฉ้อราษฎร์บังหลวงทำมาหากินไปชั่วลูกหลาน

สำหรับเรื่องท่อก๊าซธรรมชาตินั้นได้เข้าสู่ "หมากบังคับให้ต้องตัดสินใจ" ก็เพราะ มติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นั้น มีผลบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ในมาตรา 44 ที่คณะรัฐมนตรีจะต้องแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน และถ้า "นิ่งเฉย" ไม่ปฏิบัติใดๆ ก็อาจเข้าข่ายว่าคณะรัฐมนตรีกระทำผิดวินัยตามมาตรา 63 อีกทั้งอาจถูกดำเนินคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกด้วย

ดังนั้นภายหลังจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์แล้ว ก็จะทำให้เราได้รับรู้ภายใน 60 วันว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา จะมาเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวผู้มาทวงทรัพย์สินของชาติกลับคืนมาเป็นของรัฐได้สำเร็จ หรือเป็นจำเลยคณะใหม่ที่จะแทงกั๊ก นิ่งเฉย หรือไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ

ถึงเวลานั้นก็จะทำให้คนไทยทั้งประเทศก็จะได้เห็นเสียทีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจริงใจเข้าสู่อำนาจมาปฏิรูปประเทศ หรือ เข้าสู่อำนาจมาเพียงเพื่อเป็นคณะสมบัติผลัดกันชม (คสช.)เหมือนนักการเมืองดาษดื่นทั่วไป

ประเด็นเรื่องท่อก๊าซนี้มีความสำคัญก็เพราะว่า "ท่อก๊าซ" เป็นทรัพย์สินที่ทำให้เกิดการผูกขาดการจำหน่ายก๊าซตามธรรมชาติ เพราะมีท่อก๊าซจึงสามารถส่งก๊าซธรรมชาติจากปากหลุมในแหล่งปิโตรเลียมไปยังโรงแยกก๊าซได้

และ "ค่าผ่านท่อก๊าซ" ก็เป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน มาเป็นพลังงานในรถยนต์ เป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังนั้นหากตกอยู่ในมือของกิจการที่มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น ผู้ที่ใช้ก๊าซหุงต้มทั้งหมดก็อาจต้องได้รับผลกระทบไปด้วย จริงหรือไม่?

คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในวุฒิสภา ได้เคยออกเอกสารเผยแพร่สำหรับประชาชนเรื่อง "พลังงานไทย...พลังงานใคร?" เนื้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับท่อขนส่งก๊าซความตอนหนึ่งว่า ซึ่งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ควรตอบคำถามว่า จริงหรือไม่? ที่ว่า:

"ว่าไปแล้วการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ "บมจ.ปตท." ในปัจจุบันยังเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจโรงแยกก๊าซ ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวี และธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย "บมจ.ปตท." ยังได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกโอนไปจากภาครัฐ เมื่อตอนแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยด้วย

นั่นคือ "กำไร" จากท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างจากเงินภาษีของพวกเราคนไทยในช่วงก่อนการแปรรูปเมื่อเดือนธันวาคม 2544

ก็ค่าไฟฟ้าไงล่ะ!!!

รูไหมว่าเราต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล อันเนื่องมาจากมีการคิด "ค่าผ่านท่อ" เพิ่มขึ้นจากท่อส่งก๊าซ เป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ "บมจ.ปตท."คืนให้แก่รัฐ

แต่นอกจาก "บมจ. ปตท." จะยังคืนไม่ครบถ้วนแล้ว ยังเอาท่อก๊าซที่ตัดค่าใช้จ่ายทางบัญชีหมดแล้วมาตีมูลค่าใหม่ เพราะประเมินว่ามีอายุใช้งานเพิ่มขึ้น 25 ปี ทำให้สามารถคิดค่าผ่านท่อเพิ่มเข้าไป ทำให้ราคาขายของก๊าซเพิ่มขึ้น มีผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น...

รู้หรือเปล่าว่า ค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้นทำให้ "บมจ.ปตท."ได้เงินเพิ่มทันทีเฉพาะในปี 2552 ปีเดียวจำนวน 2,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ด้วยคำสั่งศาลที่ให้ "บมจ.ปตท." คืนทรัพย์สินให้รัฐ ซึ่งคือท่อชุดเดียวกันนี้ "บมจ.ปตท." ต้องจ่ายเงินชดเชยที่เอาก๊าซไปใช้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายในเวลา 6 ปี ด้วยมูลค่าเพียง 1,335 ล้านบาท ดูสิ เอาของหลวงไปใช้ 6 ปี แต่เอาของหลวงมาทำมาหากินได้เงินคืนทันที 2,000 ล้านบาทใน 1 ปี"

ความสำคัญของมูลค่าผ่านท่อที่กระทบต่อประชาชนเป็นอย่างไรนั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เคยเขียนบทความเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ในหัวข้อเรื่อง "อย่าทำผิดให้เป็นถูก และอย่าโมเมเรื่องหลักการให้กลายเป็นเรื่องหยุมหยิม" ซึ่งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ควรต้องตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลสำคัญว่าเป็นความจริงหรือไม่? ที่ว่า:

"ลองดูตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างค่าเช่าท่อที่รัฐได้คืนมาบางส่วนประมาณ 30% หลังจากคำพิพากษา หน่วยงราชการเรียกเพียงค่าเช่าย้อนหลัง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2550 ด้วยเงินเพียง 1,597 ล้านบาท แต่ในระยะ 6 ปี ที่ บมจ.ปตท. ได้ท่อไปใช้ ได้เก็บค่าผ่านท่อจากประชาชนทั้งประเทศเป็นเงิน 128,086 ล้านบาท...

ตลอด 12 ปี (2544-2556) บมจ.ปตท. ได้ค่าผ่านท่อไปรวม 295,074 ล้านบาท แต่จ่ายค่าเช่าให้รัฐเพียง 4,897 ล้านบาท มูลค่าที่ประชาชนต้องจ่ายขนาดนี้เรียกว่าเรื่องหยุมหยิมหรือ?"

ส่วนเรื่องที่สองที่เกี่ยวกับแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของประเทศคือ เอราวัณ และบงกช ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ากำลังจะหมดอายุลงในปี พ.ศ. 2565 และปี พ.ศ. 2566 นั้น ต้องฝากความหวังเอาไว้ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เพียงคนเดียว

วันที่ 18 เมษายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีท่าทีขึงขังโดยประกาศเอาไว้ว่าแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุลงนั้นจะต้องใช้วิธีการประมูล ถึงขนาดให้เหตุผลในการสัมภาษณ์ว่า :

"ถ้าไม่เปิดประมูลก็ถูกมองว่าฮั้วอีก และเราอาจใช้วิธีเชิญผู้รับจ้างผลิตคุยก็ได้"

แต่จะเป็นเหตุผลใดก็ไม่ทราบวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กลับให้สัมภาษณ์กลับกันว่า "จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)พิจารณาให้เจรจารายเก่าก่อนเปิดประมูลรายใหม่" แถมด้วยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เมื่อทราบผลการพิจารณาของ กพช.แล้ว พลเอกอนันตพร กลับพูดเรื่องการจ้างผลิตว่า "การเปิดประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะไม่ใช่แนวทางรับจ้างผลิตเพราะค่อนข้างยุ่งยาก"

คำถามมีอยู่ว่า ตกลงจริงๆแล้ว สิ่งที่พลเอกอนันตพรให้สัมภาษณ์วันที่ 18 เมษายน 2559 นั้น เป็นความคิดที่ต้องการเช่นนั้นจริงๆแล้วเปลี่ยนใจ หรือเป็นเพียงเทคนิคเรียกร้องความสนใจจากใครหรือไม่?

จึงน่าเชื่อได้ว่าคนที่สั่งเบรก แล้วเปลี่ยนให้ใช้วิธีการประมูลเพื่อความโปร่งใสก็น่าจะเป็นคนที่มีอำนาจเหนือพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ นั่นก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่?

แต่ไม่ทราบใครเป็นคนเขียนและสรุปมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหลังจากนั้น เพราะทำให้เกิดความคลุมเครือและน่าสงสัยหลายประการ เพราะจากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ในหัวข้อ แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 เขียนเอาไว้ว่า

"ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 โดยให้คัดเลือกผู้ดำเนินการโดยให้มีการประมูลแข่งขัน"ยื่นข้อเสนอ"เป็นการทั่วไปล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุ ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี"

ข้อความนี้มีความแปลกประหลาดเพราะมีความคลุมเครืออยู่มาก เพราะแทนที่จะใช้ก่าร "แข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐ" หรือ "แข่งขันค่าจ้างผลิต" ซึ่งมีตัวตัดสินเป็นตัวเงินโดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจที่เปิดช่องทำให้เกิดความไม่โปร่งใส แต่กลับใช้คำว่า "ยื่นข้อเสนอ" !!!?

คำสัมภาษณ์ของพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์หลังมติ กพช.นั้น มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยอยู่หลายประการสรุปได้ดังนี้

1. ที่ว่าจะประมูลปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงนั้น มีความคลุมเครือว่าประมูลระบบไหน ประมูลยื่นข้อเสนอเป็นปริมาณเนื้องานหรือคุณสมบัติเหมือนระบบสัมปทานเดิม แล้วตัดสินด้วยการให้คะแนนโดยใช้ดุลพินิจของคนไม่กี่คน หรือประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือประมูลค่ารับจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำสุดในระบบจ้างผลิต จึงวางใจไม่ได้กับคำว่า"ประมูลที่คลุมเครือ"นี้ ว่าจะมีความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติได้จริง

2. การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเปิดประมูลแล้วไม่มีผู้เข้าแข่งขัน จะหันกลับไปเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่มีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือผู้รับสัมปทานรายเดิมเกิดแรงจูงใจล็อกสเปกทำให้ไม่มีผู้เข้าแข่งขันได้ จริงหรือไม่?

3. การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ในลักษณะข่มขู่ว่าถ้าไม่ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมผลิตปิโตรเลียมต่อไป ก็จะทำให้เอกชนทยอยลดกำลังการผลิตลง จนก๊าซในประเทศอาจไม่เพียงพอและส่งผลทำให้อาจต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้น ดังนั้นผู้คัดค้านและประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกันนั้น คำถามที่ตามมาจึงมีอยู่ว่า

ถ้าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ก็ต้องตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีว่ามีเจตนาจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมาย ให้ผู้รับสัมปทานรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมตาม พรบ.ปิโตรเลียมมาตรา 52 ทวิ วรรคสาม และวรรคสี่ หรือไม่ !!!

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นสำคัญ จะให้ประชาชนหรือผู้คัดค้านการเจรจาต่อรองแบบไม่โปร่งใสรับผิดชอบแทนรัฐมนตรีที่ละเว้นไม่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ จริงหรือไม่?

และข้อสำคัญเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)ได้เคยเสนอหลายวิธีการทำให้การผลิตปิโตรเลียมไม่สะดุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตใน 5 แปลงในอ่าวไทย แล้วสร้างเงื่อนไขเพื่อใช้ต่อรองกับผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกชเพื่อยอมให้มีการผลิตปิโตรเลียมช่วงรอยต่อโดยผู้ชนะประมูลรายใหม่ในแหล่งเอราวัณและบงกช รวมถึงวิธีการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยย้ายมาผลิตไฟฟ้าช่วงเปลี่ยนผ่านแทนการส่งให้ปิโตรเคมี การเร่งผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสารพัดวิธีที่สามารถเจรจาต่อรอง ตั้งกองทุนระดมทุนเพื่อทำให้เกิดการผลิตต่อเนื่องในแหล่งเอราวัณและบงกชได้อย่างแน่นอน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวพลังงาน ไม่สนใจเอง หรือคิไม่ได้ใช่หรือไม่?

ดังนั้นถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่มีแผนงานวิธีการ ที่ทำให้เกิดการประมูลแข่งขันตัวเงินควบคู่ไปกับวิธีการทำให้เกิดความต่อเนื่องได้ มัวแต่ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาที่มีลักษณะข่มขู่ประชาชนโดยไม่มีทางออก ก็ย่อมเกิดคำถามว่า...

"พลเอกอนันพร กาญจนรัตน์ ยังมีความสามารถที่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไปหรือไม่?"

4. การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่า การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชจะไม่ใช้ระบบรับจ้างผลิตเพราะมีความยุ่งยาก ทั้งๆที่ 2 แหล่งนี้มีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมสูงสุดในประเทศไทย ถ้าขนาด 2 แหล่งที่มีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมสูงสุดในประเทศไทยนี้ยังทำระบบจ้างผลิตไม่ได้ แปลว่าจะไม่มีแหล่งไหนในประเทศไทยที่มีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมน้อยกว่า 2 แหล่งนี้จะใช้ระบบจ้างผลิตได้เลย จริงหรือไม่?

ดังนั้นการแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงานที่อ้างว่าจะมีการเพิ่มระบบจ้างผลิตนั้น จึงเป็นเพียงการอำพรางเพื่อให้ประชาชนสบายใจว่าได้เพิ่มระบบการจ้างผลิตในกฎหมายใหม่ตามข้อเรียกร้องของประชาชนแล้วเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจะไม่มีการใช้ระบบจ้างผลิตในทางปฏิบัติเลย ใช่หรือไม่?

5. การไม่จัดตั้งบรรษัทแห่งชาติคือสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้ไม่สามารถใช้ระบบจ้างผลิตได้ใช่หรือไม่ เพราะในระบบจ้างผลิตรัฐต้องเป็นคนถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียมเองด้วยตัวเองทั้ง 100% ผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่สามารถใช้ระบบจ้างผลิต ใช่หรือไม่?

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตที่อ้างว่าจะนำมาใช้ แต่เมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมแล้วมา "แบ่งปิโตรเลียม"ให้เอกชนตามระบบแบ่งปันผลผลิตในมาตรฐานสากล ระบบที่อ้างชื่อว่าเป็น "ระบบแบ่งปันผลิต"ตามร่างแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ก็จะกลับกลายเป็น "ระบบแบ่งปันผลประโยชน์" ที่จะพึ่งพาฝากให้เอกชนขายปิโตรเลียมแทนรัฐก่อน ตามแต่ราคาขายที่เอกชนจะขายได้ แล้วรัฐคอยให้เอกชน "แบ่งเงิน"ให้รัฐในภายหลัง จึงเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเพียงแค่ชื่อเรียกเท่านั้น เพราะเนื้อหาแท้ที่จริงคือระบบแบ่งปันผลประโยชน์คล้ายคลึงกับจุดอ่อนของระบบสัมปทานเดิมนั่นเอง

ก่อนจะถึง "หมากบังคับให้ต้องตัดสินใจ"ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องปิโตรเลียม ก็อาจจะมีประเด็นคำถามให้ชวนคิดว่า หรือว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับคณะรัฐมนตรี และหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่จะมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์การปฏิรูปปิโตรเลียมแทนรัฐมนตรีคนปัจจุบันแล้วหรือไม่ !!!?


กำลังโหลดความคิดเห็น