xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ชุมนุมหน้ารัฐสภา เกาะติดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรฯ ล่าชื่อชงร่าง ปชช.ประกบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” นำ คปพ.ชุมนุมหน้ารัฐสภาตามนัด เกาะติด สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรฯ 2 ฉบับ หวังคว่ำร่างตามที่ร้องขอ พร้อมตั้งโต๊ะล่าหมื่นรายชื่อเพื่อชงร่างของประชาชน ย้ำร่าง ก.พลังงาน เสี่ยงหากได้รัฐบาลทุจริต ใช้หลักตามอำเภอใจ ไม่โปร่งใส ข้องใจเอื้อประโยชน์ใคร ย้อนรัฐยังดึงดัน ถือว่าไม่ฟังเสียงประชาชน เผยยังหาทางดำเนินการต่อแม้รับหลักการ



วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น. กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ร่วมร้อยคน นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำกลุ่มฯ มาร่วมชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาฝั่งเขาดิน เพื่อรอฟังผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะการลงมติรับหลักการวาระ 1 ในวันนี้

ทั้งนี้ นายปานเทพกล่าวว่า พวกคนมาหน้ารัฐสภาเพื่อติดตามผลการลงมติของ สนช. หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการและขอให้ระงับการพิจารณาไว้ก่อน ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัยรองประธานสนช.ไปเมื่อวานนี้ (24) หวังว่าวันนี้จะมีข่าวดีที่สนช.จะไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับตามที่เราร้องขอและมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการปิโตรเลียมของประชาชน หากได้ครบจำนวนแล้วก็จะยื่นต่อประธาน สนช.เพื่อดำเนินการนำเข้าวาระพิจารณาในสภาต่อไป

นายปานเพทกล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงพลังงาน ครม.จะมีการปรับเนื้อหาบางส่วนแล้วก็ตามแต่ก็ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดเลือกระบบไหน เพราะอะไร ดังนั้นจึงต้องใช้คณะกรรมการนโยบายพลังงานตัดสินตามอำเภอใจ เราห่วงว่าหากวางรากฐานอย่างนี้ต่อไปในอนาคต หากได้รัฐบาลดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง แต่หากได้รัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉลก็จะอันตรายอย่างยิ่ง ที่ตัวอย่างที่ชัดเจนคือหลักเกณฑ์กรณีเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน มีทรัพยากรอย่างชัดเจน มีปริมาณปิโตรเลียมใต้ดินชัดเจนแล้ว มีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่จะตกเป็นของรัฐนับแสนล้านบาท ควรจะต้องให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ และจ้างเอกชนผลิตงานให้ในระบบจ้างผลิต แต่เมื่อให้ใช้หลักเกณฑ์ตามอำเภอใจเช่นนี้จะทำให้กระทรวงพลังงานอาศัยช่องว่างของกฎหมายไม่จ้างผลิต แต่จะใช้ระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิต และไม่รู้ว่าจะมีการประมูลหรือเปล่า ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ส่อไปในทางไม่โปร่งใสและเป็นธรรม จะปล่อยให้ออกมาทำไม

“เมื่อปีที่แล้วเกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส นายกรัฐมนตรีให้ สปช.ตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาจนได้ผลสรุป ผ่านมา 1 ปี กระทรวงพลังงานชิงเสนอร่างกฎหมายเข้า ครม.โดยไม่แคร์อะไรเลย สร้างความเคลือบแคลงว่าผลประโยชน์จะได้กับใคร อย่างนี้ประชาชนจะเชื่อใจได้อย่างไร และวันนี้ซึ่งเป็นสำคัญที่ ร.7 สละราชสมบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้อำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน หากรัฏฐาธิปัตย์ยังแสดงเจตนารมณ์ให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน ถือว่ารัฐบาลนี้ที่มี คสช.บริหารไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วจะหวังถึงอนาคตที่จะมีการเลือกตั้งใหม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม เราจะรอฟังผลการประชุมว่าเป็นอย่างไร หากมีมติรับหลักการ พวกเราก็จะประชุมกันเพื่อหาแนวทางดำเนินการขั้นต่อไป” นายปานเทพระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เริ่มพิจารณาวาระร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวรายงานหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ต่อที่ประชุม และจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังที่ สนช.มีมติด้วย
























กำลังโหลดความคิดเห็น