xs
xsm
sm
md
lg

ไร้ประโยชน์! คปพ.แจงไม่ร่วมแปรญัตติ 2 พ.ร.บ.เอื้อทุนพลังงาน จี้ถอนร่างฯ เสนอใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์(ภาพจากแฟ้ม)
“ปานเทพ” แจง คปพ.ไม่ร่วมประชุมแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน 2 ฉบับ หลัง สนช.ผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เหตุมีเนื้อหาขัดแย้งผลศึกษาของ สนช.เอง ไม่นำอธิปไตยด้านปิโตรเลียมกลับมาเป็นของรัฐ แค่แปรญัตติแก้ไขปลีกย่อยไม่มีประโยชน์ แนะเสนอรัฐบาลถอนร่าง แล้วเสนอใหม่ให้สอดคล้องผลศึกษาของ สนช.

วันนี้ (3 ส.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ชี้แจงกรณีไม่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแปรญัตติ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ซึ่งผ่านความเห็นชอบรับหลักการวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ดังนี้

1. เป็น พ.ร.บ.ที่ สนช.ลงมติเห็นชอบหลักการใหญ่ไปแล้ว โดยที่ไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช.เอง ส่งผลทำให้ อธิปไตยปิโตรเลียมไทยไม่สามารถกลับมาเป็นของรัฐไทย ไม่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนไม่ชัดเจนวิธีประมูลแข่งขัน ไม่แก้ไขให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในหลายมิติตามผลการศึกษา เมื่อปัญหาเกิดขึ้นที่การเห็นชอบในหลักการวาระที่ 1 จึงไม่สามารถมาแก้ไขด้วยการแปรญัตติปลีกย่อยในวาระที่ 2 อีกแล้ว คปพ.จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการโดยจะเข้าร่วมการประชุมแปรญัตติอีกแล้ว

2. เมื่อการเข้าร่วมประชุมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการใดๆ ได้ ด้วยเหตุผลนี้ที่ผ่านมา คปพ.จึงเรียกร้องการถ่ายทอดสดเพราะเล็งเห็นว่าอย่างน้อยก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชนให้รับรู้ความจริงโดยไม่ถูกบิดเบือน

3. ในขณะที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เดินตามผลการศึกษาของ สนช. อีกทั้งยังมีการทวงคืนอธิปไตยปิโตรเลียมกลับคืนมา มีความชัดเจนเรื่องเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในหลายมิติ ด้วยเหตุผลดังกล่าว คปพ.จึงเสนอทางออกต่อคณะกรรมาธิการฯ และ สนช.ให้

(3.1 หาหนทางเสนอต่อรัฐบาลให้ถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช.เอง (3.2 ในระหว่างการรอ ครม.พิจารณาถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คณะกรรมาธิการควรขยายระยะเวลาออกไปเพื่อรอพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมของภาคประชาชน (3.3 สนช.ควรแสดงความจริงใจ ฝ่าวิกฤตชาติ รวมตัว สนช.มากกว่า 25 คนเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งดำเนินการร่างกฎหมายจากผลการศึกษาของ สนช.เอง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา คปพ.ได้ทำหนังสือลงนามโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของ สนช. เพื่อชี้แจงถึงการไม่ร่วมประชุมกรรมาธิการฯ แล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
๒๖๖ ซอยเพชรเกษม ๖๓/๒ แขวงหลักสอง
เขตบางแค กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐



ที่ คปพ. ๐๕๒/๑๙-๒๕๕๙

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙

เรื่อง ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และข้อเสนอทางออกของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์)


อ้างถึง : หนังสือด่วนที่สุด ที่ สว.(สนช)(กมธ๓) ๐๐๑๙/๒๙๑๒ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

สิ่งที่ส่งมาด้วย : ร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. .... จัดทำโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เชิญหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี และคณะผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมทั้งสองฉบับตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอขอบพระคุณท่านที่ได้มีหนังสือเชิญมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ประชุมและมีมติร่วมกัน ว่าจะไม่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ด้วยจุดยืนและเหตุผลสำคัญว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการวาระที่ ๑ นั้น มิได้แก้ไขให้ถูกต้องตามหลักการอย่างครบถ้วนตามที่ปรากฏในรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ จึงส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ไม่ได้บัญญัติในหลักการสำคัญจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแปรญัตติ ดังต่อไปนี้


๑) ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อแก้ไขให้ประเทศสามารถนำอธิปไตยปิโตรเลียมไทยที่เสียไปเกือบ ๕๐ ปีในระบบสัมปทานแบบเดิมกลับคืนมาเป็นของรัฐไทยได้
เพราะยังคงให้เอกสิทธิ์ในการบริหารและการขายตกเป็นของเอกชนเหมือนระบบสัมปทานเดิม แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยอ้างว่าได้เพิ่มทางเลือกในระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐในการถือครองกรรมสิทธิ์ การบริหาร และการขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ แหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณในอ่าวไทยนั้น ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทย และกำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ พ.ศ. ๒๕๖๖ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องมีการตัดสินใจในวิธีการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมใน ๒ แหล่งนี้ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐ หากไม่มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนของรัฐในการถือกรรมสิทธิ์ การบริหาร และการขาย ของแหล่งปิโตรเลียมเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่บัดนี้ จะส่งผลทำให้อำนาจอธิปไตยในแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง ๒ แหล่งนี้ ตกอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารและการขายปิโตรเลียมของเอกชนไปอีกอย่างน้อย ๓๙ ปี โดยที่ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้เลย

แม้ต่อมาจะมีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นภายหลัง ก็จะเป็นเพียงการบริหารและการขายปิโตรเลียมแหล่งอื่นๆ ที่มีปริมาณปิโตรเลียมน้อยกว่า ๒ แหล่งนี้อย่างเทียบกันไม่ได้ บรรษัทพลังงานแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมานี้ จะไม่มีโอกาสกลับไปบริหารและขายปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช เป็นเวลาอย่างน้อยอีก ๓๙ ปี เพราะรัฐบาลได้ทำสัญญาให้สิทธิการบริหารและขายปิโตรเลียมให้แก่เอกชนไปก่อนการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสียแล้ว


๒) ในเนื้อหากฎหมาย ไม่ได้ระบุถึงเกณฑ์และวิธีการเลือกระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิต อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในวิธีการประมูลคัดเลือกเอกชนในการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพราะอยู่ภายใต้การตัดสินใจและ การใช้ดุลพินิจของคณะบุคคลเพียงไม่กี่คน
ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การเจรจาต่อรองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน อันอาจนำไปสู่การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่โดยมีกฎหมายรองรับ และไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเกิดการประมูลโดยให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐเป็นเกณฑ์การตัดสินชี้ขาดแทนการใช้ดุลพินิจให้คะแนน หรือเจรจาต่อรองในระบบสัมปทานแบบเดิม


๓) การไม่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ไม่ทำให้เกิดธรรมาภิบาล ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ของชาติสูงสุด
เช่น ไม่มีการแก้ไขเรื่องประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ไม่มีการแก้ไขเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการเอกชน ไม่มีการแก้ไขเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการแก้ไขเพื่อใช้อธิปไตยของศาลไทยแทนระบบอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฯลฯ

ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่าข้อบกพร่องทั้งหลายสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกฎหมายลูกเพื่อออกกฎกระทรวงนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การออกกฎหมายดังกล่าวจะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิงโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่ได้มีหลักประกันว่าจะทำให้เกิดความโปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ไขหลักการที่เป็นข้อบกพร่องสำคัญดังระบุไว้ข้างต้นแต่ประการใด

ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งเสนอโดยการรวบรวมรายชื่อของประชาชนไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ รายชื่อนั้น ได้ยึดหลักการตามผลรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ทำให้ร่างกฎหมายของประชาชนมีหลักการที่ครบถ้วนตามรายงานการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเห็นการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง โดยมีหลักการสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑)สามารถนำอธิปไตยปิโตรเลียมไทยกลับคืนมาเป็นของรัฐได้ โดยบัญญัติให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

๒)มีการกำหนดเกณฑ์และวิธีการในการเลือกระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต ไว้ในร่างกฎหมายอย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลคัดเลือกเอกชนให้เกิดการ แข่งขันอย่างเสรี มีความโปร่งใส โดยยึดเอาผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ เป็นหลักเกณฑ์ชี้ขาดในการประมูล

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบรับหลักการในวาระที่ ๑ ไปแล้วนั้น มีหลักการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และอีกทั้งยังไม่เป็นไปตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอง จึงไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหลักการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ด้วยการแปรญัตติรายมาตราปลีกย่อย ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ วาระที่ ๒ ได้เลย
และการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เชิญผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบในวาระที่ ๑ ไปแล้วนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหลักการใดๆ ได้อีกแล้ว จึงย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอปฏิเสธเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับ และขอวิงวอนเรียกร้องขอความร่วมมือจากท่านให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

๑) อาศัยอำนาจของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาหาหนทางเพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาทบทวนถอนร่าง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของรัฐบาล ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียก่อน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหลักการสำคัญให้ครบถ้วนตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และตามประเด็นที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ชี้แจงไว้ข้างต้น

๒)อาศัยอำนาจของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่านอื่นๆ ร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๕ คน ร่วมฝ่าวิกฤต และลดความขัดแย้งของบ้านเมืองในประเด็นการปฏิรูปพลังงานปิโตรเลียม เข้าชื่อเสนอกฎหมายปิโตรเลียมให้มีความสอดคล้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอเสนอให้พิจารณาใช้ ต้นร่างจากร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และมีประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๑๗,๐๐๐ รายชื่อแล้ว มาเป็นร่างกฎหมายเสนอความเห็นชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

(หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี) (นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)
ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)




กำลังโหลดความคิดเห็น