xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ขอดูความจริงใจนายกฯ ปฏิรูปพลังงาน เป็นตัวชี้วัดจะรับ-ไม่รับร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รสนา” ลั่นลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลพิสูจน์ความจริงใจว่าจะรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนมากกว่าความต้องการของกลุ่มทุนขุนนางหรือไม่ ด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับสัมปทานจำแลงทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของ สนช.

วันนี้ (3 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Rosana Tositrakul หัวข้อ “ลงประชามติอย่างไรขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาล คสช.” ตามข้อความดังนี้...

“โค้งสุดท้ายของการลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญสำหรับดิฉัน จะขอดูความจริงใจของรัฐบาล คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า รับฟังเสียงประชาชนมากน้อยเพียงใดเรื่องกฎหมายปิโตรเลียม และการปฏิรูปพลังงาน

ดิฉันเคยแสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับทุนขุนนาง ที่ให้ “ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่” ส่วนสิทธิของประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับบริการจากรัฐ มีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่มีสิทธิคัดค้านสิ่งที่รัฐทำ จึงไม่ต้องพูดถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการปฏิรูปบ้านเมืองในฐานะเจ้าของอธิปไตยดังที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

เพียงฉายารัฐธรรมนูญปราบโกง ก็ทำให้ผู้ที่เกลียดนักการเมืองพร้อมจะลงมติรับโดยไม่ต้องอ่านเนื้อใน

การโกงหรือใช้อำนาจในการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีความซับซ้อนที่ซ่อนตัวอยู่ในกลไกการบริหาร อยู่ในกระบวนการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาที่โกงได้หากขาดธรรมาภิบาล ขาดหลักความชอบธรรม ขาดหลักความสมเหตุสมผล ขาดการตรวจสอบที่ประชาชนมีส่วนร่วม

เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ความสำคัญอยู่ที่กระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบวาระ 5 ปีแรก หลังเลือกตั้งให้มี ส.ว.จากการสรรหาทั้งหมดโดย คสช. และมีคำถามพ่วงให้ ส.ว.สรรหามาเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย โดยอ้างว่าเพื่อสานต่อยุทธศาสตร์การปฏิรูป 20 ปี หลังเลือกตั้ง ออกแบบเช่นนี้ย่อมคาดหมายได้ว่า ส.ว.สรรหา โดย คสช.อาจจะมาจากผู้เป็น สนช. บางส่วนในปัจจุบัน และน่าจะคาดหมายผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้เลยว่าเป็นใคร?

รัฐบาล คสช. และ สนช. ที่หวังอาศัยการเข้าสู่อำนาจต่อไปตามการออกแบบของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรแสดงความจริงใจว่า การปฏิรูปหลังเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ฟังเสียงประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่

ถ้าวันที่ร่างรัฐธรรมนูญก่อนผ่านประชามติ ก็ยังไม่ฟังเสียงประชาชนเสียแล้ว ย่อมหวังได้ยากว่าเมื่อคนเหล่านี้ได้อำนาจแล้วจะฟังเสียงประชาชน หรือจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปแค่ไหนเพียงใด

กรณีการเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร การคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้ประเทศเสียเปรียบเสียก่อน ซึ่งทำให้ท่านนายกฯประยุทธ์สั่งให้เลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ 21 ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และมอบหมาย สนช.ศึกษาจุดอ่อนในกฎหมายดังกล่าว

แต่แล้วจู่ๆ ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เสนอ สนช.พิจารณาซึ่งมีการรวบรัดรับหลักการไปแล้วนั้นเป็นร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานที่ไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของ สนช. แต่อย่างใด การเขียนให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตในร่างแก้ไขนั้น ก็สักแต่ว่าเขียนอำพรางไว้โดยทางปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขาดกลไกบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% มารองรับระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนบริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย

ร่างกฎหมายที่เข้า สนช.เป็นร่างแก้ไขที่แก้ไขอย่างซ่อนเงื่อนเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงานมากกว่า โดยร่างแก้ไขนี้ยังเป็นระบบที่ยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้เอกชนต่อไปอีก 39 ปี ซึ่งรวมถึงแหล่งสัมปทาน 2 แหล่งใหญ่ คือ เอราวัณ และ บงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานและกฎหมายไม่ให้ต่อสัมปทานอีก ต้องนำกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศ แต่ร่างแก้ไขนั้นยังออกแบบให้ต่อสัมปทานแหล่งดังกล่าวได้อีก โดยอำพรางว่าจะใช้ระบบใหม่ที่บัญญัติไว้ในร่างแก้ไข

ประชาชนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าเหตุใดท่านนายกฯประยุทธ์ จึงเปลี่ยนท่าทีมาเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... 2 ฉบับที่ชงโดยกระทรวงพลังงาน ทั้งที่ขัดแย้งต่อผลการศึกษาของ สนช. อีกทั้งขัดต่อหลักความมีเหตุมีผลและขัดต่อเจตนาของประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร เหตุใดที่ความต้องการของกระทรวงพลังงานจึงมีอำนาจเหนือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี หรือว่าแท้ที่จริง เป็นอำนาจของกลุ่มทุนเอกชนด้านพลังงานต่างหากที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล คสช. ที่ทำให้ท่านนายกฯพร้อมหักกับประชาชน ใช่หรือไม่?

การเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ ... ฉบับของภาคประชาชน ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาชนทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศอีกหลายประเทศ เพียงเวลาเดือนเศษ มีผู้ส่งรายชื่อเข้ามาเกือบ 2 หมื่นรายชื่อ เป็นประจักษ์พยานว่าประชาชนได้แสดงการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

สมควรที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับสัมปทานจำแลงทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ได้แก้ไขจุดอ่อนที่ทำให้ประเทศเสียประโยชน์ ออกจากการพิจารณาของ สนช.

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับประชาชนที่ร่างขึ้นตามผลการศึกษาของ สนช. ที่มีประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนเกือบ 2 หมื่นรายชื่อจาก 77 จังหวัดนั้น สนช.ควรที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมของประชาชนเข้าสภา ซึ่งต้องการรายชื่อสมาชิก สนช.สนับสนุนเพียง 25 คนเท่านั้น

หากทำได้เช่นนี้จึงจะถือได้ว่าทั้งท่านนายกฯ และ สนช.มีความจริงใจที่จะปฏิรูปโดยรับฟังเสียงความต้องการของประชาชน มากกว่าความต้องการของกลุ่มทุนขุนนาง

บางคนประกาศรับรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการโหวตตรงข้ามกับนักการเมือง เพราะเชื่อว่าเมื่อนักการเมืองค้านแสดงว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดี?

สำหรับดิฉันและประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปนโยบายพลังงาน จะตัดสินใจ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจและความเห็นแก่ประโยชน์แห่งประเทศชาติของ คสช. ในประเด็นปฏิรูปพลังงานนี่แหละ”



กำลังโหลดความคิดเห็น