คปพ.ชุมนุมหน้าสภาเรียกร้อง “พรเพชร” ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้ทำประชาชนเสียประโยชน์ ไม่สอดคล้องกับผลศึกษา กมธ.ศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของ สนช. พร้อมยื่น 2 หมื่นชื่อเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับประชาชน "ปานเทพ" วิงวอนสนช.ทำหนังสือสังสัญญาณนายกฯถอนร่าง ชะลอลงมติวาระ 2 จนกว่าได้ข้อยุติ “สุรชัย” รับเรื่องแทน เตรียมนำเข้าวิปสนช.พิจารณา
ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา ฝั่งเขาดิน ถ.อู่ทองใน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. วันนี้ (4 ส.ค.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่าย คปพ. รวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับออกจากการพิจารณาของ สนช. พร้อมยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 2 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน
นายปานเทพกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช.ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียประโยชน์ อีกทั้งเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่ง สนช.ได้เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวแล้ว จึงขอให้ สนช.ยับยั้งไม่รับร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ เพราะจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยทางพลังงานไปถึง 39 ปี เพราะกรรมสิทธิ์การขายพลังงานอยู่ในมือเอกชน
ทั้งนี้ คปพ.จะยื่นรายชื่อประชาชนจากทั่วประเทศต่อนายพรเพชรโดยจะพยายามรวบรวมให้ถึง 2 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับประชาชน ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการปิโตรเลียมอย่างแท้จริง โดยขณะนี้รวบรวมได้แล้วกว่า 1.8 กว่าหมื่นรายชื่อ โดยขอให้นายพรเพชรออกมารับหนังสือจากประชาชน หากไม่ออกมารับหนังสือก็จะชุมนุมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดทางกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอขอให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือ แต่ทางกองรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาอนุญาตให้เข้าไปได้เพียง 30 คนเท่านั้น ซึ่งทางด้าน น.ส.รสนา และนายปานเทพ ยืนยันว่าหากสามารถนำประชาชนเข้าไปยื่นหนังสือได้ทั้งหมดก็จะไม่เดินทางกลับอย่างแน่นอน
ต่อมาเวลา 12.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เดินทางออกไปรับหนังสือบริเวณหน้ารัฐสภา โดยนายปานเทพ กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้ถือเป็นฉันทานุมัติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯขณะนี้ ซึ่งกฎหมายของร่างประชาชนเป็นร่างฯที่ยึดถือการศึกษาของร่างสนช.เอง ซึ่งเราได้รวบรวมรายชื่อด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของรัฐบาลในขณะที่เราทำตามผลของการศึกษา สนช. ตนทราบว่าสนช.มีข้อจำกัดที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเราทั้งหมดจึงขอวิงวอนสนช. 3 ข้อ คือ 1.ขอวิงวอนไปยังสมาชิกสนช.ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีและนายกฯ ด้วยหนทางหนทางหนึ่งเพื่อส่งสัญญาณไปยังนายกฯถอนร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่)พ.ศ.... และพ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่)พ.ศ.... ของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านความเห็นชอบในชั้นรับหลักการของสนช.เป็นทางเดียวเท่านั้น
2.พวกตนเข้าใจในข้อจำกัดของสนช.แต่ตนอยากขอเรียนว่า ร่างฯของประชาชนตอนนี้ทำมาด้วยความลำบากของประชาชนทั่วประเทศไทยและเป็นการดำเนินการด้วยความสุจริตใจ อยากให้สมาชิกสนช.ทุกคนเห็นคุณค่าของกระดาษที่มีรายชื่อของประชาชนที่รักประเทศ จึงขอให้นายสุรชัย ส่งสัญญาณไปถึงกมธ.ฯชุดที่พิจารณาร่างฯกฎหมายดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอการตัดสินใจของรัฐบาลในการถอนร่างฯ ด้วยการชะลอการลงมติของสนช.ในส่วนวาระที่ 2 ออกไปก่อนจนกว่าจะได้รับข้อยุติและเพื่อให้ทันเวลา ตนขอยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 21,480 รายชื่อ เพราะเห็นว่าเป็นการแสดงออกของประชาชนแม้ว่าอาจจะเจออุปสรรค์ในการตีความในอนาคตว่าเข้าข่ายตรงตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยศาลตุลาการรัฐธรรมนูญก็ดีหรือจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.การเงินหรือไม่คงไม่สำคัญกว่าการแสดงฉันทานุมัติของประชาชน ว่าพวกเขาต้องการอะไรจากร่างกฎหมายฉบับนี้
“เราไม่อยากเห็นความขัดแย้ง ด้วยการดันทุรังกฎหมายที่ประชาชนไม่เห็นชอบออกมา เพราะถ้าออกมาถึงแม้ท่านจะมีจำนวนมือในสภามากพอ แต่ก็จะเกิดความขัดแย้งนอกสภาแน่นอนภายหลังการลงมติ เราจึงไม่อยากเห็นความขัดแย้งที่ฝืนความรู้สึกของประชาชน”
ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า ตนจะรีบนำเอกสารส่งไปยังกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่โดยเร็ว ถ้าเรื่องยังไม่ได้ข้อยุติจะประสานไปยังประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ ให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ รวมถึงจะประสานส่งเรื่องให้รัฐบาลรับทราบ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือผลประโยชน์ชาติ แต่ต่างกันเรื่องของรายละเอียด ทั้งนี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในวิปสนช.ด้วย