xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ซัดร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังแหกตา ปชช. กระทุ้งนายกฯ หักกลุ่มทุนพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รสนา” ย้อนคำปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้ชัดร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังคงใช้ระบบสัมปทานเอื้อเอกชนฮุบทรัพยากรปิโตรเลียมต่อไป ยกมาเลเซียใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วดี หากไทยเอาอย่างจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง ประชาชน-รัฐจะมีรายได้มากขึ้น เร้านายกฯ รับฟังก่อนถูกตราหน้า รัฐประหาร เพื่อทะลุทะลวงอุปสรรคทางกฎหมายให้กับกลุ่มทุนพลังงาน

วันนี้ (4 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Rosana Tositrakul ภายใต้หัวข้อ “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 คือรัฐธรรมนูญ ทางเศรษฐกิจอันแท้จริง ที่ชี้ขาดว่าขุมทรัพย์ต้นน้ำ 5แสนล้านจะตกอยู่ในมือใคร?” ตามข้อความที่ว่า...

“ปลัดกระทรวงพลังงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2559 ยอมรับชัดเจนว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช.จะไม่มีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่ามีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช.ตามที่ประชาชนเรียกร้องแล้ว จึงเป็นเรื่องตบตาประชาชน การไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่เป็นกลไกสำคัญของระบบแบ่งปันผลผลิต จึงทำให้สิ่งที่เขียนเป็นเพียงระบบแบ่งปันผลผลิต “กำมะลอ” หรือสัมปทานจำแลงนั่นเอง

ปลัดฯ ยังยืนยันชัดเจนอีกข้อคือจะใช้ระบบสัมปทานต่อไปกับแหล่งเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565, 2566 ทั้งที่กฎหมายปิโตรเลียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ให้ต่ออายุสัมปทานอีกต่อไปแล้ว ต้องบริหารด้วยรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ให้สัมปทานอีกต่อไป

แต่จากคำพูดของปลัดกระทรวงพลังงานชี้ชัดว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช.นั้นมีเป้าหมายจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ใช้ระบบสัมปทานต่อไปในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เป็นการยกกรรมสิทธิทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปีให้เอกชนต่อไป

การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.และ สนช.ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อผ่องถ่ายทรัพย์สินมูลค่ากว่าแสนล้านบาทให้เอกชนต่อไปนั้นเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารโดยชอบธรรมแล้วหรือ?

การรัฐประหารในปี 2549 รัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาล คมช.สมัยนั้นก็ต่ออายุสัมปทาน 2 แหล่งนี้ให้เอกชน 2 เจ้าใหญ่ไป 10 ปี ก่อนสัมปทานเดิมหมดอายุล่วงหน้า 5 ปี

น่าประหลาดที่จังหวะเวลาในการจัดการกับสัมปทานที่จะหมดอายุ มักมาตรงกับช่วงรัฐประหารทุกที!?!

ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี ในระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของประเทศถูกฉีกและร่างใหม่ไปแล้ว 11 ฉบับ ส่วน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ที่เป็นกฎกติกาในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาท กลับไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงหลักการด้านกรรมสิทธิ์เลย จึงสมควรเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ

ในขณะที่สังคมกำลังสาละวนอยู่กับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะรับหรือไม่รับ แต่ไม่มีใครสนใจว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบใน สนช. ทั้งที่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นกฎหมายที่มอบอำนาจให้กระทรวงพลังงานจัดการกับทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาทด้วยระบบสัมปทานแบบเดิมๆ

หลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทเอกชน แทนที่จะพัฒนาไปเป็นบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ เหมือนบริษัทปิโตรนัสของมาเลเซีย คนไทยก็ต้องใช้ราคาทั้งก๊าซและน้ำมันในราคาแพงขึ้นทุกที

หากเทียบกับมาเลเซียที่เปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตตั้งแต่ปี 2517 ในปี 2520 ในขณะที่ประเทศไทยยังนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นในประเทศ แต่ราคาน้ำมันเบนซินของไทยมีราคาถูกกว่ามาเลเซีย 100% ราคาน้ำมันในไทย ลิตรละ 5 บาท ส่วนมาเลเซียราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาท

จากปี 2517 ที่มาเลเซียเปลี่ยนระบบเป็นแบ่งปันผลผลิต เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ไม่มีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ มาเลเซีย ที่มีบริษัท ปิโตรนาส เป็นบริษัท ปิโตรเลียมแห่งชาติ ราคาน้ำมันของมาเลเซียที่ไม่มีการชดเชยในขณะนี้มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ของไทย 100% กลับทิศทางจากปี 2520

ในเดือนกรกฎาคม 2559 เบนซิน 95 ในมาเลเซีย ราคาลิตรละ 15.05 บาท ส่วนเบนซิน 95 ของไทยราคาลิตรละ 30.66 บาท

การมีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติที่บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำในระบบแบ่งปันผลผลิต เราจะได้รับส่วนแบ่งเป็นปิโตรเลียม ไม่ใช่รับส่วนแบ่งเป็นเงินที่เอกชนแบ่งให้หลังขายปิโตรเลียม

การได้รับส่วนแบ่งเป็นปิโตรเลียมตามข้อตกลงในการประมูล บรรษัทย่อมสามารถบริหารปิโตรเลียมที่ได้มาด้วยตัวเอง หากขายในราคาตลาด รายได้นั้นจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถเป็นงบประมาณของแผ่นดิน ดังที่มาเลเซียสามารถมีรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำ ผ่าน บริษัทปิโตรนัสถึง 40% ของงบประมาณแผ่นดิน

หากรัฐมีนโยบายขายก๊าซและน้ำมันในราคาที่เป็นธรรมซึ่งน่าจะถูกกว่าราคาในกลไกตลาดแบบผูกขาดดังที่เป็นอยู่ ประชาชนและธุรกิจย่อมมีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ เมื่อรัฐมีรายได้มากขึ้นจากทรัพยากร ก็ไม่ต้องเก็บภาษีน้ำมันจากประชาชนมากเหมือนในปัจจุบัน ประชาชนจะมีรายได้มากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย ย่อมสามารถเพิ่มจีดีพีจากการบริโภคภายในประเทศได้

การจะปฏิรูปพลังงานไปในทิศทางที่ให้ประเทศสามารถยืนอยู่ด้วยขาตนเองนั้น น่าจะสอดคล้องกับแนวทางที่ท่านนายกฯประกาศปฏิรูปให้ประเทศเข้าสู่ประเทศ 4.0 อันเป็นวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำที่ท่านนายกฯประยุทธ์ควรแสดงให้เห็น ไม่ใช่ปล่อยให้ข้าราชการในกระทรวงพลังงานและกลุ่มทุนพลังงานเป็นผู้กำหนดทิศทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศในทิศทางเดิมๆ อีกต่อไป

หากท่านนายกฯ ประยุทธ์ยังเดินตามแนวทางของกลุ่มทุนขุนนาง จะทำให้ประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปพลังงานเกิดข้อสงสัยได้ว่า “หรือนี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการยึดอำนาจรัฐประหาร เพื่อมาทะลุทะลวงอุปสรรคทางกฎหมายให้กับกลุ่มทุนพลังงานให้สามารถครอบครองแหล่งพลังงานของประเทศต่อไปอย่างสะดวกโยธิน ใช่หรือไม่?”


กำลังโหลดความคิดเห็น