xs
xsm
sm
md
lg

อบรม นร.ช่วยเหลือตัวเอง-ผู้อื่น จากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เกณฑ์เด็กนักเรียนทำประโยชน์ช่วงปิดเทอม ปูพื้นฐานเตรียมตัวรู้รอด ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน หลังสถิติเด็กเสียชีวิตเพราะอาหารติดหลอดลม ทางเดินหายใจถูกกดทับ พลัดตก

วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือยุวกาชาดและกิจกรรมเยาวชน “ผิน แจ่มวิชาสอน” สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกณฑ์เด็กนักเรียน 6 โรงเรียนนำร่องในกรุงเทพฯ เข้าค่าย “เตรียมตัวรู้รอด” เมื่อเกิดเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถช่วยเหลือทั้งตนเองได้และเข้าใจวิธีช่วยเหลือผู้อื่น เชื่อช่วยปูพื้นฐานเอาตัวรอดตั้งแต่เด็ก

คุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า จากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2557 มีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 มากกว่า 1,249,180 ครั้ง แบ่งเป็นเด็กอายุ 1-14 ปี 129,002 ครั้ง และอายุมากกว่า15 ปีขึ้นไป1,120,178 ครั้ง สำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินมี 5 อันดับ ดังนี้ อุบัติเหตุยานยนต์ 318,379 ครั้ง ป่วยอ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 237,451ครั้ง ปวดท้อง-หลัง เชิงกราน และขาหนีบ 146,730 ครั้ง พลัดตกหกล้ม 94,122 ครั้ง และหายใจลำบาก/ติดขัดและอาหารติดหลอดลม 91,695 ครั้ง สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ผลการเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บในเด็กปี 2546-2556 พบสาเหตุ 3 อันดับเสียชีวิตของกลุ่มเด็กเล็กคือ การสำลักสิ่งต่างๆ เข้าหลอดลม เส้นสายรัดคอ ใบหน้า หรือทางเดินหายใจถูกกดทับ และการพลัดตก ส่วนกลุ่มเด็กโตคือ ไฟฟ้าดูด

“ขณะนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกิจกรรมค่ายเตรียมตัวรู้รอด จะช่วยบูรณาการและพัฒนาทักษะชีวิต แบ่งเป็น 5 ฐาน 1. ดูแลตนเองและป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรค 2. เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือเจอผู้ป่วยต้องแจ้งใครบ้างอย่างไร 3. วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การห้ามเลือด 4. ฐานรับมือเมื่อเกิดภัย เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และ 5. ฐานบูรณาการ และสรุปการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กจะมีความรู้ทักษะช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นอย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งการให้ความรู้แก่เด็กจะได้ผลดีกว่าให้ความรู้เมื่อเด็กโตแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้จัดนำร่องโดยมีโรงเรียนในพื้นที่สำนักงานเขตบางแคเข้าร่วม เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ทั้งหมดจำนวน 36 รายใน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเพชรเกษม โรงเรียนวัดพระสมุทรสุวรรณสามัคคี โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุง โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ โรงเรียนวัดศาลาแดง และโรงเรียนบุณยประดิษฐ์” คุณหญิงเดือนเพ็ญ กล่าว

พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้จะช่วยปลูกจิตสำนึกให้เด็กรู้สึกว่าการเจ็บป่วยสามารถป้องกันตนเองได้ และปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในอนาคต ที่ผ่านมาในบ้านเรามีการเรียนการสอนเรื่องการปฐมพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อเด็กโตแล้ว ส่งผลให้เด็กจะไม่กล้าทำ ไม่มีทักษะ ซึ่งต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่สอนให้รู้จักวิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ รวมทั้งความรู้และวิทยาการในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลต่อให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีการปรับปรุงความรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีความถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของตัวเด็ก





กำลังโหลดความคิดเห็น