“ธีระชัย” โต้ทุกประเด็น “มนูญ ศิริวรรณ” หนึ่งในฝ่ายสนับสนุนกลุ่มธุรกิจพลังงาน ยืนยันให้ข้อมูลบิดเบือนให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ย้ำ ธุรกิจโรงกลั่นผูกขาดไม่ได้แข่งขันเสรีจริง ท้าให้นำข้อมูลพิสูจน์ราคาขายน้ำมันให้คนไทยถูกกว่าส่งออกมาแสดง พร้อมทั้งจี้ให้เปลี่ยนสูตรราคาขายใหม่ชี้ไม่เป็นธรรม ย้ำวลี “หยุดเฉือนเนื้อคนจนไปให้คนรวย”
วันนี้( 9 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.36 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala วิจารณ์คำอธิบายของนายมนูญ ศิริวรรณอดีตผู้บริหารบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ภายหลังจากที่นายธีระชัยได้โพสต์คลิปของนายมนูญ ศิริวรรณ ในรายการทีวี "คม ชัด ลึก" เกี่ยวกับราคาน้ำมันส่งออกที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ และนายมนูญได้เผยแพร่คำอธิบายเพิ่มเติม
นายธีระชัยระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลโต้กันนี้เป็นเรื่องดี ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลครบทุกด้าน เพราะนายมนูญเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์อยู่กับวงการน้ำมันมานาน และมีมุมมองที่ตรงข้ามกับผม จึงเป็นโอกาสที่ผมจะวิจารณ์เชิงวิชาการ ในประเด็นที่นายมนูญอธิบายเพิ่ม ดังนี้
ประเด็นที่ 1. การที่โรงกลั่นเลือกผลิตให้เต็มกำลัง เกินกว่าความต้องการในประเทศ และที่เหลือก็ส่งออก เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ และการผลิตเต็มกำลัง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคไทย
ผมวิจารณ์ :- คำอธิบายนี้ถูกต้องเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่รัฐไม่กำหนดสูตรราคาขายในประเทศ
แต่สำหรับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากรัฐกำหนดสูตรราคาขายคนไทยไว้สูง จึงสามารถเอากำไรในประเทศ ไปตัดราคาส่งออก
กรณีกระตุ้นการส่งออกอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติของธุรกิจ
ส่วนการผลิตจนเต็มกำลัง ถึงแม้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง แต่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันระหว่างโรงกลั่น และมีการลดราคาคนไทยกันอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เป็นความจริง ในเมื่อไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง ต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลง กลับไปเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศอื่นเสียแทน
ประเด็นที่ 2. การหาตลาดเพิ่ม (ส่งออก) ต้องใช้ราคาต่ำเป็นตัวบุกเบิก เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเกินความต้องการในประเทศเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ ข้าว น้ำตาล ปูนซีเมนต์
ผมวิจารณ์:- คำอธิบายนี้ถูกต้องเฉพาะกับธุรกิจที่แข่งขันเสรี
แต่โรงกลั่นในไทยมีการผูกขาด โดยมีบริษัทหนึ่งควบคุมกำลังกลั่นสูงถึง 60-70% ดังนั้น การแข่งขันภายในประเทศจึงยังไม่เสรีอย่างแท้จริง
กรณีอย่างนี้ ราคาส่งออกที่ต่ำกว่าราคาในประเทศ จึงแสดงถึงความไม่เป็นธรรม
ประเด็นที่ 3. โรงกลั่นขายน้ำมันหลายราคา โดยถึงแม้ราคาตามสัญญา จะอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ แต่มีการขายนอกเหนือสัญญา ซึ่งราคาขึ้นลงตามการแข่งขัน และอาจต่ำกว่าราคาส่งออกด้วย
ผมวิจารณ์:- ข้อมูลที่ผมอ้างอิงนั้น เป็นตารางส่งออก มกราคม-มิถุนายน 2557 ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบันนำไปแสดงในเวทีของพระพุทธอิสระ
ข้อมูลดังกล่าวแสดงราคาเบนซิน ณ โรงกลั่นในไทยสูงกว่าราคาส่งออกเป็นส่วนใหญ่ (ดูรูปข้างล่าง)
ถ้านายมนูญยืนยันว่า มีการขายในประเทศราคาต่ำกว่าราคาส่งออก ก็ขอให้นำข้อมูลมาแสดงต่อสาธารณะ เกิดขึ้นเมื่อใด ปริมาณเท่าใด?
และมีประชาชนทั่วไป ที่ได้ประโยชน์ จากราคาขายคนไทย ที่ต่ำกว่าส่งออก ที่กล่าวอ้าง หรือไม่ อย่างไร?
ประเด็นที่ 4. การผลิตเต็มกำลัง และส่งออกด้วยนั้น ส่งผลดีต่อผู้บริโภคในประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ผู้บริโภคก็ได้ใช้สินค้าในราคาที่ถูกลง
ถ้าโรงกลั่นเลือกผลิตเพียงเท่ากับความต้องการในประเทศ ราคาน้ำมันที่ขายคนในประเทศต้องสูงขึ้นแน่นอน
ผมวิจารณ์:- ขณะนี้โรงกลั่นมีกำลังผลิต 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใช้ในประเทศ 9 แสน ส่งออก 2 แสน
ถ้าโรงกลั่นเลือกผลิตเพียง 9 แสน ไม่เต็มกำลังผลิต โดยไม่ส่งออก ถ้าต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจริง โรงกลั่นก็ต้องรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง
โรงกลั่นจะไม่สามารถบวกราคาคนไทยสูงขึ้นได้ เพราะถ้าสูงเลยกว่าสูตร – (ราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม)- ก็จะมีผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาแข่งขันทันที
ประเด็นที่ 5. ถ้ามีผู้เห็นว่าโรงกลั่นน้ำมันในไทยตั้งราคาสูงเกินจริง มีค่าใช้จ่ายเทียมอย่างที่ว่ากัน มีกำไรมาก ย่อมจะต้องมีผู้นำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแข่ง
ผมวิจารณ์:- สมมุติตัวเลขแบบกลมๆ ไม่ละเอียด
สิงคโปร์มีต้นทุนน้ำมันดิบที่บวกค่าขนส่งจากตะวันออกกลาง 85 บาท/ลิตร โรงกลั่นได้ค่ากลั่นและกำไร 15 บาท ราคา ณ โรงกลั่นสิงคโปร์คือ 100 บาท
ราคา ณ โรงกลั่นในไทย คือ เท่ากับสิงคโปร์ 100 บาท บวกค่าขนส่งเทียม 5 บาท เท่ากับ 105 บาท
โรงกลั่นในไทย มีต้นทุนน้ำมันดิบบวกค่าขนส่งจากตะวันออกกลาง 86 บาท โรงกลั่นจะได้ค่ากลั่นและกำไร 105 - 86 บาท คือ 19 บาท ...
ค่ากลั่นและกำไร มากกว่าสิงคโปร์ ใช่หรือไม่?
ผู้แข่งขัน ถ้านำเข้าเอง จะต้องซื้อจากสิงคโปร์ 100 บาท และมีค่าขนส่งจริง 5 บาท ก็ต้องบวกกำไรและขายเกิน 105 บาท …
ดังนั้น ตามตัวอย่างนี้ ย่อมไม่มีใครสนใจนำเข้ามาแข่งขันแน่นอน
ทั้งนี้ ถ้าใช้สามัญสำนึกทางธุรกิจ ขณะนี้ มีกำลังกลั่นเกินความต้องการในประเทศอยู่เกือบ 1 ใน 5 ย่อมไม่มีผู้แข่งขันใดนำเข้าจากต่างประเทศ
จะมีผู้ที่นำเข้า ก็ต่อเมื่อกำลังกลั่นต่ำกว่าความต้องการในประเทศเท่านั้น
ประเด็นที่ 6. โรงกลั่นขายในประเทศจริงต่ำกว่าสูตรราคาที่กำหนดโดยรัฐ
ผมวิจารณ์:- ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เหมาะสมที่รัฐจะลดสูตรราคา โดยควรจะกำหนดให้ขายในประเทศไม่เกินราคาส่งออก (ที่ต่ำกว่าราคา ณ โรงกลั่นสิงคโปร์)
ประเด็นที่ 8. วลีที่ผมเขียน "เฉือนเนื้อคนไทยไปให้โรงกลั่น" เป็นวาทกรรมปลุกระดม
ผมวิจารณ์:- สูตรราคาคนไทย ที่ใช้มานานนั้น ไม่เป็นธรรม และสมควรเปลี่ยนได้แล้ว
การที่สูตรเปิดให้โรงกลั่นสามารถเอากำไรขายคนไทย ไปตัดราคาส่งออก แข่งกับสิงคโปร์ เป็นการกระตุ้นให้มีการขยายโรงกลั่นเพื่อส่งออก …
“ดังเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบันที่กำลังกลั่นเกินความต้องการในประเทศ เกือบ 1 ใน 5 อยู่แล้ว ก็ยังมีหลายโรงกลั่นที่ประกาศแผนงานที่จะขยายกำลังกลั่นใน 2 - 3 ปีข้างหน้า นโยบายนี้ ยิ่งคงเอาไว้นานต่อไป ไม่ต่างจากการเฉือนเนื้อคนไทย ไปให้โรงกลั่น นอกจากนี้ เวลาราคาตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง แทนที่รัฐบาลนี้จะแก้สูตร กลับใช้กองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นเงินของประชาชนผู้บริโภค จึงไม่ต่างจาก เฉือนเนื้อคนจน ไปให้คนรวย ให้แก่นักเล่นหุ้น ทั้งคนไทยและต่างชาติ” นายธีระชัยระบุ
อนึ่ง ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 08.11 น. นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ "โรงกลั่นน้ำมันบอกว่า: ที่คนไทยต้องซื้อแพงกว่าส่งออก-กลับจะได้ประโยชน์???" โดยระบุว่า ถ้าดูรูปข้างล่าง จะเห็นว่าราคาส่งออกน้ำมันเบนซินไปลาว กัมพูชา เมียนมา บางกรณีต่ำกว่าไทยลิตรละเกือบ 1 บาท แต่ช้ำใจที่สุด คือไทยส่งออกไปยังสิงคโปร์เป็นตลาดอันดับ 1 ยอดขายปีละ 5 - 6 หมื่นล้านบาท
ปรากฏว่า เส้นสีแดง ราคาส่งออกไปสิงคโปร์ ต่ำกว่าไทยถึงลิตรละ 2 - 3.50 บาท
ผมวิเคราะห์ว่า การที่โรงกลั่นส่งออกราคาต่ำกว่าคนไทยนั้น สาเหตุเกิดจากเอากำไรท่ีขายคนไทย ไปตัดราคาส่งออกแข่งกับสิงคโปร์
ส่วนสาเหตุที่โรงกลั่นกำไรจากคนไทยมาก เพราะรัฐให้ตั้งราคาเท่าสิงคโปร์ และยังบวกค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายนำเข้าเทียม จากสิงคโปร์มาไทย ...
เสมือนหนึ่งกลั่นที่สิงคโปร์ แล้วค่อยส่งมาไทย ทั้งที่ในข้อเท็จจริง เป็นการกลั่นในไทย
ซึ่งในประเด็นนี้ นายอธิคม เติบศิริ กรรมการผู้จัดการโรงกลั่นไทยออยล์ ได้พยายามชี้แจงว่า การบวกค่าขนส่งเทียมนั่น เป็นธรรมแก่โรงกลั่น …
"ค่าขนส่งในโรงกลั่นไทย ไม่ใช่ค่าขนส่งเทียม เพราะโรงกลั่นมีต้นทุนขนส่งนำเข้าน้ำมันดิบ มีค่าประกันและสูญเสียอื่นๆ"
แต่คำอธิบายดังกล่าว พูดถึงค่าขนส่งคนละตัวกัน ...
เพราะสูตรราคา พูดถึงค่าขนส่ง น้ำมันสำเร็จรูป
ส่วนโรงกลั่นในไทย มีค่าขนส่งก็จริง แต่เป็นค่าขนส่งน้ำมันดิบ ** ขอย้ำ ** น้ำมันดิบ
เป็นค่าขนส่งจากตะวันออกกลางมาไทย ซึ่งโรงกลั่นสิงคโปร์ก็มีค่าใช้จ่ายนี้
ซึ่งถ้าจะอ้างว่า ไทยมีค่าขนส่งสูงกว่าสิงคโปร์ ก็เปรียบเทียบได้เฉพาะระหว่าง ค่าขนส่งจากตะวันออกกลางถึงสิงคโปร์ กับค่าขนส่งจากตะวันออกกลางถึงไทย
ซึ่งในธุรกิจเดินเรือพาณิชย์ทั่วไป ค่าขนส่งสองเส้นทางดังกล่าวแทบไม่ต่างกัน เพราะระยะทางไกลกว่ากันเพียงเล็กน้อย!
ดังนั้น การอ้างว่าโรงกลั่นไทยมีค่าขนส่งน้ำมันดิบ จากตะวันออกกลางมายังไทย ...
เพื่อเป็นเหตุผล ที่ต้องบวกค่าขนส่งเทียม สำหรับขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป จากสิงคโปร์มายังไทย ...
จึงเป็นข้อมูลเทียม!
สรุปแล้ว ในส่วนของค่าขนส่ง ผมไม่งง เพราะนายอธิคมพูดถึงค่าขนส่งคนละตัว เพียงแต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนในวงการโรงกลั่น จึงสับสนเรื่องนี้มาตลอดหลายสิบปี?
แต่ที่ผมงงจริงๆ คือคำชี้แจงของนายสุกฤตย์ สุรบทโสภณ กรรมการผู้จัดการของโรงกลั่นน้ำมัน ไออาร์พีซี ในคลิปข้างล่าง นาทีที่ 1.25 เขากล่าวว่า
"ราคาส่งออกจะต้องถูกกว่าขายในประเทศ และทุกคนจะแย่งกันขายในประเทศเป็นหลัก ...
เพราะฉะนั้น ผู้บริโภค(ในประเทศ)จะได้ประโยชน์"
ผมเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ฟังแล้ว ผมไม่เข้าใจเหตุผลของเขา!
ทุกวันนี้ คนไทยต้องซื้อราคาแพง เนื่องจากสูตรราคาเท่ากับสิงคโปร์ แต่ยังไม่พอ ยังให้บวกค่าขนส่งเทียม และค่าใช้จ่ายนำเข้าเทียมอีกด้วย ...
ทั้งที่โรงกลั่นในไทยไม่ได้ควักกระเป๋าจ่ายออกไปจริงๆ
ถ้าบอกว่า แบบนี้ คนไทยได้ประโยชน์ ทำให้ทุกโรงกลั่นแข่งขันขายให้คนไทย ก็ต้องถามกลับไปว่า ...
ในข้อเท็จจริง หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ มีโรงกลั่นที่แข่งขันกันหนักหน่วง แห่กันขายคนไทย หรือไม่? และแข่งกันเต็มที่ จนราคาขายคนไทยลดลงต่ำกว่าสูตร ลิตรละ 2 บาท หรือ 3 บาท ...
มีเกิดขึ้นอย่างนี้บ้างหรือไม่?
ในเมื่อการแข่งขัน ที่อ้างว่ามีอยู่เพียบ ไม่ได้ทำให้ราคาคนไทยลดลง ผมถามว่า ทำให้คนไทยได้ประโยชน์อย่างไร?
ถ้าบอกว่า ราคาที่สูงกว่า คนไทยได้ประโยชน์ จะบวกแค่ค่าขนส่งเทียมไปทำไม ...
ถ้าจะให้คนไทยได้ประโยชน์แบบเวอร์ไปเลย และทำให้ทุกโรงกลั่นแข่งขันดุเดือด แย่งกันขายคนไทยให้เวอร์ไปเลย …
ก็ต้องบวกราคาขายคนไทยขึ้นไปอีกลิตรละ 5 บาท หรือ 10 บาท ล่ะซิ!
ถามว่า ถ้าขายคนไทยยิ่งแพงขึ้น ผู้บริโภคในประเทศจะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น จริงหรือ?
ปัญหาเรื่องนี้ ถึงแม้สูตรราคาเป็นมรดกมาจากรัฐบาลก่อนๆ แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำงานมานานถึง 4 ปี ทำไมไม่แก้ไข???
การให้โรงกลั่นนำค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายจริง มาบวกเป็นต้นทุนของราคาน้ำมันที่ขายให้คนไทย แล้วโรงกลั่นสามารถเอากำไรที่ได้ ไปตัดออกจากต้นทุนราคาขายส่งออก …
แบบนี้เขาเรียกว่า มัดมือประชาชน แล้วชก ผู้ถูกชกไม่มีทางสู้ ...
โดยภาครัฐผู้ซึ่งเป็นกรรมการ ก็รู้เห็นเป็นใจด้วย
ตัวเลขส่งออกดี กำไรโรงกลั่นดี ตลาดหุ้นดี ตัวเลข จีดีพี ดี แต่ประชาชนฐานะยากจนลง เพราะต้องซื้อน้ำมันแพง
ไม่ต้องสงสัยเลย ทำไมประชาชนให้คะแนนรัฐบาล คสช. ด้านเศรษฐกิจ ต่ำที่สุด