xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฟินมั้ยลุง? มิชชั่นแรกคอมพลีต ดูด 25 เสียงชง “ตู่” นายกฯ สถานีต่อไป “พรรคแกนนำรัฐบาล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความเคลื่อนไหวทางการเมืองฉากสำคัญในรอบสัปดาห์ หนีไม่พ้น “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมบท “พระยาเหยียบเมือง” ยกทัพใหญ่ไปเยือน จ.สุรินทร์ - บุรีรัมย์ ในโอกาสไปประชุม “ครม.สัญจร” เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561

สาระของการประชุม ครม.ที่มีการอนุมัติหลักการงบประมาณนับหมื่นล้านบาทลงพื้นที่กลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” อันประกอบด้วย นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์ ดูดรอปไปเล็กน้อย เมื่อถูกกลบด้วย “ไฮไลท์” ของวันก่อนหน้า ที่วางคิวให้ “ลุงตู่” ปูพรมยึดพื้นที่ข่าวตลอดวัน โดยเฉพาะการใช้สนามช้าง อารีน่าเป็นฉาก โดยมีนักแสดงประกอบเป็นชาวบ้านร่วม 3 หมื่นชีวิต เปิดปราศรัยออดอ้อนขอคะแนน ท่ามกลางเสียงเชียร์กระหึ่ม “ลุงตู่สู้ๆ”

โดยมีเจ้าถิ่นอย่าง “เสี่ยเป็ด” เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และเจ้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด รับหน้าที่ “เชียร์ลีดเดอร์กิตติมศักดิ์” เตี๊ยมคิวแฟนคลับต้องตะโกน “ลุงตู่สู้ๆ” ต้อนรับท่านผู้นำ

จน “พระยาต่างถิ่น” ถึงกับออกปากสารภาพว่า รู้สึกตื่นเต้น ก่อนชูนิ้วสัญลักษณ์ I Love You เดินทักทายรอบสนามตามแบบฉบับ “ซุป’ตาร์” ด้วยใบหน้าที่ปลิ้มปริ่ม ฟินสุดๆ

พลันตัดฉากมาที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่จะเป็นสังเวียนประลองความเร็ว MotoGP สนามที่ 15 ประจำฤดูกาล 2018 ในชื่อรายการ “พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018” ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในชาวงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ “เนวิน” ก็พลิกบทบาทจาก “เชียร์ลีดเดอร์” มาสวมวิญญาณนักบิดลงควบบิ๊กไบค์ ตีคู่กับ “ลุงตู่” ไปตลอด 2 รอบสนาม

แค่ 2 ซีนหลักๆ ก็ทำเอาภาพเท่ๆของ “ลุงตู่” ถูกนำไปเล่นเป็นประเด็นต่อเนื่องอยู่ร่วมสัปดาห์ พ่วงกับประเด็น “พลังดูด” ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พรรคเนวิน” เข้าคอกสีเขียว เรียบร้อยโรงเรียนทหารไปแล้ว ข้ามขั้นเรื่อง “ดูด” แต่ถูกเคี้ยวแล้วกลืนไปแล้วด้วยซ้ำ

อีเวนต์มาเยือนบุรีรัมย์ของ “นายกฯตู่” จึงไม่ใช่การมาตามตื๊อตามจีบ “เจ้าเมือง” เหมือนที่ไปในพื้นที่อื่นๆ แต่กลับเป็นอีเวนต์โชว์ศักยภาพของ “เสี่ยเน” มากกว่า เป็นการย้ำให้เห็นถึงศักยภาพ “งานมวลชน” ของเจ้าของสมญา “ยี้ห้อย” ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง กับการดีดนิ้วเสกกองเชียร์ 3 หมื่นชีวิต แม้จะมีเสียงค่อนขอดว่า มีอามิสสินจ้างให้เป็นรายหัวก็ตาม

อย่าลืมว่า “เนวิน” ถือเป็นมือต้นๆของการสร้างมวลชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้กำเนิด “กลุ่มคนเสื้อแดง” ก่อนที่ปล่อยให้ จตุพร พรหมพันธุ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เซ้งไปต่อยอด หรือกระทั่ง “คนเสื้อน้ำเงิน” เมื่อครั้งตั้งกองกำลังเฉพาะกิจให้กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในสมรภูมิพัทยา เมื่อปี 2552

นอกจากนี้ยังเป็นการโชว์ฝีมืองานจัดอีเวนต์แบบมืออาชีพ ที่อลังการงานสร้างสมยี่ห้อ วินิจ เลิศรัตนชัย เจ้าพ่ออีเว้นต์ แห่งเฟรชแอร์ ที่เป็นมือทำงานของ “เจ้าพ่อเซราะกราว” มานาน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การดูด “ทีมเนวิน” เป็นพวก นอกเหนือจากตัวเลข ส.ส.ในแง่คณิตศาสตร์แล้ว ก็ยังอาจต้องใช้เป็นทีมงานปั่นกระแสความนิยมให้ “ลุงตู่” ทั้งในช่วงก่อน และในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

แม้การลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จะถูกด่าขรมจากเหล่านักการเมืองพรรคอื่น จนมีการขุดอดีตมาหลอกหลอนว่า “เนวิน” ก็คือ “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ในอดีต อีกทั้งก็เคยเอาอกเอาใจ “นายกฯในอดีต” มานักต่อนัก แล้วเกือบทั้งหมดก็ “จบไม่ค่อยสวย”

แต่ในมุมของ “บิ๊กตู่” คงไม่ยี่หระ อดีตก็คืออดีต และให้น้ำหนักกับเป้าหมายสำคัญในอนาคต อย่างการต่อท่ออำนาจมากกว่า ก็เลยเดินสายตระเวน “ดูดเพื่อชาติ” ตามครรลองประชาธิปไตยไทยในมุมของตัวเอง แม้จะถูกนินทาว่ากลืนน้ำลาย ลดตัวไปเกลือกกลั้วกับนักการเมืองที่เคยว่าชั่วช้าสามานย์ต่างๆนานาก็ตาม

มีการจดสถิติการลงพื้นที่ของ “ลุงตู่” แค่รอบปีเศษ ตั้งแต่เปิดศักราชปี 2560 เป็นต้นไป จัดทัวร์เดินสายเก็บแต้มไปแล้วมากกว่า 30 จังหวัด ในจำนวนนี้บ้างก็มีภารกิจแวะไปไม่นาน บ้างก็สวมวิญญาณ “ซานต้าตู่” หอบงบประมาณไปยิงตรงลงพื้นที่แบบอื้ออึง คล้ายกับสมัย ทักษิณ ชินวัตร เคยทำมาก่อน ด้วยการประกาศอัดฉีดงบประมาณให้จังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยเป็นอันดับแรก

และในจำนวนนี้อีกเช่นกัน ที่ถึงตอนนี้ได้ “เจ้าเมือง” มาสวามิภักดิ์เป็นพวกแล้วเรียบร้อย อาทิ พระนครศรี อยุธยา, สุพรรณบุรี, นครปฐม, นครราชสีมา, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และล่าสุดกับ บุรีรัมย์-สุรินทร์ เป็นต้น

การกวาดต้อนบรรดา “เจ้าเมือง” มาไว้เป็นพวกนั้น ก็ให้น้ำหนักในเรื่องตัวเลขที่นั่ง ส.ส. มากกว่าเรื่องภาพลักษณ์ เหมือนคลำหัวคลำหางเป็นนักเลือกตั้งพอมีฐานเสียง ก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับ ดั่งที่มีผู้เหน็บแนมไว้ว่า “เป่านกหวีดเปิดทางให้รัฐประหารมาแทบตาย สุดท้ายได้เนวิน และนักการเมืองน้ำเน่ากลับมา”


เป็นที่รู้กันว่ากติกาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกนั้นเอื้อต่อการมี “นายกฯคนนอก” เพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.ไม่น้อย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ดี เพราะหากได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่ไม่มีเสียง ส.ส.ในสภาฯ เป็นนั่งร้าน ฝ่ายบริหารก็ไม่สามารถทำงานได้

ด้วยโจทย์นี้เอง จากเดิมที่ “บิ๊กตู่” วางตัวว่าจะเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในฐานะ “นายกฯคนนอก” ก็เริ่มปรับแผนว่าต้องเป็น “นายกฯ คนใน” เท่านั้น เป็นที่มาของคำประกาศยอมรับว่า ตัวเองเป็นนักการเมือง พร้อมการเริ่มเดินเครื่องเต็มสูบของ “พรรคประชารัฐ - พรรคทหาร” ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

เป็นที่มาของ “พลังดูด คสช.” ที่เร่งเบอร์แรงสุดทั้งทางลับ-ทางแจ้ง ผ่านทั้ง “แมวมอง คสช.” รวมทั้งบรรดาบิ๊กๆ และรัฐมนตรีในรัฐบาล

ภารกิจแรกที่เคยตั้งเอาไว้คือการมีพรรคการเมืองขนาดย่อมๆรองรับการใส่ชื่อ “ประยุทธ์” หรือใครก็ตามแต่ที่เป็นคนของ คสช.เป็นแคนดิเดตนายกฯคนในในนามพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองนั้น ต้องมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง เพื่อให้เพียงพอต่อสิทธิ์ในการเสนอนายกฯต่อที่ประชุมรัฐสภา
ครั้นจะให้ “ประยุทธ์” ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนาม “พรรคการเมืองเก่าๆ” ที่มีอยู่แล้ว คงจะดูไม่สง่างามเท่าไร

จึงได้เห็น “ทีม คสช.” เริ่มเก็บเล็กผสมน้อย ล็อกเป้า “เจ้าพ่อหัวเมือง” ตุนที่นั่ง ส.ส. ตั้งแต่ “บ้านใหญ่นครปฐม” ของ ตระกูลสะสมทรัพย์ ที่ “ลุงตู่” ลงทุนเดินทางไปเยือนด้วยตัวเองอย่างไม่เป็นทางการ หรืออย่าง “กลุ่มบ้านริมน้ำ-กลุ่ม 16” ของ สุชาติ ตันเจริญ ที่มีรัฐมนตรีเทียวไล้เทียวขื่อตามจีบไม่เลิก รวมทั้งกลุ่มของนักการเมืองรุ่นเก๋า ทั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน - พินิจ จารุสมบัติ - สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เหล่านี้พร้อมที่จะเทเสียงให้การสนับสนุน คสช.อยู่แล้ว และหลายคนก็มีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองด้วย

คำนวณจากฐานเสียงของบรรดา “ดาวฤกษ์” ที่ว่าไป 25 ที่นั่งที่ตั้งไว้ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

พอรวบรวมได้ตามแผนเดิมก็ชักมันมือ แล้วยังมีคนจุดพลุขึ้นมาว่า หากให้ “บิ๊กตู่” ไปใส่ชื่อไว้กับพรรคเล็กๆ มี ส.ส.แค่ 20-30 เสียง ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง แม้จะเข้าทำนอง “หนูช่วยราชสีห์” ก็ตาม แต่ก็ไม่สมศักดิ์ศรีของหัวหน้ารัฐประหาร ผู้มีอำนาจรัฐฏาธิปัตย์เต็มไม้เต็มมือ

การนี้จึงเริ่มมีการเดินแผน 2 สถานีต่อไปคือ “พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ก่อนปรับโหมดมาเป็น “เถ้าแก่ล้งใหญ่” ที่ว่ากันว่ามีเงินถุงไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อปั้น “พรรคทหาร” เดินเกม “ดูดเหมาเข่ง” ไล่สอย “ซุ้มการเมือง” แบบไม่เลือกสเปก ชื่อเสียงเน่าขนาดไหนก็เอา เพื่อมาเป็นนั่งร้านของ “นายกฯลุงตู่” ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะ “ดาวฤกษ์” หรือมีคะแนนเสียงในพื้นที่พอไปวัดไปวา เปิด “ดีลการเมือง” ลดแลกแจกแถมสะบัด หวังกวาดต้อนมาเป็นพวกหมด

หากประเมินสรรพกำลังของกลุ่มก๊วนต่างๆที่ตอบรับมาสวามิภักด์กับ “พรรค คสช.” แล้ว จากผลการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต ก็จะเริ่มเห็นเค้าลางของพรรคระดับ “100 ที่นั่งบวกลบ” จากพรรค-กลุ่มการเมือง ไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่มดังนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา (วราวุธ ศิลปอาชา) 15-20 ที่นั่ง, พรรคพลังชล (สนธยา คุณปลื้ม) 7 ที่นั่ง, กลุ่มมัชฌิมา (สมศักดิ์ เทพสุทิน) 10-15 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย (เนวิน ชิดชอบ) 25-30 ที่นั่ง, พรรคชาติพัฒนา (สุวัจน์ ลิปตพัลลภ) 7-10 ที่นั่ง, กลุ่มบ้านริมน้ำ (สุชาติ ตันเจริญ) 4-6 ที่นั่ง, กลุ่มพญานาค (พินิจ จารุสมบัติ) 5 ที่นั่ง, กลุ่มนครปฐม (ตระกูลสะสมทรัพย์) 5 ที่นั่ง, พรรคพลังพลเมือง (สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์) 2-3 ที่นั่ง, กลุ่มสระบุรี (ปองพล อดิเรกสาร) 2 ที่นั่ง และกลุ่ม กปปส. (สุเทพ เทือกสุบรรณ) 5-10 ที่นั่ง

มองผิวเผินก็ดูสมน้ำสมเนื้อ สมศักดิ์ศรีพอสสมควรแล้ว แต่การเมืองเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ หากนำจำนวนนี้ไปบวกกับ “พรรค ส.ว.” ที่มีอีก 250 เสียง ซึ่ง คสช.เป็นผู้แต่งตั้งทั้งหมด ก็จะเท่ากับ 350 เสียงบวกลบ ยังขาดอีกเล็กน้อยสำหรับเสียงเลือกนายกฯที่ต้องการ 376 เสียง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหา น่าจะพอออกแรงดูดพรรคเอสเอ็มอีบางพรรค ให้ได้เพิ่มอีกสัก 20-30 เสียงก็ไม่น่ายาก

แต่ที่ยากคือการขับเคลื่อนบริหารประเทศในฐานะ “ฝ่ายบริหาร” ที่แทบจะทำไม่ได้ เมื่อมีเสียง ส.ส.ในสภาล่างไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ครั้นจะไปขอจับมือกับพรรคการเมืองใหญ่ อย่าง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

กลุ่มการเมืองที่กวาดต้อนไว้ กับจำนวนประเมินที่นั่ง ส.ส.ที่ได้จึงยังไม่ตอบโจทย์แบบสะเด็ดน้ำ การปั้นฝันพรรคทหารเพื่อกลับมาเถลิงอำนาจอีกคำรบจึงยังมีงานต้องทำต่อไป

ทางหนึ่งต้องหา “ก๊วนการเมือง” เข้ามาเติมเต็มให้ได้ตามเป้า หรืออาจจะเลยเถิดไปเป็นมากกว่า 200 เสียง เพื่อการันตีฐานะ “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ได้ก็จะยิ่งดี แต่ปัญหาคือ นักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้าสเปก “เจ้าเมือง” แทบจะหมดตลาด ที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของกระแสพรรค อย่างในพื้นที่ภาคใต้ ที่ไร้ความหายหากถอดเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครเลือกตั้ง หรืออย่างในภาคเหนือ-ภาคอีสาน ก็ยังต้องหลอนกับ “กระแสทักษิณฟีเวอร์” ใครหาญกล้าย้ายพรรค ก็มีแต่สอบตก เรื่องนี้คนรู้ดีที่สุดชื่อ “เนวิน ชิดชอบ” ที่แทบรากเลือดเมื่อสมัยเลือกตั้งปี 2554

ชื่อของ “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย จึงโผล่ขึ้นมาในลิสต์ของ “แมวมอง คสช.” เป็นผู้เฒ่าวัย 84 ปีผู้ทรงอิทธิพลอยู่แนวชายแดนบูรพาทิศ จ.สระแก้ว มีคอนเนกชั่นเดิมแนบแน่นกับ “บิ๊กบูรพาพยัคฆ์” ทั้ง “ป้อม - ตู่ - ป๊อก” เคยมาฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานสมัยไปประจำการในพื้นที่มาแล้วทั้งนั้น

จะว่าไป “แมวมอง คสช.” ไม่ได้หวังดูด “ป๋าเหนาะ” เพื่อแลกกับแค่ 3 ที่นั่ง ส.ส.ใน จ.สระแก้ว เท่านั้น หากแต่หวังใช้บารมี “เจ้าพ่อวังน้ำเย็น” ในการตกเขียวน้องๆในมุ้งพ่วงมาด้วย ด้วยรู้ดีว่าสมัยยังเตะปี๊บดัง “ป๋าเหนาะ” ดูแล ส.ส.เป็นร้อยชีวิต จนมีอิทธิพลคับพรรค และยังเป็นที่เกรงใจของน้องๆ อยู่มาจนถึงวันนี้

อีกทั้งเด็กๆในมุ้งของ “ป๋าเหนาะ” ยังเต็มไปด้วยอดีตผู้แทนภาคอีสาน ที่จนบัดนี้ “แมวมอง คสช.” ยังแงะไม่ออกซักพื้นที่ ด้วยหลายคนกังวลว่าจะโดน “กระแสทักษิณ” ไล่ถลุงจนพ่ายการเลือกตั้ง อดเข้าสภาหินอ่อน

แต่หาก “ป๋าเหนาะ” ต้นตำรับผู้จัดการรัฐบาล-นักปั้นนายกฯนึกคึกมาจอยกับ “พรรค คสช.” ด้วย ก็คงวเป็นแรงกระชุ่นให้น้องๆในมุ่ง กล้าหักกับ “นายใหญ่” โผมาซบ “พรรคสีเขียว” ไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงสอบตก แต่อย่างน้อยก็ได้ผลทางอ้อมในการ “เจาะยาง” คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานได้บ้าง

ผนวกกับกลยุทธ์ “ชกฝ่ายเดียว” ยึดสัมปทานหาเสียงไว้แต่เพียงผู้เดียวของ “นายกฯตู่” จนเพื่อนฝูงพรรคใหม่-พรรคเก่า โวยกันแหลก แต่ยิ่งโวยเหมือนยิ่งยุ ใกล้จะประกาศวันเลือกตั้งมากเท่าไร อีเวนต์ “ลุงตู่” ยิ่งถี่ ที่สำคัญยังไม่คิดจะเปิดช่องให้ใครหน้าไหนล้ำเส้น ด้วยมีคำสั่ง มาตรา 44 ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองค้ำไว้อยู่ ขนาดกิจกรรมช่วยชาวบ้านอย่าง “ฉีดยุง- ฉีดหมา” ยังเอามาอ้างไม่ให้ทำ เรียกว่า “สกัดดาวรุ่ง” ทุกวิถีทาง

เลือตั้งเมื่อไรยังไม่รู้ แต่ที่รู้ๆการเดินหมากของ “บิ๊กทหาร” คงเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นประเภท “ดูดแหลก-หว่านงบฯ-เตะตัดขา” ที่จะประเคนไม่ยั้ง จนใครที่ไม่ใช่พวกได้แต่มองค้อน

ด้วยกติกาที่สุดจะเอื้อ ด้วยเวลาที่ยังเปิดกว้าง ด้วยอำนาจที่ทำให้เดินเกมการเมืองได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร หากประคองตัวเองไม่ทะเล่อทะล่าไปติดหล่ม “วิกฤตศรัทธา” เป้าหมาย “พรรคแกนนำรัฐบาล” ก็อยู่ไม่ไกล

ดีไม่ดีเลยเถิดไปถึงขนาด “รัฐบาลพรรคเดียว” ก็ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น.




กำลังโหลดความคิดเห็น