xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เที่ยวไทยเละเทะ จาก “สิมิลัน” ถึง “คีรีวง” ดังเมื่อไหร่! พังเมื่อนั้น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหยื่อของการท่องเที่ยวเชิงทำลายในประเทศไทยนั้น ปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอย่าง “ปาย” จ.แม่ฮ่องสอน ไฮไลต์ ทุ่งนาเขียวขจี ฟ้าสีคราม แสงแดด และม่านหมอก, “เชียงคาน” จ.เลย ไฮไลต์ ชุมชนบ้านไม้เก่า วิถีชีวิตสงบอยู่เรียบง่าย ถนนคนเดินริมแม่น้ำโขง, “ภูทับเบิก” จ.เพชรบูรณ์ ไฮไลต์ ภูเขา ทะเลหมอก แปลงกะหล่ำของชาวม้ง ฯลฯ

คราวนี้ ก็มาถึงคิวของเหยื่อรายล่าสุดคือ “คีรีวง” หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อว่ามีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ จ.นครศรีธรรมราช จนทำให้เกิดปัญหาตามมาสารพัดสารพัน ทั้งจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไร้อารยะ ทำลายสิ่งแวดล้อม รบกวนวิถีชีวิตชุมชน การโปรโมตการท่องเที่ยวชูโรงกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงเกิดช่องว่างทางรายได้ เกิดปัญหาผู้มีอิทธิในท้องถิ่น ฯลฯ และในที่สุดชาวคีรีวงจำนวนไม่น้อยต้องระหกระเหินออกนอกพื้นที่

ภาพสะท้อนความพินาศของหมู่บ้านคีรีวงได้รับการเปิดเผยจาก นายวรา จันทร์มณี ชาวคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความเรื่อง ความทุกข์ของคนที่อยู่บ้านตัวเองไม่ได้ ตัดทอนส่วนหนึ่งความว่า

“บ้านผมอยู่คีรีวง นครศรีธรรมราช แต่ทุกวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ผมกลับกลับบ้านตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ เพราะที่บ้านเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถนนในหุบเขารถติดกว่าสิบกิโลหลายชั่วโมงเช่นถนนในเมืองหลวง เราถูกกักขังในบ้าน จะไปไหนก็ลำบาก ออกไปเจอแต่คน คน คน จ๊อกแจ๊กจอแจไปหมด อย่าว่าแต่รถยนต์เลย ชาวบ้านที่ขับมอเตอร์ไซต์ก็ยังลำบาก ยิ่งหน้าผลไม้ขับรถขึ้นลงภูเขาหาบของก็หนักอยู่แล้ว ยังต้องเจอขบวนการนักท่องเที่ยวพลุกพล่านเต็มพื้นที่ขวางทางไปหมด เซลฟี่กลางถนนบ้างล่ะ จอดรถถ่ายรูปกลางสะพานเข้าออกบ้างล่ะ จอดรถในที่ห้ามจอดเพื่อลงไปซื้อของหรือเล่นน้ำบ้างล่ะ พอชาวบ้านไปบอกก็โดนต่อว่า ถีบรถจักรยานวกวนสับสนขวางทางจนชาวบ้านหักหลบไม่ทัน ล้มลุกคลุกคลานมานักต่อนักแล้ว บ้างก็ส่งเสียงดัง สร้างมลภาวะ ทั้งขยะ อากาศ และน้ำเสีย รบกวนความสงบเป็นอย่างยิ่ง (เดือดร้อนถึงชุมชนใกล้เคียงด้วย)

“ที่นี่มีประชากรเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว แต่เราก็เห็นใจกันและกัน ไม่มีใครพูดอะไรมาก จะเล่าให้ฟัง วันหนึ่งผมไปนั่งทานอาหารร้านญาติ มีนักท่องเที่ยวจากสงขลาบอกว่า ทำไมที่คีรีวงไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ คำตอบที่ผมให้ก็คือ พี่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่นี่ส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำสวน มีคนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว 10-15 เปอร์เซ็นต์ คนอื่นไม่ได้มีหน้าที่ต้องต้อนรับใคร เขาอยากใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ ปราศจากการรบกวน อีกทั้งยังอธิบายให้เขาฟังพอสังเขปเรื่องการท่องเที่ยวที่รบกวนวิถีชีวิตชุมชน เช่น การทิ้งขยะ การเดิน/ถ่ายรูป/จอดรถขวางถนน สตาร์ทติดเครื่องยนต์ (ทั้งรถบัสนำเที่ยว รถตู้ และรถส่วนตัว ควันโขมง) การขับรถบิ๊กไบค์มาโชว์พาวส่งเสียงดัง หรือท่าทีดัดจริตตอแหล และมีพฤติกรรมเบ่งกร่างเหยียดหยามชาวบ้าน ฯลฯ

“ท่านรู้มั้ยว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐเป็นนโยบายการหาเงินที่มักง่าย ไม่รับผิดชอบระยะยาว นอกจากบรรดาข้าราชการจะฉกฉวยผลประโยชน์/คอร์รัปชั่น ทำงานสร้างภาพแบบลูบหน้าปะจมูกแล้ว ยังสร้างปัญหาให้ชาวบ้านทุกด้าน ทั้งเกิดอิทธิพลในท้องถิ่น เกิดช่องว่างทางรายได้ ทำลายสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ ต้นไม้ ลำคลอง และรบกวนวิถีชีวิต โดยรัฐไม่ได้วางแผนอะไรรองรับอย่างเป็นระบบ คิดแต่ เงิน เงิน เงิน ปล่อยให้ความโลภเข้าสิงคนในชาติจนทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอยอยู่ทั่วไป...”

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าวันนี้คีรีวงไม่ต้อนรับนักเที่ยว แต่ชาวคีรีวงกำลังเรียกร้องการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวที่คำนึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประการสำคัญ ความรับผิดชอบในนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐซึ่งเรียกร้องให้แก้ไขทั่วประเทศไม่เฉพาะคีรีวง

การท่องเที่ยวในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นรูปแบบ Mass-tourism การเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด โดยขาดการดูแลใส่ใจสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเทศเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ
นักท่องเที่ยวต่างชาติล้นเกาะสิมิลัน
กรณีนักท่องเที่ยวล้นทะเลคืออีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่ สังคมออนไลน์แชร์ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Loveaholic เที่ยวอยู่ได้ ซึ่งเผยให้เห็นภาพของนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ชายหาดหนาแน่นไปด้วยผู้คนแทบจะไม่มีที่ยืน คาดว่าอาจมีจำนวนสูงถึง 5,000 กว่าคนต่อวัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งชาวจีนที่มีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเกาะสิมิลันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมที่เข้ามาประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นตลอดจาก 34 ล้านคนในปีที่แล้ว จะมากกว่า 37 ล้านคนในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีไม่มีหยุด โดยไม่มีวี่แววว่าจะชะลอตัวเลขนักท่องเที่ยวได้ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวเกิน 1 ใน 5 ของ GDP ประเทศนั่น จึงไม่มีใครกล้าโต้แย้งอย่างจริงจัง

พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติการท่องเที่ยวอุทยานทางทะเล เช่น กำหนดแผนปฏิรูปประเทศกำหนดดัชนีความเสียหายปะการัง กำหนดยุทธศาสตร์ชาติกำหนดตัวเลขเพดานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไปอุทยานทางทะเล กำหนดเพดานนักท่องเที่ยวในอุทยานที่มีคนล้น เช่น พีพี, สิมิลัน ฯลฯ หาทางหยุดคนไว้ที่เพดานให้จงได้ ซึ่งต้องวัดใจว่าจะกล้าต้านกระแสท่องเที่ยวหรือไม่ รวมทั้ง การดูแลผลประโยชน์ให้อยู่ในมือคนไทยและการลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติการท่องเที่ยวเชิงทำลายที่สร้างปัญหาในพื้นที่ การเคลื่อนไหวของชาวชุมชนปากบารา จ.สตูล เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนกำลังเป็นที่ถูกจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะแนวคิดเก็บค่าท่องเที่ยว “เกาะเขาใหญ่” ราคา 800 บาทต่อคน เพื่อสร้างกระบวนการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช กระทั่ง มีข้อถกเถียงต่างๆ นานา

นายวินัย นุ้ยไฉน ประธานการท่องเที่ยวโดยชุมชนปากบารา อ.ละงู จ.สตูล โพสต์ชี้แจ้งเฟซบุ๊ค ตอนหนึ่งความว่า

“..ผมมองประเด็นว่าการท่องเที่ยวกระแสหลักราคาถูกที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเยอะว่าชุมชนได้อะไร ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขยะ การจราจรติดขัด การถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ประเด็นปัญหาใกล้ตัวเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านได้กลับมาทบทวนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการมากกว่าปริมาณ

“...บางท่านอาจจะคิดว่า 800 บาทแพง เกินไปแต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบาราไม่สามารถ “ขายเพชรในราคาเศษเหล็ก” ได้เพราะ 800 บาทบริหารกลไกการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินไทยได้ สร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชนและสร้างรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างลงตัว”

ทั้งนี้ กรณีปัญหาด้านการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่เกิดขึ้นในชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ล่าสุด มีรายงานว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางรายต้องปิดบริการชั่วคราวเพื่อทบทวนการจัดการท่องเที่ยวไม่ให้ส่งผลกระทบกับชุมชน

สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา สร้างรายได้รวมได้ที่ 2.76 ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นไปตามแผนการตลาดด้านการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35 ล้านคน และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวใน 9.5 แสนล้านบาท

ปี 2561 ททท. วางเป้าหมายการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปีหน้าอีก 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ มีรายได้รวมที่ 3.1 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลประกาศเน้นกระตุ้นท่องเที่ยวในท้องถิ่นและท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายโอกาสเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมา เม็ดเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงกระจุกตัวอยู่แค่กี่จังหวัด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองบรรเทาความหนาแน่นของแหล่งท่องเที่ยวหลัก

การท่องเที่ยวสร้างรายได้ 1 ใน 5 ของ GDP ประเทศ บทบาทของภาครัฐไม่ใช่แค่เพียงโปรโมทมุ่งในเรื่องรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จะทำอย่างไรให้เกิดแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั้งยืนที่แท้จริง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่ไม่เบียดเบียนวิถีชีวิตชุมชน

การวางแผนการท่องเที่ยวในระยะยาวเป็นโจทย์ข้อสำคัญที่รัฐต้องตีให้แตก หากเอาแต่โปรโมทโดยไม่รับผิดชอบใดๆ อนาคตอันใกล้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยคงพินาศไปตามๆ กัน




กำลังโหลดความคิดเห็น