xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคำถามสวนข้ออ้างกรมศุลฯปากแข็งปัดช่วย"เชฟรอน"เลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- กรมศุลกากรปฏิเสธช่วย"เชฟรอน"เลี่ยงภาษี อ้างไม่ยกเลิกใบขนน้ำมันเท็จ จะเรียกเก็บภาษีไม่ได้ ด้าน "รสนา" สวนไม่ยกเลิกใบขน ก็เก็บได้ตาม มาตรา 49 วรรค2 หยันหาข้ออ้างหวังทำลายหลักฐานพ้นโทษ คุก-ปรับหลายหมื่นล้าน ถามเชฟรอน ขอยกเว้นภาษี ตั้งแต่ปี 54 แต่กรมศุลฯ พูดถึงเฉพาะปี58 - 59 ตกลงต้องเก็บคืนให้รัฐตั้งแต่ปีไหนกันแน่

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ตอบคำชี้แจงของอธิบดีกรมศุลกากรเรื่องยกเลิกใบขนเพื่อทำลายหลักฐานการสมคบคิดเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่"

หลังจากบทความดิฉัน ที่ตั้งคำถาม เรื่องข้าราชการในกรมศุลกากรเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมัน ตามรอยอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ที่แนะนำเอกชนหลีกเลี่ยงการเสียภาษีซื้อขายหุ้น และถูกศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญาไปแล้วนั้น

อธิบดีกรมศุลกากรได้ทำข้อชี้แจง 3 ข้อ ดังนี้

1. บริษัท เชฟรอน (ไทย) ทำข้อหารือในปี 2558 มาที่กรมศุลกากรว่า การส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะ เป็นการส่งออกหรือการค้าชายฝั่ง และกรมศุลฯ โดย ผอ.สำนักกฎหมาย(สกม.)ได้ตอบข้อหารือ เชฟรอน ว่าเป็นการส่งออกที่ไม่มีภาษี ต่อมาปี 2559 คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า เป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี กรมศุลฯ จึงต้องปฏิบัติตาม แจ้งบริษัท ให้เสียภาษี

2. การเพิกถอนใบขนนั้น เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 49 วรรค 2 และต้องเพิกถอนภายใน 90 วัน มิฉะนั้น จะเก็บภาษีคืนไม่ได้ และเพื่อป้องกันบริษัทไม่ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ที่อ้างว่าทำตามแนวทางการตอบข้อหารือของกรมศุลกากรโดยสุจริต

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทมีเจตนาทุจริตจริง และเห็นว่าเป็นความผิดฐานลักลอบ กรมก็ยังสามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้เกิดความผิดไปแล้ว แม้จะมีการแก้ไขให้ถูกต้องในภายหลัง

3. การยกเลิกใบขนสินค้า ทำตามความเห็นของ ผู้ว่าการ สตง. และไม่ได้จะช่วยเอกชนหลบเลี่ยงการเสียภาษี

ดิฉันขอแสดงความเห็น และตั้งคำถามให้ท่านอธิบดีช่วยตอบเพิ่มเติม ดังนี้
1. บริษัท เชฟรอน (ไทย) ไม่ได้เพิ่งมาหารือกรมศุลกากร ในปี 2558 ที่จริง บริษัท เชฟรอน เคยหารือประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว และกรมศุลฯ ก็ตอบว่าเป็นการส่งออก ทำให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) นำไปอ้างขอยกเว้นภาษี ตั้งแต่ปี 2554 - 2557 จนถูกด่านศุลกากรที่สงขลาจับ และยึดน้ำมันเถื่อนได้ 1.6 ล้านลิตร มูลค่า 48 ล้านบาท ตั้งแต่ ก.พ.57 ผู้บริหารในกรมศุลฯ จึงให้บริษัท เชฟรอน กลับไปซื้อน้ำมันแบบชายฝั่งในปี 57 - 58 พอต้นปี 58 บริษัท เชฟรอน (ไทย) ก็มาหารืออีก แล้วผอ.สำนักกฎหมาย ก็ตอบคำหารือว่า เป็นการส่งออก ไม่ต้องเสียภาษีอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่า บริษัท เชฟรอน ไม่ได้ส่งออก แต่เอามาใช้ในประเทศ เพราะเหตุใดจึงตอบคำหารือว่าเป็นการส่งออก อีกทั้งที่เคยให้ไปซื้อแบบการค้าชายฝั่งมาแล้ว ?

ท่านอธิบดี ชี้แจงประเด็นนี้โดยตัดตอนช่วงเวลาว่า เชฟรอน มาหารือในปี58 และใช้สิทธิยกเว้นภาษี เฉพาะปี58-59 โดยไม่รวมช่วงที่บริษัท เชฟรอน ใช้สิทธิยกเว้นภาษี ระหว่างปี54-57 ซึ่งหมายความว่า ท่านอธิบดีเชื่อว่าการตอบข้อหารือในปี58 ว่า เป็นการส่งออกนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จนกระทั่งกฤษฎีกามาวินิจฉัยใหม่ ว่าเป็นการค้าชายฝั่ง ท่านเลยต้องยอมรับคำวินิจฉัย ใช่หรือไม่ แล้วตกลงบริษัทเชฟรอน ต้องจ่ายภาษีที่ได้รับยกเว้นคืนให้รัฐตั้งแต่ปีไหนกันแน่ ?
1.1) คืนภาษีตั้งแต่ปี54-57 และ ปี58-59
1.2) หรือว่าคืนภาษีแค่ปี58-59 เท่านั้น ขอให้ช่วยชี้แจงด้วย

ประการต่อมา ผอ.สำนักกฎหมาย มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดี หรือไม่ อาศัยระเบียบข้อใด ช่วยชี้แจง

2. ข้ออ้างที่ว่าต้องเพิกถอนใบส่งออกของเชฟรอน จึงจะสามารถเรียกเก็บภาษี และเพื่อเพิกถอนสิทธิของบริษัทที่อ้างการตอบข้อหารือของ กรมศุลฯไปอ้างใช้สิทธิยกเว้นภาษีนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัท เชฟรอน (ไทย) ไม่เคยสำแดงการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเพื่อขอยกเว้นภาษีเลยแม้แต่ครั้งเดียว จึงไม่มีความสัมพันธ์กับการหารือกรมศุลกากร เรื่องส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกแต่อย่างใด

บริษัท เชฟรอน (ไทย) สำแดงใบส่งออกไปในในพื้นที่ ที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยใช้รหัส zzหมายถึงเขตต่อเนื่อง และ รหัส yyหมายถึงนอกราชอาณาจักร ไม่มีรหัสไปแท่นขุดเจาะที่เป็นการยกเว้นภาษี เมื่อนายตรวจศุลกากร เห็นรหัสส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงตรวจปล่อย และ เชฟรอน นำไปขอยกเว้นภาษี จึงเป็นการสำแดงส่งออกเป็นเท็จ ใช่ หรือไม่

ส่วนหนังสือตอบข้อหารือของสำนักกฎหมาย ก็เป็นเพียงเอกสารที่สร้างขึ้นมา เพื่อเอาไว้อ้างคุ้มครองเมื่อถูกตรวจพบความผิดเท่านั้น ว่าทำตามความเห็นของการหารือโดยสุจริต ใช่หรือไม่

ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 49 วรรค 2 ได้บัญญัติว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ภายใน 90 วัน “เว้นแต่คำสั่งทางปกครองจะได้ทำขึ้น เพราะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก...ที่มิชอบด้วยกฎหมาย”ดังนั้น เอกสารการส่งออก ที่เป็นเท็จของเชฟรอน จึงยกเลิกเพิกถอนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ดังนั้น กรณีการเรียกเก็บภาษีที่เชฟรอนสำแดงเท็จ เพื่อขอยกเว้นไปก่อนหน้านั้น แม้ไม่ยกเลิกใบขนก็เก็บภาษีได้ ในเมื่อไม่ใช่การส่งออก แต่เป็นการค้าชายฝั่ง ก็ต้องเสียภาษี ดังนั้น เหตุผลที่ว่า ต้องยกเลิกใบขนจึงจะเก็บภาษีได้นั้น จึงไม่ถูกต้อง และการยกเลิกเพิกถอนใบขนส่งออกที่เป็นการสำแดงเท็จ จึงน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างในการทำลายหลักฐานเพื่อให้ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จะได้เสียภาษีเฉพาะภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไม่ครบ แต่จะรอดพ้นจากกฎหมายศุลกากร ที่มีโทษปรับผู้สำแดงใบส่งออกเป็นเท็จเพื่อฉ้อภาษีของรัฐ ที่มีโทษปรับสูงถึง 4 เท่า ของมูลค่าสินค้า ซึ่งน่าจะเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท และยังมีโทษทางอาญาอีกด้วย ใช่หรือไม่

ท่านอธิบดีสมควรทราบเป็นอย่างดีว่า ในมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ศุลกากรฯ ฉบับที่ 9 ก็บัญญัติชัดเจนว่า ความผิดฐานเลี่ยงภาษีในมาตรา 27 และมาตรา 99 ให้ “ถือเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำ ทำด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ”

3. การเพิกถอนใบขนสินค้า จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นการทำลายหลักฐาน ทั้งเพื่อช่วยเอกชนไม่ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายศุลกากร และเพื่อเป็นการล้างความผิดของข้าราชการที่มีส่วนช่วยเอกชนในคดีเลี่ยงภาษีนี้ด้วย ใช่หรือไม่

หากปล่อยให้มีการยกเลิกใบขนสินค้าได้จริง จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในอนาคต ที่เปิดช่องให้ข้าราชการ สามารถให้คำหารือผิดๆ เอาไว้คุ้มครองเอกชน ส่วนเอกชน เมื่อถูกจับได้ว่าสำแดงเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี ข้าราชการก็จะช่วยเพิกถอนใบส่งออกเป็นเท็จได้ ต่อไปก็จะไม่สามารถจับคนเลี่ยงภาษีได้อีกแล้ว ใช่หรือไม่

ขอให้ท่านอธิบดี ช่วยชี้แจงว่าที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกใบขนที่เป็นการสำแดงเท็จในกรณีใดบ้าง ช่วยยกให้เป็นตัวอย่าง หรือว่ากรณีนี้ เป็นกรณีแรก ?

ข้าราชการที่อยู่ตำแหน่งดูแลการเก็บภาษีให้รัฐ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ต้องเป็นบุคคลที่มีความสำนึกในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพราะการทุจริตของเอกชน จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงคอยชี้ช่องให้ คอยถ่างช่องว่างของกฎหมายให้เป็นรูใหญ่ ขนาดช้างลอดได้ เพื่อให้เอกชนได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช่ หรือไม่

ดิฉันก็ขอใช้โอกาสนี้ กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี หากท่านไม่เข้ามาแก้ไข ขบวนการสมคบกันฉ้อภาษีของรัฐในกรณีนี้ ท้องพระคลังของประเทศ ก็จะเป็นกะเชอก้นรั่ว เพราะมีข้าราชการเลวที่มีอำนาจเพียงไม่กี่คน สมคบเอกชนคอยเจาะรูรั่วให้กับกระเป๋าเงินของประเทศให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล โดยไม่ต้องรับผิดชอบ หากปล่อยไว้บ้านเมืองก็เกิดจะเสียหายทั้งในปัจจุบัน และในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น