xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยพีบีเอส” ตะแบง “กฤษฎีกา” อ้างแค่ระเบียบผิด ปม “กฤษดา” ซื้อหุ้นกู้เอกชน 193 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online -เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือถึง “ไทยพีบีเอส” ชี้ กรณีอดีตผู้บริหารฯ ยุค “กฤษดา” นำเงินไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านคณะกรรมการนโยบายอ้าง ระเบียบการเงินฯ ไม่สอดคล้อง พ.ร.บ.ส.ส.ท. เตรียมตั้งกรรมการแก้ไขระเบียบ แต่ไม่บอกว่าคนซื้อ-คนอนุมัติผิด

รายงานข่าวแจ้งว่า นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การนำรายได้ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยไปหาผลประโยชน์ กรณีที่นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จากธนาคารที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายมูลค่า 193 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีประเด็นต้องพิจารณาว่า ข้อ 9 ของระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเงิน บัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ ส.ส.ท. สามารถนำรายได้ไปหาผลประโยชน์ได้ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เป็นระเบียบที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. ส.ส.ท.) หรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า มาตรา 7 ถึงมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ของ ส.ส.ท. ในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการผลิตและสร้างสรรค์รายการข่าวสารต่างๆ โดยไม่เก็บค่าสมาชิกและไม่หารายได้จากโฆษณา นอกจากนี้ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. ยังกำหนดว่า เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 ส.ส.ท. มีอำนาจทำกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการขององค์การ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนอื่นใดในการให้บริการ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ โดยมีคณะกรรมการนโยบายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 28 ในการกำหนดนโยบายทั่วไปขององค์การ ให้ความเห็นชอบแผนการบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงกำหนดระเบียบกลางเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การงบประมาณและทรัพย์สิน ซึ่งการออกระเบียบกลางดังกล่าว ก็จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่หลัก และอำนาจในการทำกิจการของ ส.ส.ท. ด้วย

โดยที่ระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเงิน บัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 (9) แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. ซึ่งในข้อ 9 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ ส.ส.ท. สามารถนำรายได้ไปหาผลประโยชน์ได้ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่การนำรายได้ไปหาผลประโยชน์ดังกล่าว ย่อมจะต้องพิจารณาประกอบกับมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. ที่บัญญัติถึงอำนาจในการทำกิจการและแหล่งรายได้ขององค์การ ดังนั้น การกำหนดเรื่องการนำรายได้ไปหาผลประโยชน์ตามข้อ 9 ของระเบียบดังกล่าว จึงต้องมีความสอดคล้อง และไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายแม่บท โดยต้องเป็นการทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 ด้วย

กรณีตามข้อหารือ การที่ ส.ส.ท. ได้อาศัยระเบียบ ส.ส.ท. ว่าด้วยการเงิน บัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 ข้อ 9 (4) นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ ซีพีเอฟ แม้จะเป็นการนำเงินรอการใช้จ่ายไปหาดอกผลทางนิตินัยก็ตาม แต่อำนาจในการทำกิจการของ ส.ส.ท. ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. ไม่ได้บัญญัติถึงการนำเงินไปลงทุนในกิจการอื่นแต่อย่างใด คงมีแต่เพียงกรณีตามมาตรา 9 (3) ที่บัญญัติถึงการเข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององ๕การเท่านั้น และแม้ว่ามาตรา 9 (5) จะให้อำนาจ ส.ส.ท. สามารถดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่หลักตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ด้วยเช่นกัน

“เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นบางแห่งที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ พบว่ารัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่บทอย่างชัดเจน ถึงอำนาจในการนำเงินไปลงทุนได้ เมื่อปรากฏว่า ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท. มิได้บัญญัติให้อำนาจในการนำเงินไปลงทุนหรือซื้อหุ้นได้ การที่ ส.ส.ท. ออกระเบียบฯ ข้อ 9 กำหนดให้สามารถนำรายได้ไปหาผลประโยชน์โดยการนำไปลงทุนอื่นๆ จึงไม่ใช่การทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และยังเป็นกรณีนอกเหนือจากขอบวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่หลักขององค์การหรือกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององค์การ จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส.ส.ท.” หนังสือดังกล่าว ระบุ

ด้านคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ได้ออกคำแถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ย. กรณีข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การนำรายได้ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยไปหาผลประโยชน์ ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนำรายได้ของไทยพีบีเอสไปหาผลประโยชน์ ตามข้อ 9 แห่งระเบียบ สสท. ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 ว่าสอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ. สสท.) พ.ศ. 2551 หรือไม่ นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสรุปว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. สสท. พ.ศ. 2551 มิได้บัญญัติให้มีอำนาจนำเงินรายได้ไปหาผลประโยชน์ โดยนำไปลงทุนอื่นๆ ดังนั้น การออกระเบียบ สสท. ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 ข้อ 9 ไม่สอดคล้องกับมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. สสท. พ.ศ. 2551

คณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส เห็นว่า ความเห็นเรื่องข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ระเบียบนี้ออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และมีการปรับปรุงแก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2558 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. สสท. พ.ศ. 2551 คณะกรรมการนโยบายจึงแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและปรับปรุงระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 ข้อ 9 โดยนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าว MGR Online รายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากในยุคที่ นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (ขณะนั้น) ได้นำเงินทุนหมุนเวียนของไทยพีบีเอส ไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จากธนาคารที่ทำหน้าที่จัดจำหน่าย มูลค่า 193 ล้านบาท ในลักษณะการซื้อตราสารหนี้ ผลตอบแทนดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ลงชื่อ 3 ราย คือ นายกฤษดา, รศ.ดร. วิลาสินี อดุลยานนท์ พิพิธกุล และ นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน และกังวลว่าอาจกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ

ต่อมาวันที่ 15 มี.ค. คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสได้ประชุมเพื่อพิจารณาขายหุ้นกู้ของบริษัท ซีพีเอฟ นายกฤษดาได้แจ้งลาออกในที่ประชุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายได้เห็นชอบดังกล่าว มีผลให้นายอนุพงษ์, นายสุวิทย์ สาสนพิจิตร์ และ รศ.ดร. วิลาสินี รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ขณะนั้น หมดสภาพตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ พบว่า ในรอบแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย มีมติ 2 ใน 3 เลือก รศ.ดร.วิลาสินี กลับเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ชนะผู้ท้าชิงอีกราย คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายหลัง รศ.ดร.วิลาสินี ได้แต่งตั้ง นายอนุพงษ์ กลับเข้ามาเป็น รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. อีกครั้ง

กรณีดังกล่าวทำให้เป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึง นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส เพื่อให้ทำการสอบสวนกรณีที่ผู้บริหารไทยพีบีเอสยุคนายกฤษดา นำเงินไปซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน เนื่องจากเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของ ส.ส.ท. ที่ใช้จ่ายเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่ได้ขออนุมัติจากบอร์ดนโยบายฯ ก่อน โดยมีชื่อ รศ.ดร.วิลาสินี และ นายอนุพงษ์ เป็นผู้ลงนามซื้อหุ้นร่วมกับนายกฤษดาอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น