กรมศุลกากรปฏิเสธช่วย"เชฟรอน"เลี่ยงภาษี อ้างไม่ยกเลิกใบขนน้ำมันเท็จจะเรียกเก็บภาษีไม่ได้ ด้าน"รสนา" สวนไม่ยกเลิกใบขนก็เก็บได้ตามมาตรา 49 วรรค2 หยันหาข้ออ้างหวังทำลายหลักฐานพ้นโทษคุก - ปรับหลายหมื่นล้าน ถามเชฟรอนขอยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2554 แต่กรมศุลฯพูดถึงเฉพาะปี 2558 - 2559 ตกลงต้องเก็บคืนให้รัฐตั้งแต่ปีไหนกันแน่?
วันที่ 18 พ.ย. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “ตอบคำชี้แจงของอธิบดีกรมศุลกากรเรื่องยกเลิกใบขนเพื่อทำลายหลักฐานการสมคบคิดเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่”
หลังจากบทความดิฉันที่ตั้งคำถาม เรื่อง ข้าราชการในกรมศุลกากรเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมัน ตามรอยอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากรที่แนะนำเอกชนหลีกเลี่ยงการเสียภาษีซื้อขายหุ้นและถูกศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญาไปแล้วนั้น
อธิบดีกรมศุลกากรได้ทำข้อชี้แจง 3 ข้อดังนี้
1) บริษัท เชฟรอน (ไทย) ทำข้อหารือในปี 2558 มาที่กรมศุลกากร ว่า การส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกหรือการค้าชายฝั่ง และกรมศุลฯโดย ผอ.สำนักกฎหมาย (สกม.) ได้ตอบข้อหารือเชฟรอน ว่า เป็นการส่งออกที่ไม่มีภาษี ต่อมาปี 2559 คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ว่า เป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี กรมศุลฯจึงต้องปฏิบัติตาม แจ้งบริษัทให้เสียภาษี
2) การเพิกถอนใบขนนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตรา 49 วรรค 2 และต้องเพิกถอนภายใน 90 วัน มิฉะนั้น จะเก็บภาษีคืนไม่ได้ และเพื่อป้องกันบริษัทไม่ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่อ้างว่าทำตามแนวทางการตอบข้อหารือของกรมศุลกากรโดยสุจริต
หากปรากฏข้อเท็จจริง ว่า บริษัทมีเจตนาทุจริตจริงและเห็นว่าเป็นความผิดฐานลักลอบ กรมก็ยังสามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้เกิดความผิดไปแล้วแม้จะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ในภายหลัง
3) การยกเลิกใบขนสินค้าทำตามความเห็นของผู้ว่าการ สตง. และไม่ได้จะช่วยเอกชนหลบเลี่ยงการเสียภาษี
ดิฉันขอแสดงความเห็นและตั้งคำถามให้ท่านอธิบดีช่วยตอบเพิ่มเติม ดังนี้
1) บริษัท เชฟรอน (ไทย) ไม่ได้เพิ่งมาหารือกรมศุลกากรในปี 2558 ที่จริงบริษัท เชฟรอน แต่เคยหารือประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว และกรมศุลฯก็ตอบว่าเป็นการส่งออก ทำให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) นำไปอ้างขอยกเว้นภาษีตั้งแต่ปี 2554 - 2557 จนถูกด่านศุลกากรที่สงขลาจับและยึดน้ำมันเถื่อนได้ 1.6 ล้านลิตร มูลค่า 48 ล้านบาท ตั้งแต่ ก.พ. 2557 ผู้บริหารในกรมศุลฯจึงให้บริษัท เชฟรอน กลับไปซื้อน้ำมันแบบชายฝั่งในปี 2557 - 2558 พอต้นปี 2558 บริษัท เชฟรอน (ไทย) ก็มาหารืออีก แล้ว ผอ.สำนักกฎหมายก็ตอบคำหารือว่าเป็นการส่งออก ไม่ต้องเสียภาษีอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่าบริษัท เชฟรอน ไม่ได้ส่งออก แต่เอามาใช้ในประเทศ เพราะเหตุใดจึงตอบคำหารือว่าเป็นการส่งออกอีกทั้งที่เคยให้ไปซื้อแบบการค้าชายฝั่งมาแล้ว?
ท่านอธิบดีชี้แจงประเด็นนี้โดยตัดตอนช่วงเวลาว่าเชฟรอนมาหารือในปี 2558 และใช้สิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะปี 2558 - 2559 โดยไม่รวมช่วงที่บริษัท เชฟรอน ใช้สิทธิยกเว้นภาษี ระหว่างปี 2554 - 2557 ซึ่งหมายความว่าท่านอธิบดีเชื่อว่าการตอบข้อหารือในปี 2558 ว่า เป็นการส่งออกนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จนกระทั่งกฤษฎีกามาวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นการค้าชายฝั่ง ท่านเลยต้องยอมรับคำวินิจฉัย ใช่หรือไม่ แล้วตกลงบริษัทเชฟรอนต้องจ่ายภาษีที่ได้รับยกเว้นคืนให้รัฐตั้งแต่ปีไหนกันแน่?
1.1) คืนภาษีตั้งแต่ 2554 - 2557 และ 2558 - 2559
1.2) หรือว่าคืนภาษีแค่ปี 2558 - 2559 เท่านั้น ขอให้ช่วยชี้แจงด้วย
ประการต่อมา ผอ.สำนักกฎหมายมีอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีหรือไม่ อาศัยระเบียบข้อใด ช่วยชี้แจง
2) ข้ออ้างที่ว่าต้องเพิกถอนใบส่งออกของเชฟรอน จึงจะสามารถเรียกเก็บภาษี และเพื่อเพิกถอนสิทธิของบริษัทที่อ้างการตอบข้อหารือของกรมศุลฯไปอ้างใช้สิทธิยกเว้นภาษีนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัท เชฟรอน (ไทย) ไม่เคยสำแดงการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเพื่อขอยกเว้นภาษีเลยแม้แต่ครั้งเดียว จึงไม่มีความสัมพันธ์กับการหารือกรมศุลกากรเรื่องส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกแต่อย่างใด
บริษัท เชฟรอน (ไทย) สำแดงใบส่งออกไปในในพื้นที่ที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยใช้รหัส zz หมายถึงเขตต่อเนื่อง และรหัส yy หมายถึงนอกราชอาณาจักร ไม่มีรหัสไปแท่นขุดเจาะที่เป็นการยกเว้นภาษี เมื่อนายตรวจศุลกากรเห็นรหัสส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงตรวจปล่อย และเชฟรอนนำไปขอยกเว้นภาษี จึงเป็นการสำแดงส่งออกเป็นเท็จ ใช่หรือไม่
ส่วนหนังสือตอบข้อหารือของสำนักกฎหมายก็เป็นเพียงเอกสารที่สร้างขึ้นมา เพื่อเอาไว้อ้างคุ้มครองเมื่อถูกตรวจพบความผิดเท่านั้น ว่าทำตามความเห็นของการหารือโดยสุจริต ใช่หรือไม่
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 49 วรรค 2 ได้บัญญัติว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ภายใน 90 วัน “เว้นแต่คำสั่งทางปกครองจะได้ทำขึ้น เพราะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก...ที่มิชอบด้วยกฎหมาย” ดังนั้น เอกสารการส่งออกที่เป็นเท็จของเชฟรอนจึงยกเลิกเพิกถอนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ดังนั้น กรณีการเรียกเก็บภาษีที่เชฟรอนสำแดงเท็จเพื่อขอยกเว้นไปก่อนหน้านั้น แม้ไม่ยกเลิกใบขนก็เก็บภาษีได้ในเมื่อไม่ใช่การส่งออก แต่เป็นการค้าชายฝั่ง ก็ต้องเสียภาษี ดังนั้น เหตุผลที่ว่าต้องยกเลิกใบขนจึงจะเก็บภาษีได้นั้นจึงไม่ถูกต้อง และการยกเลิกเพิกถอนใบขนส่งออกที่เป็นการสำแดงเท็จจึงน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างในการทำลายหลักฐานเพื่อให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จะได้เสียภาษีเฉพาะภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไม่ครบ แต่จะรอดพ้นจากกฎหมายศุลกากรที่มีโทษปรับผู้สำแดงใบส่งออกเป็นเท็จเพื่อฉ้อภาษีของรัฐ ที่มีโทษปรับสูงถึง 4 เท่าของมูลค่าสินค้า ซึ่งน่าจะเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท และยังมีโทษทางอาญาอีกด้วย ใช่หรือไม่
ท่านอธิบดีสมควรทราบเป็นอย่างดี ว่า ในมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ศุลกากรฯ ฉบับที่ 9 ก็บัญญัติชัดเจนว่าความผิดฐานเลี่ยงภาษีในมาตรา 27 และมาตรา 99 ให้ “ถือเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำ ทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ”
3) การเพิกถอนใบขนสินค้าจึงน่าจะเข้าข่ายเป็นการทำลายหลักฐาน ทั้งเพื่อช่วยเอกชนไม่ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายศุลกากร และเพื่อเป็นการล้างความผิดของข้าราชการที่มีส่วนช่วยเอกชนในคดีเลี่ยงภาษีนี้ด้วยใช่หรือไม่
หากปล่อยให้มีการยกเลิกใบขนสินค้าได้จริง จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในอนาคต ที่เปิดช่องให้ข้าราชการสามารถให้คำหารือผิดๆ เอาไว้คุ้มครองเอกชน ส่วนเอกชนเมื่อถูกจับได้ว่าสำแดงเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี ข้าราชการก็จะช่วยเพิกถอนใบส่งออกเป็นเท็จได้ ต่อไปก็จะไม่สามารถจับคนเลี่ยงภาษีได้อีกแล้ว ใช่หรือไม่
ขอให้ท่านอธิบดีช่วยชี้แจงว่าที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกใบขนที่เป็นการสำแดงเท็จในกรณีใดบ้าง ช่วยยกให้เป็นตัวอย่าง หรือว่ากรณีนี้เป็นกรณีแรก?
ข้าราชการที่อยู่ตำแหน่งดูแลการเก็บภาษีให้รัฐเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ต้องเป็นบุคคลที่มีความสำนึกในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพราะการทุจริตของเอกชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงคอยชี้ช่องให้ คอยถ่างช่องว่างของกฎหมายให้เป็นรูใหญ่ขนาดช้างลอดได้เพื่อให้เอกชนได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช่หรือไม่
ดิฉันก็ขอใช้โอกาสนี้กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี หากท่านไม่เข้ามาแก้ไขขบวนการสมคบกันฉ้อภาษีของรัฐในกรณีนี้ ท้องพระคลังของประเทศก็จะเป็นกะเชอก้นรั่ว เพราะมีข้าราชการเลวที่มีอำนาจเพียงไม่กี่คนสมคบเอกชนคอยเจาะรูรั่วให้กับกระเป๋าเงินของประเทศให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลโดยไม่ต้องรับผิดชอบ หากปล่อยไว้บ้านเมืองก็เกิดจะเสียหายทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว