xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐานมัดเชฟรอน “รสนา”แฉสำแดงใบขนน้ำมันเท็จ เข้าข่ายโกงภาษีรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"รสนา"ดักคอกรมศุลกากร - กระทรวงการคลัง ระวัง ม.157 หากคิดช่วยให้"เชฟรอน"พ้นผิด เปิดหลักฐานสำแดงใบขนน้ำมันเท็จซ้ำซาก เอาน้ำมันปลอดภาษีตามโครงการรัฐช่วยเหลือเรือประมงไทยไปขายให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน เพื่อนำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ เชื่อเจตนาอำพรางฉ้อภาษีของรัฐ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ศุลกากรอีกหลายมาตรา

วานนี้ (15 ม.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก"รสนา โตสิตระกูล" ต่อเนื่องความผิด บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด หัวข้อ "หลักฐานเด็ด! คลายปมเชฟรอนหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมัน สำแดงเอกสารส่งออกอันเป็นเท็จหรือไม่"

ต้องขอบคุณคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ตัดสินอย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมาย ที่ว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นการค้าชายฝั่ง หรือในราชอาณาจักร ที่ต้องเสียภาษี ดังความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัย ระบุว่า

"หากเป็นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม ที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีปเพื่อใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามที่ขอหารือมา พ.ร.บ ปิโตรเลียมฯได้กำหนดนิยามของคำว่า

"ราชอาณาจักร" ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดปิโตรเลียม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล จึงต้องถือตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือ ถือว่าการขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใดๆเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย"

คำวินิจฉัยนี้ถือว่าชัดเจนแล้วว่า การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในพื้นที่ไหล่ทวีป ไม่ใช่การส่งออก จึงมีประเด็นใหม่เกิดขึ้นว่า บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ได้สำแดงใบขนน้ำมันที่ถูกต้องหรือไม่

ตั้งแต่ปี 2554-2557 บริษัท เชฟรอนไทย สำแดงใบขนด้วยรหัส ZZ ซึ่งหมายถึงการส่งน้ำมันไปขายยังเขตต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ส่งไปยังเขตต่อเนื่องจริง กลับนำน้ำมันดีเซลที่ปลอดภาษี ขายให้กับบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต (สผ.) จำกัด เพื่อนำไปใช้ยังแท่นขุดเจาะที่เอราวัณ ใช่หรือไม่

การส่งน้ำมันไปขายยังเขตต่อเนื่องเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเรือประมงไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับสมาคมประมงได้ซื้อน้ำมันเขียวในราคาปลอดภาษี เพื่อนำไปจับปลานอกน่านน้ำไทย เรือประมงที่ซื้อน้ำมันเขียวจากเขตต่อเนื่องต้องนำน้ำมันเขียวไปใช้นอกราชอาณาจักรเท่านั้น ไม่สามารถนำกลับมาใช้ในน่านน้ำไทยได้อีก

การที่บริษัท เชฟรอนไทย สำแดงใบขนว่าส่งน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ส่งไปขายที่เขตต่อเนื่องจริง กลับนำไปขายให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน เพื่อนำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ จึงถือเป็นการสำแดงใบขนอันเป็นเท็จ ใช่หรือไม่

บริษัท เชฟรอน สผ. เมื่อซื้อน้ำมันมาใช้ที่แท่นขุดเจาะ ที่แหล่งเอราวัณ และได้นำน้ำมันมาใช้กับเรือบริการ(supply boat)ที่วิ่งในน่านน้ำอ่าวไทยเพื่อรับส่งอุปกรณ์ระหว่างแท่นขุดเจาะกับแผ่นดินใหญ่ด้วย และถูกด่านสงขลาจับได้เมื่อต้นปี 2557 เพราะน้ำมันส่งออกได้เติมมาร์คเกอร์สีเขียว เพื่อแยกแยะว่าเป็นน้ำมันที่ปลอดภาษี การที่เชฟรอน สผ. นำน้ำมันส่งออกมาวิ่งบริการในอ่าวไทย จึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือว่าเอาน้ำมันเถื่อนมาใช้ในประเทศ ด่านสงขลาจับเรือซัพพลายของเชฟรอน สผ. ได้ 8 ลำ มีน้ำมันเขียวจำนวน 1.6 ล้านลิตร จึงยึดไว้ และเชฟรอนยอมทำเรื่องระงับคดีกับด่านสงขลา โดยยอมให้ยึดน้ำมันเถื่อนทั้งหมด ด่านสงขลาไม่มีที่เก็บน้ำมัน จึงขายน้ำมันได้เงินมา 48 ล้านบาท

ด่านสงขลามีอำนาจอนุมัติในการระงับคดีได้ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท กรณีการระงับคดีกับเชฟรอน จึงเกินอำนาจที่ด่านสงขลาจะอนุมัติได้เอง จึงต้องส่งเรื่องการระงับคดีมาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดีที่ส่วนกลาง แต่จนบัดนี้จะครบ 3 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้ว คณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดี ยังไม่อนุมัติการระงับคดีของเชฟรอน เพื่อจะได้ส่งเงิน 48 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดินเสียที ขอถามว่า เพราะเหตุใดจึงมีความล่าช้ามากขนาดนี้ ?

หลังจากบริษัท เชฟรอน สผ. ถูกจับน้ำมันเถื่อนได้ที่ด่านสงขลา ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงว่า เชฟรอนไม่ได้ส่งออกน้ำมันจริงตามใบสำแดงการส่งออก หลังจากที่เชฟรอนถูกจับน้ำมันเถื่อน ทางศุลกากรจึงให้เชฟรอนกลับไปซื้อน้ำมันในรูปแบบการค้าชายฝั่งไปก่อนในระหว่างปี 2557 - 2558

เชฟรอนกลับมาหารือเรื่องการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะ ว่าเป็นการส่งออกหรือไม่อีกครั้ง ในต้นปี 58 และทางสำนักกฎหมายก็ตอบหนังสือหารือของเชฟรอนในเดือนเม.ย.58 ว่าการส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะที่อยู่นอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เป็นการส่งออกไม่ใช่การค้าชายฝั่ง บริษัท เชฟรอนไทย จึงกลับมาใช้ใบสำแดงการขนเป็นส่งออก ตั้งแต่ปี 58 บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนการสำแดงใบขนเป็นรหัส YY ซึ่งเป็นรหัสว่าส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้ระบุเมืองท่าของประเทศใด แต่ก็ยังคงนำน้ำมันไปขายต่อให้บริษัท เชฟรอน สผ. เพื่อไปใช้ที่แท่นขุดเจาะที่เอราวัณ เหมือนเดิม

เมื่อกฤษฎีกาคณะพิเศษยืนยันว่า แท่นขุดเจาะอยู่ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 การสำแดงใบขนไปนอกราชอาณาจักร แต่นำไปขายให้ใช้ที่แท่นขุดเจาะ จึงเป็นการสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ ใช่หรือไม่

สำหรับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด หากการสำแดงเอกสารใบขนทั้งรหัส ZZ คือ นำน้ำมันไปขายที่เขตต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ส่งไปเขตต่อเนื่องจริง และการสำแดงใบขนรหัส YY คือ ส่งไปออกน้ำมันไปนอกราชอาณาจักร แต่ไม่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรจริง น้ำมันทั้งหมดยังคงนำไปใช้ยังแท่นขุดเจาะที่เอราวัณ ที่อยู่ในราชอาณาจักรเช่นเดิม พฤติกรรมของบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ดังกล่าว จะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ว่า เป็นการส่อว่ามีเจตนาอำพราง เพื่อเป็นการฉ้อภาษีของรัฐ ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร 2469 มาตรา 99 ว่าด้วยการสำแดงเอกสารใบขนอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้กระทำมีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดตาม มาตรา 27 ว่าด้วยการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด อาจจะอ้างว่าทำตามการตอบข้อหารือจากกรมศุลกากร แต่จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบ พ.ร.บ. ศุลกากร ฉบับที่ 9 ประกาศใช้ปี 2482 มาตรา 16 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การกระทำที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 และมาตรา 99 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนา หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ดังนั้น เชฟรอนจึงไม่สามารถแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด ทั้งไม่สามารถอ้างได้ว่าเพราะทำตามคำตอบข้อหารือของฝ่ายกฎหมายในกรมศุลกากร อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังมีโทษต่อเนื่องตามมาด้วย มาตรา 17 ที่ระบุว่า ของใดๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 ประกอบมาตรา16 ท่านให้ริบเสียสิ้นโดยมิพักต้องคำนึงว่า บุคคลผู้ใดจะต้องรับโทษหรือไม่

นอกจากนี้ บริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต จำกัด ที่ซื้อน้ำมันต่อจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 27ทวิ ที่บัญญัติว่าผู้ซื้อหรือรับของที่ตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 31 ที่ระบุว่า ของที่ต้องเสียภาษีผู้ใดนำลง หรือนำออกจากเรือลำใดในทะเล (ลงที่แท่นขุดเจาะ) ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 เพราะเป็นการฉ้อค่าภาษีของรัฐ ซึ่งโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือให้จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

คดีความที่ต้องจัดการของบริษัท เชฟรอน ทั้ง 2 บริษัท จึงไม่ใช่เพียงการเรียกคืนภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และกองทุนน้ำมันในมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีเงินระงับคดีที่เชฟรอน นำน้ำมันเถื่อนมาใช้อีก 48 ล้านบาท ที่ต้องปิดคดีส่งเป็นรายได้แผ่นดินโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้หรือไม่ว่า เชฟรอน น่าจะมีความผิดอีกหลายมาตรา ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ประกอบการเพิ่มเติมแก้ไขฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นความผิดที่สำเร็จเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว อยู่ที่ผู้ตรวจสอบจะดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจังโดยไม่ลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ หรือจะช่วยเหลือกันดังที่มีข่าวแว่วมาว่า ผู้บริหารในกรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง เปรยดังๆ ว่า คดีนี้คงไม่ต้องเอาผิดย้อนหลัง ใช่หรือไม่ ? แต่ถ้าจะมีการช่วยกันดังว่า รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามสังคม และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องระวังมาตรา 157 ให้ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น