“รสนา” จี้ นายกฯสั่ง “อัยการ - ดีเอสไอ” ฟ้องบริษัท “CPOC - CHESS” หลบเลี่ยงภาษีโดยเร่งด่วน หลังยืดเยื้อมานาน พร้อมให้ตั้งกรรมการสอบสวนผู้บริหารกรมศุลกากรสมรู้ร่วมคิดให้คำปรึกษาเอกชนเลี่ยงภาษี เพื่อป้องกันความเสียหายอันใหญ่หลวงกับประเทศชาติในอนาคต
วันนี้ (14 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” ว่า
“นายกฯควรสั่งการให้อัยการและดีเอสไอดำเนินการสั่งฟ้องบริษัท CPOC และ CHESS ที่หลบเลี่ยงภาษีโดยเร่งด่วน”
จากข่าวของไทยพับลิก้า เรื่อง “บิ๊กตู่” ไฟเขียว-ชงสรรพากรตรวจ VAT ผู้นำเข้าคอนเดนเสทผ่านบริษัทสิงคโปร์-เสียภาษี? เนื้อหาที่สำคัญ คือ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้สรุปผลการศึกษาส่งท่านนายกรัฐมนตรีโดยมีความเห็นว่า “การจัดเก็บภาษีทุกประเภทของกระทรวงการคลังจะพิจารณาจาก “จุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้น” หรือ “Tax Point” เป็นหลักการสำคัญ” ซึ่งคือจุดที่การซื้อขายและส่งมอบสำเร็จ ไม่ใช่ใช้ประเทศปลายทางเป็น tax point ตามที่สำนักกฎหมายของกรมศุลกากรพยายามจะยื้อตีความเช่นนั้น เพื่อช่วยให้บริษัทเอกชนไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐ ใช่หรือไม่
ดังนั้น คอนเดนเสทที่บริษัทCHESS และ CPOC ที่เป็นผู้รับสัมปทานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่ขายให้บริษัทนายหน้าสิงคโปร์ ก่อนขายต่อมาประเทศไทยจึงมีภาระภาษีส่งออก 5% เมื่อมีการซื้อขายและการส่งมอบสำเร็จ เพราะบริษัทสิงคโปร์ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกเหมือนที่ขายให้ประเทศไทยโดยตรง
ดังนั้น เมื่อบริษัทสิงคโปร์นำคอนเดนเสทมาขายต่อให้กับบริษัทน้ำมันในไทย บริษัทที่นำเข้าน้ำมันจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีกด้วยเหมือนการนำเข้าสินค้าโดยทั่วไป
โดยที่กรมศุลกากรไม่ดำเนินการกับบริษัท CPOC และ CHESS ที่สำแดงเอกสารการส่งออกเป็นเท็จและหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกรมศุลกากรต่อดีเอสไอให้เข้าตรวจสอบกรณีนี้ซึ่งดีเอสไอใช้เวลา3ปีในการตรวจสอบจนมีหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อหากับบริษัท CPOC เเละ CHESS แล้ว
ปรากฏว่า จู่ๆ ผู้บริหารจาก 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน ที่มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นโต้โผหลัก กระทรวงการคลังที่มีกรมศุลกากรที่เป็นทั้งเจ้าของเรื่อง และผู้ถูกร้องเรียน รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมที่ดูแลดีเอสไอ มีการนัดหมายมาประชุมร่วม 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 และมีมติให้ดีเอสไอชะลอการสอบสวนและการสั่งฟ้อง 2 บริษัทนี้ไปก่อน โดยมติในที่ประชุม 3 ฝ่าย ให้ดีเอสไอรอกรมศุลกากรส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการตีความเรื่องใช้ประเทศปลายทาง (Physical movement) เป็นหลักในการเก็บภาษี ซึ่งการตีความเช่นนี้ไม่มีข้อกฎหมายรองรับ และความเห็นนี้จะกลายเป็นการช่วยเหลือบริษัทเอกชนจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ใช่หรือไม่
บรรดาผู้บริหารจาก 3 กระทรวง ยังบังอาจเสนอเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นการเก็บภาษีกรณีนี้ อ้างว่า เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ!?! อันที่จริงน่าจะมีความมุ่งหมายจะช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนไม่ต้องรับโทษที่หลบเลี่ยงภาษีส่งออก และภาษีนำเข้ามากกว่า ใช่หรือไม่
นับจากมีรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 จนถึงขณะนี้ เวลาผ่านมา 4 เดือนแล้ว กรมศุลกากรก็ยังนิ่งเฉยไม่มีเอกสารส่งให้กับทางดีเอสไอแต่อย่างใด ส่วนดีเอสไอก็ทำท่าจะรอไปเรื่อยๆโดยไม่มีกำหนดเวลาว่าเมื่อไหร่จะส่งฟ้อง 2 บริษัทที่หลบเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ในข่าวระบุว่า ทางกรมศุลกากรยังดิ้นรนจะยื้อเวลาด้วยการจะส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีก ทั้งที่เคยถูกปฏิเสธมาครั้งหนึ่งแล้วจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี 2558 ว่า ไม่รับปรึกษา เพราะกรมศุลกากรสามารถพิจารณาได้เองตามกฎหมายอยู่แล้ว
ในมติที่ประชุม 3 ฝ่าย รองอธิบดีดีเอสไอมีพฤติกรรมประหลาดที่ระบุว่า จะส่งเรื่องในสำนวนการสอบสวนไปให้กรมศุลกากรที่ถูกร้องเรียนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นผู้พิจารณาตีความอีกครั้ง ทั้งที่เอกสารการสอบสวนเป็นเอกสารลับ ใช่หรือไม่
จึงต้องขอเรียกร้องไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีโปรดมีบัญชาให้อธิบดีดีเอสไอ และสำนักงานอัยการสูงสุดเดินหน้าดำเนินคดีกรณีนี้ต่อไปโดยไม่ชักช้า โดยไม่จำเป็นต้องรอเอกสารการตีความของกรมศุลกากรอีกแล้ว เพราะการสั่งการของท่านนายกฯให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้าคอนเดนเสทจากบริษัทนายหน้าสิงคโปร์นั้นมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า กรณีดังกล่าวมีการหลบเลี่ยงภาษีทั้งขาออกจากพื้นที่เจดีเอ และภาษีนำเข้ามาในประเทศไทย ใช่หรือไม่
ท่านนายกรัฐมนตรีสมควรบัญชาให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นคนนอกกระทรวงการคลังมาสอบสวนผู้บริหารในกรมศุลกากรที่อาจจะเข้าข่ายมีพฤติกรรมในการช่วยเหลือบริษัทเอกชนเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันหรือไม่ ที่ช่วยเหลือบริษัทเชฟรอนในการตีความการส่งออกน้ำมันไปใช้ยังแท่นขุดเจาะว่าเป็นการส่งออกที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ก็ได้วินิจฉัยว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี ซึ่งกรณีดังกล่าว แม้บริษัทเชฟรอนยอมมาเสียภาษีก็เพราะจำนนด้วยหลักฐาน ซึ่งหากไม่มีการร้องเรียนกรณีนี้ ก็จะมีการหลบเลี่ยงภาษีกันอย่างมโหฬารที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐอย่างมหาศาล ใช่หรือไม่
ท่านนายกฯจึงสมควรตั้งกรรมการมาสอบสวนผู้บริหารในกรมศุลกากรที่มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาเอกชนหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อจะได้ป้องกันความเสียหายอันใหญ่หลวงกับประเทศชาติในอนาคต
รสนา โตสิตระกูล
14 พ.ย. 2560