xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” สวน รมว.พลังงาน ล้มมวย “บรรษัท” คือกติกาหรือ “กติกู” กันแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติม กรณีร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อ 18 พ.ค.60
แกนนำ คปพ.สวนกลับ รมว.พลังงาน หลังถูกเหน็บไม่รู้จักกติกา ถามกลับ ใช้วิธี “ล้มมวย” ตัด “บรรษัทน้ำมัน” ออกจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม คือกติกาหรือกติกูกันแน่ ย้ำยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ กม.ปิโตรเลียม ทำตามสิทธิเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ

วันนี้ (20 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.50 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ในฐานะหนึ่งในแกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อเรื่อง “กติกาหรือกติกูกันแน่?” เพื่อตอบโต้กรณีที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ว่าไม่สนใจกรณีที่ น.ส.รสนาได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ขัดต่อมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พร้อมกับบอกว่า “คนเราควรจะต้องรู้ว่าอะไรคือกติกา เมื่อเรื่องจบไปแล้วก็ควรจะต้องจบ แต่ถ้ายังไม่รู้กติกาก็ต้องปล่อย จะไปยื่นกี่ที่ก็ยื่นไปเถอะ”

น.ส.รสนากล่าวว่า ในบทสรุปผู้บริหารของคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ของ สนช.ที่เสนอรายงานต่อ สนช.เมื่อ 12 พ.ค. 2558 ได้ระบุข้อเสนอชัดเจนว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ผู้บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม “เห็นควรให้จัดตั้ง National Oil Company ในรูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวเกี่ยวกับการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับรับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม โดยการตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ มีสภาพเป็นนิติบุคคล และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย เป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐ (Resource holder) ในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหลาย ควบคุมดูแลระบบสำรวจและการแสวงหาผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหลาย และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้าง รวมถึงสัมปทานที่หมดอายุ” ซึ่งรายงานผลการศึกษาดังกล่าวเมื่อเสนอในที่ประชุมไม่มีเสียงโหวตคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ได้เพิ่มมาตรา 10/1 ว่าด้วย “การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม” ซึ่งเป็นมติ ครม.2 ครั้ง ออกเมื่อวันที่ 7 และ 28 ก.พ. 2560 ให้เพิ่มมาตราดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเมื่อมีเสียงทักท้วงจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ขอให้ผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียมโดยขอให้ตัดมาตรา 10/1 ออกไป ก็ปรากฏว่าสภานิติบัญญัติฯ ยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยใช้วิธี “ล้มมวย” คือให้กรรมาธิการถอนมาตรานี้ออกไปโดยขัดต่อข้อบังคับการประชุมของ สนช.

“ขอถามตรงนี้ว่า นี่คือ “กติกา หรือกติกู” ที่ต้อง “ล้มมวย” ด้วยเทคนิคตัดมาตรานี้ ด้วยการให้กรรมาธิการฯ
เป็นผู้ถอนออกเอง จะได้ไม่ต้องมีการโหวต เพราะถ้าโหวตคว่ำ เท่ากับ สนช.ขัดกับ ครม.ที่เป็นผู้มีมติให้เพิ่มมาตรานี้ และนอกจากนี้ สนช.ใดที่โหวตคว่ำย่อมถูกประชาชนนำชื่อมาประจาน แต่ถ้าปล่อยให้โหวตตามกติกาที่ถูกต้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว มาตรา 10/1 นี้ย่อมปรากฏอยู่ในกฎหมายปิโตรเลียมซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มทุนพลังงาน ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นเทคนิคของ “สภาเผด็จการเสียงข้างมาก” คือการส่งสัญญาณให้ ส.ส., ส.ว.โหวตคว่ำ แต่สำหรับ
“เผด็จการสภาเสียงข้างเดียว” ต้องใช้เทคนิค “ล้มมวย” ไม่ต้องโหวต เพื่อเซฟเหล่า สนช.และ ครม.ที่เล่นละครตบตาประชาชน ใช่หรือไม่?

แล้วแบบนี้ล่ะหรือที่ท่านรัฐมนตรีเรียกว่า “กติกา” แบบนี้คนโบราณเขาเรียกว่า “เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า” เพื่อให้เป็นไปตาม “กติกู” มากกว่า ใช่หรือไม่?

“สำหรับดิฉันที่ยื่นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบการใช้อำนาจแบบ “กติกู” นี้ว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้หรือไม่ ดิฉันเพียงแต่ใช้สิทธิตรวจสอบตามกติกาของรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

แต่ใครกันแน่ กำลังใช้อำนาจตาม “กติกู” ล้มกระดานมาตรา 10/1 ซึ่งได้ดำเนินกันมาตามกติกาโดยตลอด

“การใช้สิทธิของดิฉันที่ผู้ใช้อำนาจมองว่า “ไม่รู้จักกติกาว่าเรื่องมันจบแล้ว” ก็ต้องเรียนไว้ด้วยความเคารพว่า นี่คือการแสดงความเคารพต่อกติกาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการทดสอบว่า สิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่ได้บัญญัติไว้นั้น เมื่อใช้กลไกที่ออกแบบมาประกอบการรับรองสิทธิของประชาชนแล้ว จะสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ในการถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารบ้านเมือง ที่มีอยู่ 2 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการเสียงข้างมาก” จากการเลือกตั้ง หรือ “เผด็จการเสียงข้างเดียว” จากการรัฐประหาร ว่าจะมีประสิทธิภาพสมคำกล่าวอ้างของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบคอร์รัปชันจริงหรือไม่ หรือกลไกที่เขียนไว้ จะเป็นเพียง “ประดับยนต์” หรือ “ตรายาง” อีกชิ้นหนึ่งหรือไม่ เท่านั้นเอง” น.ส.รสนาระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น