“รสนา” เปิดตัวเลขส่งออกน้ำมัน “เชฟรอน” ลดฮวบฮาบช่วงเสียภาษี ก่อนยกเคสจับน้ำมันเถื่อนเชฟรอน สผ.ที่สงขลา อาจโยงน้ำมันส่วนต่างหลายล้านลิตรตั้งแต่ปี 2554-2557 วัดใจนายกฯ จริงจังปราบทุจริต ตรวจสอบคดีในกรมศุลกากรที่สมคบบริษัทน้ำมันเอกชนฉ้อโกงภาษีของรัฐ
วันที่ 19 พ.ย. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ถ้านายกฯ ตู่จริงใจปราบคอร์รัปชันต้องจัดการคดีสมคบโกงภาษีน้ำมัน”
“คดีที่บริษัท เชฟรอน (ไทย) สมคบข้าราชการในกรมศุลกากรหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมันโดยผู้บริหารกรมศุลฯ อ้างตีความกฎหมายต่างกัน ยืนยันกับบริษัท เชฟรอน ว่าแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักร จึงเป็นการส่งออกน้ำมันไม่ต้องเสียภาษี
ควรถามว่า เป็นถึงผู้บริหารระดับสูง ปิดหูปิดตา ไม่รู้เลยหรือว่า ถ้าแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย รัฐบาลจะให้สัมปทานต่างชาติมาขุดเจาะปิโตรเลียมได้อย่างไร และตั้งแต่ปี 2514-2554 เป็นเวลาถึง 40 ปีที่เอกชนผู้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมก็ซื้อน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะแบบการค้าชายฝั่งมาตลอด จู่ๆ มาถึงปี 2554 นักกฎหมายและผู้บริหารกรมศุลกากรเกิดเปลี่ยนความเชื่อขึ้นมาทันทีทันใดว่าแท่นขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักร และการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะถือเป็นการส่งออกที่ไม่ต้องเสียภาษี วิญญูชนฟังแล้ว ช่วยพิจารณาว่านี่เป็นกระบวนการสมคบคิดระหว่างบริษัทเอกชนกับผู้บริหารกรมศุลกากรเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่
ท่านนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาว่า การตีความกฎหมายของสำนักกฎหมายและผู้บริหารกรมศุลกากร ส่งผลอะไรบ้างในกรณีนี้
ดิฉันได้ตัวเลขปริมาณน้ำมันที่บริษัท เชฟรอน (ไทย) ซื้อช่วงที่ขอยกเว้นภาษีระหว่างเดือน เม.ย. 2558 - ต.ค. 2559 และน้ำมันที่เสียภาษีระหว่าง พ.ย. 2559 - มิ.ย. 2560
ลองเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันที่ซื้อน้ำมันปลอดภาษี เทียบกับปริมาณซื้อแบบเสียภาษี
- เดือนมกราคม 2559 ยอดซื้อ 21.2 ล้านลิตร -
- เดือนมกราคม 2560 ยอดซื้อ 5.6 ล้านลิตร ต่างกัน 15.6 ล้านลิตร
- เดือนมิถุนายน 2558 ยอดซื้อ 18.7 ล้านลิตร -
- เดือนมิถุนายน2559 ยอดซื้อ 16 ล้านลิตร
- เดือนมิถุนายน 2560 ยอดซื้อ 10.8 ล้านลิตร ยอดซื้อต่างกัน 5-8 ล้านลิตร
เหตุใดการใช้น้ำมันที่แท่นขุดเจาะจึงมีปริมาณลดฮวบฮาบเมื่อซื้อแบบมีภาษี และน้ำมันส่วนที่เกินจากใช้ที่แท่นขุดเจาะเอาไปใช้ทำอะไร?
ควรมีการตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการซื้อน้ำมันแบบปลอดภาษีไปใช้ที่แท่นขุดเจาะตั้งแต่ปี 2554-2557 ในจำนวนเท่าไหร่
และหลังจากถูกจับน้ำมันเถื่อนที่ด่านสงขลาเมื่อกุมภาพันธ์ 2557 บริษัท เชฟรอน กลับไปซื้อน้ำมันแบบเสียภาษีในช่วง 2557-2558 มีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อมาเทียบว่ามีแบบแผนเดียวกันหรือไม่เมื่อมาต่อกับข้อมูลที่ดิฉันได้มา ก็จะทำให้มีข้อมูลว่าการใช้น้ำมันที่แท่นขุดเจาะจริงมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ถ้ามีการซื้อแบบปลอดภาษี ก็จะมีการซื้อมากกว่าที่ใช้จริงเท่าไหร่ ตัวเลขเหล่านี้มีอยู่พร้อมแล้ว อยู่ที่กรมศุลกากรจะตรวจสอบหรือไม่ และควรมีการตรวจสอบขยายผลว่าน้ำมันส่วนที่ซื้อเกินจากปริมาณปกตินำไปใช้ทำอะไร มีการนำไปขายเป็นน้ำมันเถื่อนหรือไม่
กรณีการจับน้ำมันเถื่อนที่บริษัท เชฟรอน สผ.เอามาใช้ในเรือบริการมาแล่นในอ่าวไทย และถูกด่านศุลกากรที่สงขลาจับน้ำมันเถื่อนได้ 1.6 ล้านลิตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จึงทำให้ความแตกว่ามีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีอ้างว่าเป็นน้ำมันส่งออก แต่กลับเอาน้ำมันปลอดภาษีซึ่งเป็นน้ำมันเถื่อนกลับมาใช้ในประเทศ
การถูกจับน้ำมันเถื่อนได้ 1 ครั้ง ย่อมมีคำถามต่อว่า แล้วที่ไม่ได้ตรวจจับตั้งแต่ปี 2554-2557 มีอีกบ้างหรือไม่ และเกิดคำถามว่าหน่วยปราบปรามน้ำมันเถื่อนของกรมศุลกากรมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไรในการตรวจับน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ๆ
เมื่อบริษัท เชฟรอน ไทย ถูกจับน้ำมันเถื่อนและทำเรื่องระงับคดีกับด่านสงขลา ยอมให้ยึดน้ำมันเถื่อน 1.6 ล้านลิตร มูลค่า 48 ล้านบาทแล้ว การเลี่ยงภาษีก็หยุดชะงักไปชั่วคราวตั้งแต่ 2557-2558 ผู้บริหารกรมศุลฯ
บอกให้บริษัท เชฟรอน ไทย กลับไปซื้อน้ำมันแบบการค้าชายฝั่งเสียภาษีไปก่อน หลังจากนั้นพอเหตุการณ์สงบลง บริษัท เชฟรอน ไทย ยังไม่เข็ด กลับมาหารือใหม่ว่าการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกหรือการค้าชายฝั่งอีก ทั้งๆ ที่ในการสำแดงใบส่งออก บริษัท เชฟรอน ไม่เคยสำแดงใบส่งออกว่าส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเพื่อขอยกเว้นภาษีแม้แต่ครั้งเดียว ใช่หรือไม่
คนที่สุจริต ถ้าถูกทักท้วงหรือเคยถูกจับกุมแล้ว ก็ย่อมจะหยุด ไม่ทำต่อ แต่กรณีนี้กลับไปหารือกันเพื่อหาช่องทางทำผิดอีก เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเลี่ยงภาษีต่อในปี 2558-2559 หากไม่มีเจ้าหน้าที่ด่านที่ทักท้วง ขัดขืนไม่ยอม ขบวนการหลีกเลี่ยงภาษีนี้ คงทำต่อเนื่องไปอีกไม่มีกำหนด ใช่หรือไม่
กรณีนี้จึงไม่ควรปล่อยให้เงียบหายไปโดยไม่มีการสอบสวนเอาผิดทั้งเอกชนและข้าราชการที่สมคบร่วมมือกันฉ้อภาษีของรัฐ เพราะคงคิดว่าเส้นใหญ่จึงไม่กลัวเกรงกฎหมายบ้านเมืองใช่หรือไม่
ควรมีการสอบสวนขยายผลว่ามีการนำน้ำมันปลอดภาษีไปขายเป็นน้ำมันเถื่อนหรือไม่ เพราะราคาน่ายั่วยวนใจ ราคาน้ำมันดีเซลปลอดภาษีลิตรละ 12-13 บาท ราคาดีเซลขายปลีกหน้าปั๊มลิตรละ 25-26 บาท มีช่วงต่างของราคาเกิน 10 บาท จึงทำให้เกิดขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ใช่หรือไม่
ดิฉันเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนอาจจะใหญ่กว่าที่คิด คืออาจจะเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายราคาน้ำมันในประเทศให้สูงกว่าปกติโดยเอากองทุนน้ำมันมาเป็นตัวถ่างราคาขายปลีกให้สูงเข้าไว้ ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาที่เอื้อให้ผู้มีอิทธิพลสามารถเข้ามาหาประโยชน์กันได้หลายแวดวง ตั้งแต่คนค้าน้ำมันเถื่อนที่อาจจะมีทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ คนมีสี กลุ่มธุรกิจโรงงานน้ำตาลที่เอากากน้ำตาลมาทำเอทานอล กำหนดราคาสูงกว่าเอทานอลตลาดโลกโรงกลั่นน้ำมันที่ได้ชดเชยจากกองทุนน้ำมันจากเอทานอลราคาแพงกว่าตลาดโลก
เส้นทางของราคาน้ำมันแพงที่ประชาชนต้องแบกรับจนหลังแอ่น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจ ก็เพื่อให้มีกำไรส่วนต่างมากพอจะแบ่งสรรปันส่วนครอบคลุมผู้ได้ประโยชน์ในหลายวงการอย่างกว้างไกลเช่นนี้ ใช่หรือไม่
หากราคาน้ำมันขายปลีกของไทยมีราคาเท่ากับมาเลเซีย คือลิตรละ 18-19 บาท โดยตัดกองทุนน้ำมันออกไปขบวนการสมคบโกงภาษีน้ำมันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ ใช่หรือไม่
กรณีการหลบเลี่ยงภาษีในกรมศุลกากรคดีนี้ เกิดตั้งแต่ปี 2554-2559 ผ่านอธิบดีกรมศุลกากรมาแล้ว 5 คน แต่เรื่องก็ยังคาราคาซัง ไม่มีการเข้ามาจัดการกับขบวนการสมคบคิดเอื้อเอกชนฉ้อโกงภาษีของรัฐอย่างจริงจังเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่เลวต่อการบริหารราชการบ้านเมืองต่อไป เพราะเหตุใดจึงถูกถ่วงเวลามายาวนานเช่นนี้
ดิฉันจะรอดูว่าท่านนายกฯ ตู่และบรรดาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหลายว่าจะรู้ร้อนรู้หนาวกับกรณีการทุจริต ฉ้อโกงภาษีในครั้งนี้หรือไม่
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะท่านนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวอ้างมาตลอด 3 ปีว่าจะปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ท่านต้องเข้ามาจัดการกับความไร้ธรรมาภิบาล ความไร้ประสิทธิภาพในปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอย่างจริงจัง เพื่อขจัดการทุจริตที่เป็นกลุ่มก้อนเครือข่ายผู้มีอำนาจ บรรดาขาใหญ่ทั้งหลายที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยเริ่มจากการตรวจสอบคดีในกรมศุลกากรที่สมคบบริษัทน้ำมันเอกชนฉ้อโกงภาษีของรัฐให้ประชาชนได้เห็นเป็นประจักษ์สักเรื่อง จะเป็นไปได้หรือไม่”