xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปพลังงานไทย : อย่าปล่อยให้นักอุตสาหกรรมบุหรี่นำการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เราได้เห็นรายชื่อ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” พบว่า 8 ใน 10 คนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระดับสูงในกิจการพลังงานของประเทศในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกิจการปิโตรเลียมและไฟฟ้าซึ่งสังคมไทยได้เรียกร้องให้ปฏิรูปมานานร่วม 10 ปี จนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด อีกคนทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ และคนที่สิบเป็นอดีตนายทหารยศพลเอก จึงพอจะคาดหมายได้ว่าการปฏิรูปพลังงานไทยในครั้งนี้จะไปในทิศทางใด

อย่าหาว่าติเรือทั้งโกลนเลยครับ แต่จากบทเรียนของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางพลังงานของโลกจากพลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์มาสู่พลังงานหมุนเวียนเมื่อ 20 ปีมาแล้วได้กล่าวไว้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญพลังงานแบบดั้งเดิมคือส่วนหนึ่งของปัญหา และส่วนใหญ่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขามีกระบวนทัศน์แบบเดิมในระบบพลังงานที่ดำรงอยู่ซึ่งนำไปสู่ทิศทางที่ผลิตพลาด” (จากคำบรรยายเมื่อปี 2007 ของ ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์, ที่ MIT Clean Tech/GABA Lecture) ทิศทางที่ผิดพลาดได้แก่ การก่อมลพิษ ก่อปัญหาโลกร้อน สงครามและการก่อการร้ายที่กระจายไปเกือบทั่วโลก รวมทั้งความเหลื่อมล้ำซึ่งประเทศไทยเราติดอันดับต้นๆ ของโลก

ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ยังได้สรุปบทเรียนว่า “ความผิดพลาดที่สำคัญ (Big mistake) เพราะคนส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลด้วย คิดและเชื่อว่า พ่อค้าพลังงานในปัจจุบันควรจะเป็นผู้จัดการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมันจะเหมือนกับการปล่อยให้นักอุตสาหกรรมบุหรี่ทำการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภาคประชาสังคมจึงควรจะต้องทำการปฏิรูปพลังงานด้วยตนเอง

ผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายใน TED Talk โดย Patti Dobrowolski (https://www.youtube.com/watch?v=4vl6wCiUZYc) ซึ่งมีผู้ฟังกว่า 4 ล้านคน (ในช่วง 2 ปีกว่า) เธอได้แนะนำให้วาดภาพในสถานการณ์ที่ดำรงอยู่และในสถานการณ์ที่ต้องการให้เป็น จากนั้นก็ใช้ 3 ขั้นตอนเพื่อทำให้ความฝันของเรานั้นเป็นความจริง ผมขอนำมาใช้ในที่นี้เลยนะครับ

ขั้นที่หนึ่ง เห็นสถานการณ์ปัจจุบัน (See it)

ผมขอนำเสนอด้วย 2 ภาพใหญ่ เพื่อให้เป็นภาพรวมอย่างง่ายๆ ของทั้งที่เป็นปัญหาที่ล้าหลัง และที่เป็นความสำเร็จที่ก้าวหน้าของต่างประเทศ ภาพแรกเป็นเรื่องประเทศจีนติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และที่สำคัญมันลอยอยู่บนเหมืองถ่านหินร้างที่ถูกน้ำท่วมครับ ผมมีรายละเอียดที่สำคัญดังสรุปในภาพครับ

สรุปจากภาพของสถานการณ์ปัจจุบันในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งมีความเข้มของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ย (LCOE) ตลอด 25 ปีประมาณ 1.13 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ประเทศไทยมี 3 ปัญหา คือ

(1) ทางราชการ (กกพ.) กำหนดราคารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคา 4.12 บาทต่อหน่วย
(2) ไม่รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟ ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
(3) พยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยต้นทุนไฟฟ้าหน่วยละ 2.67 บาท ในปี 2564

เป้าหมายของการปฏิรูปพลังงานก็คือ การเปลี่ยนจากระบบพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งนอกจากจะมีลักษณะรวมศูนย์และผูกขาดแล้ว ยังก่อปัญหาสำคัญต่างๆ มากมายไปสู่ระบบพลังงานที่เป็นประชาธิปไตย (Energy Democracy) เพราะมีการกระจายตัวตามธรรมชาติคือพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล

พลังงานหมุนเวียนนอกจากจะทำให้คนท้องถิ่นสามารถควบคุมได้เองแล้ว ยังทำให้เงินไทยไม่ไหลออกไปต่างประเทศ สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคซึ่งถูกทำให้ต้องเป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว สามารถเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต (Prosumer-ศัพท์บัญญัติของ Alvin Toffler-นักเขียนและนักอนาคตศึกษาชาวอเมริกัน) ได้ในเวลาเดียวกัน

ภาพที่สอง เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของพลังงานหมุนเวียนของประเทศสหรัฐอเมริกาและของโลก 5 ชนิดในช่วง 2008-2016 ในภาพใหญ่นี้ประกอบด้วย 6 ภาพเล็ก

(1) การใช้พลังงานของประเทศลดลง 10% เป็นเพราะว่ามีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่จีดีพีโตขึ้น แต่การใช้พลังงานของประเทศกลับลดลง ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบบดังเดิม

(2) ราคาพลังงานสะอาดลดลงทุกชนิด โซลาร์เซลล์ลดลง 54-64% กังหันลม 41% แบตเตอรี่ 73% และ หลอด LED ลดลง 94%

(3) การติดตั้งกังหันลมเพิ่มขึ้น 7 เท่าตัว

(4) การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 43 เท่าตัว

(5) การติดตั้งแบตเตอรี่ในระดับบริษัทเพิ่มขึ้น 20 เท่าตัว เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้แดดไม่มีลมไม่พัดก็ตาม

(6) รถยนต์ไฟฟ้าใน 5 ประเทศชั้นนำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 220% ต่อปี

จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นว่า ราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงมีต้นทุนเพียงประมาณ 4 บาทต่อหน่วย (ในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา)

และเนื่องจาก 1 ใน 3 ของต้นทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่แบตเตอรี่ จึงทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็ว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Tony Seba) ได้พยากรณ์ว่า ภายในปี 2025 รถยนต์ออกใหม่ทุกคันในโลกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้น้ำมันจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

กลับมาที่ภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศไทยอีกครั้งครับ

ในปี 2560 คนไทยใช้จ่ายด้านพลังงานไปจำนวน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13.6% ของจีดีพี (เคยสูงถึง 19% ที่ลดต่ำลงเพราะราคาน้ำมันลดลง) ในจำนวนนี้เป็นค่าปิโตรเลียม 1.07 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 55% ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน) และไฟฟ้า 6.5 แสนล้านบาท (33% ของค่าใช้จ่ายพลังงาน) ที่เหลืออีก 12% เป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะตั้งเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้าใน “ยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน 20 ปี” ว่าอย่างไร

เป็นไปได้ไหมที่เราจะตั้งเป้าหมายว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้าต้องไม่เกิน 5% ของจีดีพีผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้าได้ เป็นต้น

ขั้นที่สอง ที่คุณ Patti Dobrowolski ก็คือ เชื่อว่าเราสามารถจะทำได้ (Believe it) และผมขอเรียนถึงขั้นที่สามไปเลย คือ ปฏิบัติการให้ไปสู่เป้าหมาย (Act on it) รายละเอียดจะเป็นอย่างไรผมจะไม่ขอกล่าวถึงในวันนี้ แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้เพราะนี่คือทางรอดทางเดียวที่จะแก้ปัญหาสำคัญของโลก คือปัญหาโลกร้อนและความเหลื่อมล้ำ

ประเทศเยอรมนีได้มีการปฏิรูปพลังงานมาตั้งแต่ปี 1990 ในตอนนั้นสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมีเพียง 3.4% แต่เมื่อถึงสิ้นปี 2016 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มเป็น 32.3% (เป้าหมาย 35% ในปี 2020 และ 50% ในปี 2030 หรืออีก 13 ปีเท่านั้น) นี่คือตัวอย่างที่เราจะต้องศึกษาและนำมาเป็นบทเรียน

วันนี้ขอแค่นี้ก่อน ขอบคุณครับที่ติดตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น