xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูฝนพิโรธ! : ภูมิอากาศสุดขั้วกับทางออกที่ยั่งยืน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
----------------------------------------------------------------------
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลต้องได้รับความเดือดร้อนจากการจราจรติดขัดเนื่องจากฝนตกหนักจนน้ำท่วมผิวจราจรเกือบทั้งเมือง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง และภาคเหนือที่สื่อโทรทัศน์หลายช่องรายงานว่าฝนตกหนักที่สุดในรอบ 10-15 ปี เป็นต้น
       
เพื่อความชัดเจน ผมได้พยายามเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่คาดว่าเกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ พบว่า บางเว็บไซต์ได้ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดถึงปี 2542 เท่านั้นเอง บางเว็บไซต์ (หลัก) ดีหน่อยหนึ่งถึงปี 2558
       
นี่หรือครับท่านประยุทธ์ ที่ท่านเรียกว่า“ไทยแลนด์ 4.0?” 
       
อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกรมอุตุนิยมวิทยา นั่นคือ จากการพยากรณ์ของกรมฯ พบว่า ในช่วง 3 เดือน คือ พฤษภาคม ถึงกรกฎาคม อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยจะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 30 ปี (คือ ปี 2523-2553) ในทุกภาคของประเทศและในเกือบทุกเดือน มียกเว้นอยู่หย่อมเดียวเท่านั้น คือ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในเดือนกรกฎาคมเท่านั้น (แต่ก็อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นคำพยากรณ์ที่ถูกต้อง) ที่เหลือแดงเทือกไปหมดครับ (ดูภาพประกอบ) 
 

 
หากย้อนไปในฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านมา เราได้ยินข่าวความเสียหายจาก “พายุฤดูร้อน” ในหลายจังหวัดในภาคอีสาน และน้ำท่วมใหญ่นอกฤดูกาลในเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ เช่น บางพื้นที่ของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านบอกว่าท่วมมากที่สุดในรอบ 50 ปี
       
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเขาเรียกรวมๆ ว่า “ภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)” ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ใหญ่ของโลกที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “โลกร้อน” 
       
ด้วยเหตุที่การจัดการกับข้อมูลของประเทศไทยเรายังล้าหลัง (น่าจะอยู่ในยุค 2.0) ผมจึงขอใช้ข้อมูลจากรายงานเรื่อง “ฤดูร้อนพิโรธ (Angry Summer)” ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในช่วง 90 วันแรกของปี 2017 สถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องโลกร้อนของประเทศเขาได้ถูกทุบทำลายไปแล้วถึง 205 สถิติ
       
รายงานดังกล่าวจัดทำโดย “คณะกรรมการภูมิอากาศ (Climate Council)” ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งเมื่อปี 2013 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมเข้าใจว่าไม่ใช่องค์กรของรัฐบาล แต่เป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยเอกชนหลังจากองค์กรรัฐบาลกลางของออสเตรเลียได้ถูกยกเลิกไปเมื่อพรรคกรรมกรแพ้การเลือกตั้งในปี 2013
       
ผมได้นำภาพปกพร้อมกับสถิติสำคัญๆ มาให้ดูด้วยครับ (ดูเพิ่มเติม www.climatecouncil.org.au
 

 
รายงานนี้ได้สรุปว่า “ฤดูร้อนพิโรธเกิดจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดไฟป่า ในขณะที่ภาคตะวันตกเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.57 องศาเซลเซียส”
       
“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้อากาศร้อนกว่าเดิม นานกว่าเดิม และเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างน้อย 50 เท่าตัวของค่าเฉลี่ย” (ลองเปรียบเทียบกับกรณีในประเทศไทยเราซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์อย่างกว้างๆ ว่า “สูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย” )
       
รายงานฉบับ 24 หน้านี้ได้ระบุว่า “การป้องกันออสเตรเลียจากผลกระทบของฤดูร้อนที่ฉกาจฉกรรจ์นี้ได้มี 2 อย่างคือ อย่างแรก ใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูก สะอาด และมีประสิทธิภาพ และอย่างที่สอง เลิกการใช้พลังงานฟอสซิล” 
       
อีกตอนหนึ่งของรายงานนี้กล่าวว่า “ออสเตรเลียได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก 26-28% ภายในปี 2030 แต่ในปี 2016 ออสเตรเลียได้ปล่อยเพิ่มขึ้น 0.8% ในขณะที่ประเทศจีนปล่อยคงที่ และสหรัฐอเมริกาปล่อยลดลง”
       
ในตอนท้ายของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า นี่เป็นทศวรรษที่สำคัญที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงแรกของทศวรรษนี้ อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วเลวร้ายกว่าเดิม เกิดบ่อยขึ้น ระยะเวลาที่เกิดนานกว่าเดิม “ฤดูร้อนพิโรธ” กลายเป็น “สิ่งปกติใหม่” และจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ดังนั้น ทั้งโลกจะต้องลดการปล่อยให้เร็วขึ้น และมากขึ้นกว่าเดิม
       
ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก หากแต่ละประเทศยังคงปล่อยไปตามปกติ อุณหภูมิของอากาศโลกจะสูงถึง 2.8-5.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมในปี 2090 หากเป็นไปเช่นนี้ พื้นที่จำนวนมากของออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ห่างไกลจากฝั่งทะเลจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้เลย นี่คือ สาระสำคัญที่ผมสรุปมาจากรายงานฉบับดังกล่าวครับ
       
กลับมาที่ประเทศไทยเราครับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสว่าจะลดการปล่อยก๊าซลง 20-25% ภายในปี 2030 ท่านประยุทธ์ ได้นำเรื่องนี้มาเล่าให้คนไทยฟังด้วยความรู้สึกภูมิใจ คนไทยเราก็คงภูมิใจตามไปด้วย แต่ท่านจะทราบไหมหนอว่า หลังจากนั้น 12 เดือน การปล่อยก๊าซของไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 1.4% จาก 254 ล้านตัน เป็น 258 ล้านตัน นี่ยังไม่ได้นับการปล่อยจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ที่บริษัทของคนไทยไปสร้างโรงไฟฟ้าไว้ในประเทศลาว แล้วส่งไฟฟ้ากลับมาให้คนไทยใช้ แต่คิดโควตาการปล่อยในนามประเทศลาว
       
อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านประยุทธ์ เข้าใจผิด คือ ท่านมักพูดอยู่เสมอๆ ว่า ถ้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดหรือไม่เติบโต
       
ผมมีรายงานจาก World Resources Institute มาแย้งท่านครับ กล่าวคือ มีอย่างน้อย 20 ประเทศที่ในช่วง 2000-2014 ที่ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เศรษฐกิจของประเทศกลับเติบโตครับ (ดูภาพประกอบ) ผมเข้าใจว่าขนาดมูลค่าทางเศรษฐกิจของ 20 ประเทศนี้น่าจะเกินครึ่งของโลก
 

 
ในจำนวนนี้มีประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนได้มีการจ้างงานจำนวนมาก (รายงานล่าสุดระบุว่า ทั่วโลกประมาณ 10 ล้านคนในปี 2016) เมื่องานกระจาย เงินก็กระจาย เมื่อเงินกระจายเงินมันก็จะหมุนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในขณะที่การใช้พลังงานฟอสซิล นอกจากเงินไม่กระจายตัวแล้ว มลพิษจากพลังงานฟอสซิลยังทำลายแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชนอีกด้วย

เรื่องนี้ ผมเชื่อว่าถ้าท่านนายกฯ ประยุทธ์ มีเวลาได้ครุ่นคิดดีๆ ไม่ฟังแต่รายงานด้านเดียวจากกลุ่มผลประโยชน์ ท่านก็ต้องเข้าใจได้ไม่ยาก

โดยสรุปครับ ทางออกจากปรากฏการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน หรือฤดูฝนก็คือ ต้องร่วมมือกับชาวโลกลดคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนกับที่ท่านได้ลงนามในข้อตกลงปารีสไปแล้ว แต่ขอให้ทำจริงเถอะ อย่าดีแต่ปาก อย่ามัวแต่แก้ตัว แต่จงใช้ความกล้าหาญเพื่อทำลายผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลที่หากินมานาน แล้วผลประโยชน์โดยรวมของชาติไทย และของโลกก็จะปรากฏเป็นจริงอย่างแน่นอนครับ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น