การบริหารจัดการพลังงานประเทศเดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กระทรวงพลังงาน นำโดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปศึกษาระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับกับการบริหารกิจการพลังงานของไทยในอนาคต
ประเทศเดนมาร์กซึ่งย้อนอดีตเมื่อ 47 ปีก่อน หรือราว ค.ศ. 1970 ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันและก๊าซฯ ทำให้รัฐบาลมุ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะบริหารพลังงานเพื่อพึ่งพิงตนเองให้มากสุด โดยวางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2593 เดนมาร์กจะเป็นประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิล โดยจะมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเดนมาร์กจะมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ส่งผลให้เป็นผู้ส่งออกพลังงานก็ตาม โดยพบว่ามีน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้วมากกว่าไทยถึง 1 เท่าตัว
ทั้งนี้ ภาพรวมของพลังงานที่เดนมาร์กได้รับการอธิบายจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท RAMBOLL ที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของประเทศนี้เพราะเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานลม ขยะ ความร้อน และพลังงานชุมชน จนกลายเป็นบริษัทระดับนานาชาติ บริษัท RAMBOLL ถือหุ้นโดยมูลนิธิ และแบ่งหุ้น 2% ให้พนักงาน ธุรกิจจึงไม่เน้นผลกำไร สามารถให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา และบริษัทนี้ได้พิสูจน์ฝีมือให้กับรัฐบาลเดนมาร์กที่ดีสุดคือ การควบคุมการใช้พลังงานของประเทศไม่ให้เติบโตขึ้นในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา
โดยแนวทางบริหารพลังงานของเดนมาร์กที่สำคัญคือด้านราคาที่แพงเพื่อลดการใช้ฟุ่มเฟือย ค่าไฟฟ้าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 11 บาทต่อหน่วย ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 58 บาทต่อลิตร ดีเซล 45 บาทต่อลิตร ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าค่าครองชีพของคนที่นี่สูงเช่นกัน ส่วนการผลิตก็มุ่งสู่พลังงานทดแทนที่ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าของเดนมาร์ก 45% มาจากพลังงานลม ซึ่งศักยภาพลมของเดนมาร์กเทียบกับลมในไทยดีกว่าไทยถึง 8 เท่า ถ่านหิน 40% ก๊าซธรรมชาติกว่า 5% และที่เหลือเป็นพลังงานอื่นๆ
เหนือสิ่งอื่นใดของการบริหารจัดการพลังงาน ความร่วมมือจากประชาชนดูจะมีส่วนสำคัญซึ่งประชาชนเดนมาร์กยอมรับได้หากจะต้องใช้พลังงานแพงแต่ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้มากสุด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาก็จะพบว่าขณะนี้แม้ว่าเดนมาร์กจะพยายามก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียนแต่ถ่านหินยังคงมีสัดส่วนสำคัญที่จะมีไว้เพื่อเป็นพลังงานหลัก หรือ Backup พลังงานหมุนเวียนที่ไม่สม่ำเสมอเดินเครื่องได้ไม่ตลอด 24 ชั่วโมง และเดนมาร์กมีระบบเครือข่ายเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อประเทศหนึ่งมีปัญหาก็สามารถซื้อไฟจากอีกประเทศหนึ่งได้
การพัฒนาที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่เป็นอิสระจากพลังงานฟอสซิลของเดนมาร์กที่นำร่องไปก่อนคือเกาะ SAMSO ที่มีพื้นที่ 114 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้มีประชากรอยู่ราว 3,700 คน ปี 2540 เกาะนี้ได้รับเลือกให้เป็นเกาะพลังงานหมุนเวียนของเดนมาร์ก และหลังจากนั้นเพียง 10 ปีเกาะนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นพื้นที่ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% แต่กระนั้นเป้าหมายที่ท้าทายคือการเป็นเกาะที่ปราศจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลในปี 2573
เกาะดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจาก 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. ชุมชน 2. เทศบาล และ 3. Energy Academy โดย Energy Academy เปิดทำการในปี 2550 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการสาธิตให้คำปรึกษาและเป็นสถานที่นัดพบสำหรับผู้อยู่อาศัยในเกาะนี้และผู้เยี่ยมเยือน โดยพลังงานหมุนเวียนที่เป็นกังหันลมกว่า 90% โดยมีกังหันลม 21 ตัวในปัจจุบัน แบ่งเป็นในทะเล 11 ตัว และบนบก 10 ตัว
การเป็นเจ้าของก็มีเทศบาล เอกชน และสหกรณ์ดูแล ทำให้ราคาชุมชนกำหนดเองและที่เหลือส่งขายไปนอกเกาะ อดีตที่เคยต่อต้านก็หันมาส่งเสริมเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกาะแห่งนี้ยังเหลือภาคการขนส่งที่ยังคงพึ่งพิงฟอสซิลโดยเฉพาะเรือเฟอร์รีข้ามเกาะ โดยที่จะพยายามส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนแอลเอ็นจีให้มากขึ้น ขณะที่รถยนต์ที่เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแล้ว 50% ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำจุดสถานีชาร์จไฟ
ทั้งนี้ ไทยเองก็มีเป้าหมายด้านพลังงานที่กำหนดแนวทางการบริหารไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015- ปี 2558-79) โดยเฉพาะการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ไทยพึ่งพิงสูงถึง 64% ลดให้เหลือ 37% ในปี 2579 และไปปรับเพิ่มไฟฟ้าจากถ่านหินจาก 19% เป็น 23% พลังงานหมุนเวียนจาก 13% เป็น 20%รวมถึงการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์ไว้ท้ายแผน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แผนนี้ใช้มาเพียงไม่ถึง 3 ปีก็ถึงคราวอาจต้องปรับแผนใหม่เสียแล้ว ด้วยเหตุที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไม่สามารถเกิดได้ตามกำหนดที่วางไว้ และจนถึงวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ด้วยเหตุที่มีการคัดค้านของคนกลุ่มหนึ่ง
ดังนั้น แม้ว่าไทยจะมีแผนบริหารจัดการพลังงานที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ต่างจากเดนมาร์ก คือ การปฏิบัติที่ไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้นั่นเอง หากมองให้ลึกลงไปเดนมาร์กเองก็มีเอ็นจีโอ แต่ทั้งรัฐ เอกชน เอ็นจีโอของเขาล้วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างกรณีของเกาะ SAMSO ที่เลือกปักเสาพลังงานลมโดยไม่ได้คำนึงว่าลมจะเหมาะสมหรือจะแรงพอหรือไม่ แต่เลือกตรงที่ประชาชนท้องถิ่นบอกจุดแล้วจึงพัฒนา
... แต่มองให้ลึกไปกว่านั้นคือ ประชากรเดนมาร์กมีการศึกษาสูง การพูดคุยกันจึงอยู่ในระดับพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่างจากไทยที่การพูดคุยอาจไปคนละทางเพราะการศึกษาไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ผลประโยชน์ที่คนเดนมาร์กได้รับก็เห็นชัดเจนจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการทุกขั้นตอนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่ม และผู้มีบทบาทคือเทศบาล ซึ่งเปรียบเสมือนราชการท้องถิ่นของไทย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนจังหวัด (อบต. หรือ อบจ.) ซึ่งพอพูดถึงของไทยมันก็น่าท้อใจสำหรับคนปฏิบัติงานพอสมควร การบริหารจัดการพลังงานไทยยอมรับว่าไม่ง่ายเลย...แต่หากอาศัยการเข้าถึงก็ไม่ยากนัก แต่การปฏิรูปประเทศควรเริ่มต้นจากการปฏิรูปการศึกษาของคนในประเทศก่อนจะดีกว่า