xs
xsm
sm
md
lg

โลกในสถานการณ์ VUCA : เราจะปล่อยให้โลกนี้สิ้นหวังไม่ได้เด็ดขาด! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
“VUCA” เป็นคำที่เกิดจากอักษรตัวแรกของคำ 4 คำในภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ที่มีลักษณะพิเศษ 4 อย่างพร้อมๆ กัน คือ Volatility ความผันผวน, Uncertainty ความไม่แน่นอน, Complexity ความซับซ้อน และ Ambiguity ความกำกวม คำนี้เป็นคำที่ถูกประดิษฐ์โดยวิทยาลัยสงครามทหารบก ของสหรัฐอเมริกา เมื่อหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น วิกิพีเดียได้อธิบายถึงความหมายของแต่ละองค์ประกอบของคำที่ใช้ในการมองสถานการณ์ล่วงหน้า และมองแบบวิเคราะห์อย่างทะลุปรุโปร่งถึงปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร

ผมได้ภาพประกอบคำอธิบายมาจาก Slideshare ของท่านหนึ่ง แต่ครั้นจะอ้างอิงถึงก็หาไม่เจอ ต้องขออภัยด้วยครับ
 

 
สำหรับความหมายที่แท้จริงของ VUCA ก็คือ เป็นสถานการณ์ของโลกที่นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำโลกไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต ในฐานะที่เป็นนักคณิตศาสตร์ที่เคยศึกษาระบบที่มีความซับซ้อน (Complex System ซึ่งเป็นที่มาของชื่อคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน”) มาบ้าง ผมจะกลับมาอธิบายในตอนท้ายอีกครั้งว่ามันเป็นอย่างไร

ผมนำเรื่องนี้มาเขียนในวันนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการครับ คือ หนึ่งเพื่อจะเตือนสติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะตัดสินใจเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้หลายโรง เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้สถานการณ์ VUCA รุนแรงขึ้น และสอง เพื่อให้กำลังใจแก่มวลมนุษยชาติทั้งโลกที่กำลังเผชิญต่อสถานการณ์ที่เป็นอันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กำลังใจที่ว่าคือ หากประชาชนธรรมดาๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอำนาจรัฐจากทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่อันตราย และใหญ่โตนี้ได้อย่างแน่นอน มนุษย์เราซึ่งมีดีเอ็นเอของการสร้างสรรค์จะอยู่โดยปราศจากความหวังไม่ได้

ไม่ว่านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไร ไม่ว่าจะยกเลิก หรือเดินหน้า (แต่เท่าที่ฟังท่านพูดแล้ว ผมรู้สึกได้ว่าท่านจะเดินหน้าแน่นอน) พลังของประชาชนที่มีความก้าวหน้า ที่มีความรับผิดชอบต่อโลกของคนไทย (ตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙) และของคนทั้งโลกจะไม่มีวันหยุดการเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน 

จะหยุดได้อย่างไร ในเมื่อการร่วมมือกันของคนทั้งโลกตามข้อตกลงปารีสนั้น เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นลงมือปฏิบัติเพื่อที่จะลดความรุนแรงของปัญหาที่ใหญ่โตมโหฬารเท่านั้นเอง ในขณะที่สถานการณ์โลกร้อนเกิดขึ้นในอัตราเร่ง ผลการประชุมระดับโลกหลายสิบครั้งในอดีตก็ยังไม่เคยได้นำไปปฏิบัติใดๆ เลย

แต่ด้วยการทำงานเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังขององค์กรภาคประชาชนทั่วโลกได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตื่นตัว และความหวังให้แก่ประชาชนทั่วทั้งโลกแล้ว

ดังนั้น เราจะปล่อยให้โลกนี้สิ้นหวัง ท้อแท้ต่อความไม่รับผิดชอบ และเห็นแก่ตัวของผู้นำที่อยู่ในอำนาจรัฐนี้ไม่ได้เด็ดขาด! 

คราวนี้เรามาดูความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่มีสาเหตุหลักเกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1 องศาเซลเซียสเรียบร้อยไปแล้ว

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวในการประชุมสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (6 ก.พ.2560) ว่า “ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกินไป 1 องศาเซลเซียส ชาวโลกก็รับมือต่อผลกระทบกันแทบไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าสูงกว่านี้อีกจะไหวหรือ”

ผมเองซึ่งได้ร่วมเป็นวิทยากรอยู่ด้วยก็ได้นำเสนอผลการศึกษาจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ (อ้างถึงในภาพ) พบว่า แม้ว่าทุกประเทศจะทำตามเจตจำนงที่ได้เสนอต่อเวทีที่กรุงปารีสทุกประการแล้ว พบว่า ในปี 2030 ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายของโลกที่ว่า

“ต้องลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม” 

ถ้าจะให้ถึงเป้าหมายจริงตามต้องการ จะต้องลดลงมาเป็นประมาณ 2 เท่าของที่ได้ประกาศไปแล้ว และจะต้องหยุดการปล่อยอย่างสิ้นเชิงในปี 2070 หรือประมาณ 53 ปีข้างหน้าซึ่งด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ผมมีความมั่นใจว่า มนุษย์เราสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างแน่นอน และจะไม่ทำให้รายจ่ายค่าพลังงานแพงขึ้นตามคำขู่ประจำของนายกรัฐมนตรีด้วย

แต่ที่เป็นปัญหาคือ มนุษย์ที่เข้าใจยังไม่มากพอ ประกอบกับมีกลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิลคอยขัดขวางทุกวิถีทาง ข้อถกเถียงเรื่องพลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิลจึงแตกต่างจากข้อถกเถียงเรื่องโลกกลม หรือโลกแบน เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 ก็ตรงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนี่แหละครับ

ด้านหนึ่งมันอาจจะก้าวหน้าช้าเพราะกลุ่มผลประโยชน์ขัดขวาง แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะก้าวหน้าเร็วขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดถึงเพราะพลังการสื่อสารยุคใหม่ น่าลุ้นครับ
 

 
มาถึงเรื่อง VUCA (อ่านว่า “วูคา”)

ความผันผวนมักจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ดังนั้น การแก้ปัญหาก็ต้องมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งโดยทั่วไปกลไกของรัฐบาลมักจะทำไม่ได้เพราะอืดอาด

ความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ (กรณีต้มยำกุ้ง) และต่างประเทศ (กรณีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ได้ทำให้โรงไฟฟ้าของประเทศไทยเราเหลือล้นเกินมาตรฐานสากลไปหลายเท่าตัว หนทางที่จะรับมือต่อความผันผวนได้ดีที่สุดในเรื่องพลังงาน คือ การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะใช้เวลาในการก่อสร้าง และเงินลงทุนน้อย ยกเลิก หรือปรับตัวได้ง่าย

ในความเห็นของผม สถานการณ์ VUCA มี 2 ด้านครับ

ในด้านที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจะเห็น 2 สิ่งที่สำคัญเกิดขึ้น คือ (1) มีความผันผวนแบบสุดขั้ว เช่น แล้งจัด น้ำท่วมรุนแรง ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ คลื่นความร้อนกำลังบุกประเทศออสเตรเลีย ส่งผลให้อุณหภูมิในครึ่งประเทศสูงกว่า 37.7 องศาเซลเซียส บางแห่งสูง 46 องศา ซึ่งทำลายสถิติในรอบ 103 ปี และ (2) สิ่งเล็กๆ ก็สามารถมีพลังก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง และกว้างขวางได้ (อยู่ในปัจจัย Complexity) เช่น เชื้อไข้หวัดนก สามารถทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและการบินที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นทุกวันต้องหยุดชะงักได้ การสูญพันธุ์ของผึ้งอาจจะทำให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์ตามได้ เพราะคนไม่มีธัญพืชกิน “โลกร้อนคนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ” เป็นต้น

ในด้านพลังของการขับเคลื่อนสังคม ปัจจุบัน โลกสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นพลังเล็กๆ คล้ายกับเชื้อไข้หวัดนก ได้ส่งผลกระเทือนในสังคมอย่างมหาศาล ในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ได้มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 2 แสนกว่าคน ซึ่งอาจจะมากกว่าผู้ชมสถานีโทรทัศน์บางช่องก็เป็นได้

นี่คือพลังของ “เชื้อโรค” ที่จะระบาดได้รวดเร็ว และส่งผลกระทบมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อน นี่คือความหวัง และทางออกของกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อโลกที่ไม่เห็นแก่ตัว แต่คิดเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป

ผมจะขอไม่อธิบายในทุกองค์ประกอบของ VUCA นะครับ แต่อยากจะเรียนว่า ในฐานะที่ได้เคยสอนวิชาการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ผมรู้สึกตื่นเต้นต่อผลการพยากรณ์ด้วยแบบจำลองในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน (Complex) และโกลาหล (Turbulence) ซึ่งเราคาดไม่ถึง และเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ VUCA

ผมเข้าใจ และเชื่อมั่นถึงความจริงที่ว่า “สิ่งเล็กๆ สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้” จากผลของการใช้ตัวแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ สำนวนบู๊ลิ้มที่ว่า “เส้นผมเพียงเส้นเดียวอาจจะกวนให้น้ำในมหาสมุทรขุ่นได้” ผมเข้าใจแล้วว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะอย่างนี้นี่เอง

ผมขอสรุปบทความนี้ด้วย 2 ภาพครับ ภาพแรกเป็นคำพูดของนักเขียน นักปรัชญาชาวออสเตรีย คือ Peter Drucker (1909-2005)
 

 
ส่วนภาพที่สอง เป็นสถานการณ์ที่โกลาหลที่น่าจะคล้ายกับสถานการณ์ในบ้านเรา ที่มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การแบ่งแยกทางการเมือง ความอ่อนแอของสถาบัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ องค์กร Oxfam ได้จัดให้ประเทศไทยเรามีความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

 
หนักๆ ทั้งนั้นครับ นี่ยังไม่นับปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งในระดับสากลเขารู้กันทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างใกล้ชิด คิดให้ดีนะครับท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
กำลังโหลดความคิดเห็น