โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------
ไม่น่าเชื่อว่าข่าวที่ควรจะเป็นข่าวใหญ่ และเป็นที่จับตาของสังคมวงกว้าง อย่างกรณีมีกลุ่มประชาชนนัดรวมตัวกันล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ “ลุงตู่” ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจไม่เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 2 พื้นที่ คือ ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กับที่ อ.เทพา จ.สงขลา จะถูกกลบเกลื่อนจนคลายมนต์ขลังลงไปมาก จากข่าวที่ “ลุงตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช. จงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นด้วยการใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปล้อมวัดพระธรรมกาย เพื่อควานหาตัวผู้ที่มีชื่อว่า พระธัมมชโย หรือพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
แน่นอนว่าการไฟเขียวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดปฏิบัติการล้อมกรอบวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่คืนวันที่ 16 ก.พ.ต่อเนื่องมา ถือเป็นข่าวที่สนใจ และจับตาจากผู้คนทั้งประเทศ แต่เรื่องราวเหล่านี้ผู้คนจำนวนมากก็รับรู้ว่า ถูกเจือไปด้วยดรามา โดยยืนยันได้จากเคยเปิดปฏิบัติการในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งนั่นเอง
ขณะที่ข่าวกลุ่มประชาชนจำนวนมากลุกฮือต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วนัดรวมตัวกันฟังคำตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2560 เรื่องราวนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นปฏิบัติการที่ขึงขัง จริงจัง และผู้ชุมนุมก็พร้อมจะแลกด้วยอิสรภาพ รวมถึงเลือดเนื้อและชีวิต สิ่งนี้ยืนยันได้จากความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากใน 2 พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงคำแถลงข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุดของบิ๊กตู่เองด้วยที่ว่า
“เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เตรียมเคลื่อนไหว ผมขอร้องอย่าเข้ามาเลย เดี๋ยวก็ผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดี จับกุม เพราะว่ามันห้ามการเคลื่อนไหวขณะนี้ มีอะไรก็พูดจาให้รู้เรื่อง และวันนี้ผมก็เห็นคนในพื้นที่มีความต้องการ ผมก็เลยสั่งการให้ทางกระทรวงพลังงาน จัดการประชุมในวันที่ 17 ก.พ.2560 นี้ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ฉะนั้น ก็อย่ามาเดินขบวนกันตอนนี้ เดี๋ยวก็มีปัญหาทางกฎหมายอีกนะครับ ผมเตือนไว้ก่อนนะ เพราะฉะนั้น การจะเดินขบวนอะไรนี้ขออนุญาตหรือยัง ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมที่มีอยู่แล้ว คำสั่ง คสช.ก็มี อะไรก็มี และนี่ปัญหาประเทศไทย กฎหมายมีทุกตัวก็ยังจะทำๆ ที่จริงเขาทำตามเดิม ที่เป็นเรื่องของถ่านหินนี่ มันเป็นเรื่องของตามแผนพีดีพีเดิม เขาตั้งไว้อยู่แล้ว”
จากคำแถลงของนายกฯ ลุงตู่ นอกจากเป็นการเตือนแล้ว ยังมีนำเสียงข่มขู่อยู่ในทีด้วย ซึ่งเวลานี้ก็น่าจะเห็นกันแล้วว่า สถานการณ์เดินหน้าไปในทิศทางไหน อย่างไร
อันที่จริงแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบนแผ่นดินด้ามขวาน ไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่มขึ้นในรัฐบาลลุงตู่ แต่มีมาแล้วหลายสิบปี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยปักหมุดมาแล้วในหลายจังหวัด ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ไล่เรียงลงมาสู่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล หรือแม้กระทั่งบนแผ่นดินไฟใต้อย่างที่ปัตตานี แต่สุดท้ายเวลานี้ต้องการปักหมุดให้ได้ที่กระบี่ กับสงขลา
นอกจากนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ล้วนดำเนินนโยบายหนุนเกื้อให้เกิดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งก็เป็นไปตามแต่สถานการณ์ในเวลานั้นๆ เอื้อให้ผลักดันได้ในระดับไหน เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินแม้จะเป็นที่พิสมัยของกลุ่มทุนทั้งไทย และเทศเป็นอย่างมาก แต่บรรดานักการเมืองที่ได้รับเลือดตั้งให้ได้ขึ้นมานั่งบัลลังก์ผู้กุมกลไกอำนาจรัฐ พวกเขาต่างล้วนยังต้องเงี่ยหูฟังเสียของประชาชน
นี่เองจึงแผกต่างไปจากคณะนายทหารในนาม คสช.ที่ยึดอำนาจก้าวขึ้นมากุมบังเหียนรัฐบาลในห้วงเวลานี้ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งในส่วนของ คสช. และรัฐบาล ซึ่งมีผู้นำในชื่อเดียวกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ทั้งนโยบายและทุกมาตรการหนุนเนื่องให้แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้มาโดยตลอด ซึ่งเวลานี้หากจะกล่าวว่าใช้ทั้งการตั้ง “สปริงบอร์ด” และติด “เทอร์โบ” ให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่น่าจะเกินเลยอะไร
ภาพที่การันตีในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีมานี้ แม้จะมีภาพของปฏิบัติการลับลวงพรางประกาศชะลอโครงการให้เห็นบ่อยครั้ง แต่กระบวนการเดินหน้าผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งจากระบบราชการ ครม.และคณะกรรมการอิสระต่างๆ ก็กลับเดินหน้าไปอย่างไม่เคยสะดุด หรือหยุดลงแต่อย่างใด และไม่เพียงเท่านั้น ยังได้อาศัยอำนาจพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่ง คสช.เปิดทางโล่งให้เดินหน้าได้ในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวข้ามมาตรการในเรื่องของผังเมือง รวมถึงไม่ต้องรอการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้ง EHIA และ EIA เป็นต้น
ยิ่งเมื่อฟังคำพูดของบิ๊กตู่ตลอดช่วงเวลานั่งกุมบังเหียนอำนาจรัฐมาเกือบ 3 ปี โดยตัดเอาความรู้สึกต่างๆ ออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการโวยวาย โกรธ โมโห หรือแม้แต่น้ำเสียงตะคอก และข่มขู่ แล้วจับเอาเฉพาะความระหว่างบรรทัด ก็ยิ่งสามารถทำความเข้าใจได้กระจ่างชัดยิ่งว่า โน้มเอียงไปในทางเร่งเครื่องให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถลงเสาเข็มให้ได้โดยเร็ว
ทว่าหากเพ่งตามองให้ลึกซึ้งขึ้นหน่อย ใช้สายตาจ้องจับให้เห็นป่าทั้งป่า แล้วทำความเข้าใจต้นไม้แต่ละต้น มองให้เห็นภาพอดีต เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน ซึ่งก็จะสามารถคาดการณ์ต่อไปในอนาคตได้ไม่ยากนัก เราก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่า ทำไมนายกฯ ลุงตู่ และ ครม.ออกตัวกันแรงอย่างมากมายในเวลานี้
โดยเฉพาะเพิ่งจะมีคำสั่งจากสำนักนายกฯ แจ้งไปยังรองนายกฯ รัและฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับกระทวงมหาดไทย อันนำไปสู่การสั่งการผ่านจังหวัด อำเภอ ลงไปจนถึงกำนัน และผู้ใหญ่บ้านให้เกณฑ์คนเข้าร่วมสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และสงขลาอย่างเอิกเกริกนั้น ทั้งหมดทั้งปวงแล้วล้วนเป็นการปฏิบัติไปตามความต้องการของกลุ่มทุนนั่นเอง
อย่างเมื่อเดือน ธ.ค.2559 ครม.ชุดนี้ก็เพิ่งจะอนุมัติให้บริษัทลูกของ กฟผ.ควักเงินสูงถึง 1.7 ล้านบาท ไปลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ก่อนหน้าก็มีข่าวสะพัดว่า กลุ่มทุนใหญ่อย่างเหมืองบ้านปู อิตาเลียนไทย หรือแม้กระทั่ง ปตท.ก็ไปมีส่วนร่วมในการลงทุนเหมืองถ่านหินไว้ที่อินโดนีเซียเช่นกัน มิพักต้องพูดถึงการที่นายทักษิณ ชินวัตร และคนในระบอบทักษิณ เคยมีภาพพัวพันการถือหุ้นเหมืองถ่านหินทั้งที่อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ความจริงแล้วถ้าพิจารณาในภาพรวมก็จะเห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่ และสงขลา ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เอามากๆ แล้วนั้น ต่างล้วนยังตั้งอยู่ล้อมรอบอยู่บนอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของภาคใต้ที่เรียกว่า สะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ฝั่งอ่าวไทย กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ฝั่งอันดามัน แล้วเชื่อมกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ ทางรถไฟสายอุตสาหกรรม พร้อมระบบท่อน้ำมัน และท่อก๊าซ
ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นรองรับการเกิดของ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” อันจะทำให้ภาคใต้เป็นฐานผลิต “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก แล้วนำมาสู่การขยับขยาย “นิคมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” กระจายแต่แผ่นดินด้ามขวานนั่นเอง
ภาพความเป็นศูนย์กลางพลังงานโลกของไทยนี้ กลุ่มทุนโลกกบาลมองเห็นโอกาสในการลุงทุนบนแผ่นดินภาคใต้ของไทยแล้ว จึงได้เปิดปฏิบัติการเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนไทยผลักดันในเรื่องนี้ให้เป็นจริงโดยเร็วมาตลอด เมื่อเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานก็ย่อมเกี่ยวข้องต่อการนำฟอสซิลมาใช้ขับเคลื่อนโดยตรง แต่น่าสังเกตที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกกำลังหันหลังให้แก่พลังงานฟอสซิล แต่ไทยกลับสวนทางในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะว่ามีแต่ต้องเร่งรีบหาประโยชน์กับพลังงานฟอสซิลยุดสุดท้ายเท่านั้น
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมเวลานี้กลุ่มทุนต้องจุดไฟลนก้นรัฐบาลทอปบูตที่กุมกลไกอำนาจรัฐ ให้ต้องแสดงอาการออกตัวแรงในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้