xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยิ้มกันแก้มตุ่ย รายงาน สปท.ชงเพิ่มค่าตอบแทนตำรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบรายงาน เรื่อง การปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจเพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากมีเสียงเรียกร้องมานาน “การปฏิรูปตำรวจ” ก็เริ่มตั้งไข่ได้เสียที เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จำนวน 36 คน โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายให้ณะกรรมการชุดนี้ โดยได้ให้แนวทาง 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ให้ไปพิจารณาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ต้องสังกัดที่ใด เช่น จะอยู่ที่เดิม หรือกลับไปมหาดไทย หรือไปอยู่กระทรวงยุติธรรมหรือขึ้นกับจังหวัด หรือตั้งเป็นกระทรวง

2.ให้ไปพิจารณาอำนาจสอบสวนจะคงอยู่อย่างเดิม หรือจะแยก หรือคงอยู่อย่างไร จะทำงานประสานกันอย่างไรระหว่างตำรวจ มหาดไทยและอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

และ 3.การแต่งตั้งโยกย้าย การคัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ จะใช้ระบบอะไร หลักสูตรนักเรียนนายร้อย เหมาะสมทันสมัยหรือไม่ รวมถึงการให้ตำรวจมีหรือไม่มีเครื่องแบบ และการจัดสรรกำลังเพื่อสนับสนุนงานของตำรวจ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เขียนสูตรการทำงานด้วยลายมือ 13 หน้าเอสี่ คือสูตร 2 - 3 - 4 โดย 2 เดือนแรกให้คุยเรื่องปัญหาทั้งหมด อ่านงานวิจัยให้หมด 3 เดือนถัดไปยกร่างกฎหมาย กำหนดกติกาให้เสร็จ และ 4 เดือนสุดท้ายรับฟังความเห็นและแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง ทั้งหมด 9 เดือน หมดอายุกรรมการพอดี โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกลไกหนึ่ง ที่มีส่วนในการเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ นั่นคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขึ้นมาศึกษาแนวทางการปฏิรูปตำรวจอีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม สปท.ได้เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน

รายงานดังกล่าวนี้ จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ โดยอนุฯ ชุดนี้มีกรรมการทั้งหมด 15 คน เป็นตำรวจ 7 คน

จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานออกมาทำให้ตำรวจทั่วประเทศได้ยิ้มไปตามๆ กัน เพราะได้เน้นไปที่การเพิ่มอัตรากำลังพลและเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหมาะสมกับความเหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงภัยในการปฏิบัติหน้าที่

รายงานฉบับดังกล่าว มีข้อสรุปว่า สตช.กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพล ยานพาหนะ และเชื้อเพลิงของสถานีตำรวจทั่วประเทศ ขาดแคลนเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน ปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนของตำรวจสายปฏิบัติการไม่เหมาะสมกับภารกิจ ความรับผิดชอบ และมีความเสี่ยง ปัญหาเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวนไม่เหมาะสม

การขาดแคลนกำลังพลนั้น ส่งผลให้ สตช.ไม่สามารถจัดวางกำลังในสายงานต่างๆ ได้เพียงพอ โดยหากพิจารณาจากความรับผิดชอบในปัจจุบันแล้ว สตช.มีความต้องการกำลังพล 179,239 คน แต่ได้รับเพียง 135,531 คน รถยนต์ มีความต้องการ 24,775 คัน แต่ได้รับเพียง 5,883 คัน จักรยานยนต์ มีความต้องการ 49,658 คัน แต่ได้รับเพียง 37,032 คัน ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง มีความต้องการคิดเป็นเงินปีละ 3,139.58 ล้านบาท แต่ได้เพียงปีละ 1,876.35 ล้านบาท

โดยเฉพาะในพื้นที่นครบาลยังขาดกำลังพลสายตรวจอยู่ถึง 12,204 คน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วหากจะให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สายตรวจ 1 ชุด ควรจะดูแลประชาชนไม่เกิน 4,000 คน แต่ปัจจุบันต้องดูและประชาชน 20,112 คน หรือ พื้นที่รับผิดชอบควรจะมีเพียง 617 ไร่ แต่ต้องรับผิดชอบ 3,103 ไร่

ส่วนปัญหาเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนนั้น เนื่องจากการทำสำนวนสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐาน มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ต้องสำรองเงินส่วนตัวออกไปก่อนบางคดี ไม่สามารถเบิกจ่ายกลับคืนมาได้ ทำให้ไม่อยากรับคดี เพราะจะมีค่าใช้จ่ายตามมา

ทั้งนี้ ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2561 รัฐบาลมียอดค้างการจ่ายค่าตอบแทนการทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน เป็นจำนวน 729 ล้านบาท จึงบั่นทอนประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวนอย่างมาก

ขณะที่ปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนตำรวจสายปฏิบัติการไม่เหมาะสมกับภารกิจความรับผิดชอบนั้น ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังพล สตช.จึงให้ข้าราชการตำรวจแต่ละคนทำงานให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้ตำรวจแต่ละคนทำงานเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานปกติ ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยจากการตรากตรำทำงาน

นอกจากนี้ ความยากของงาน ปริมาณงานที่มากเกิน ความคาดหวังและแรงกดดันของสังคม ส่งผลให้ข้าราชการตำรวจเกิดความเครียดนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2557 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 40 คน ปี 2558 จำนวน 38 คน ปี 2559 จำนวน 35 คน รวม 3 ปี มีตำรวจฆ่าตัวตาย 113 คน

ขณะเดียวกัน ข้าราชการตำรวจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ มากกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ จากสถิติ ปี 2552 - 2554 มีข้าราชการพลเรือนสามัญเสียชีวิตระหว่างการทำงานเพียง 6 คน แต่มีข้าราชตำรวจเสียชีวิตระหว่างการทำงานถึง 91 คน

ปี 2552 - 2554 มีข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่เพียง 22 คน แต่มีข้าราชตำรวจได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ถึง 123 คน

ถึงแม้จะปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักและมีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการประเภทอื่น แต่ข้าราชการตำรวจกลับได้รับเงินเดือนน้อยกว่า ทั้งที่ในประเทศที่เจริญแล้วจะให้เงินเดือนตำรวจมากกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ เนื่องจากทำงานหนักกว่า

ส่วนปัญหาเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวนไม่เหมาะสมนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมอื่นที่มีลักษณะการปฏิบัติงานที่คล้ายคลึงกันคือการทำหน้าที่สอบสวน เช่น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้เฉลี่ย 31,500 บาท พนักงานไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้เฉลี่ย 33,333 บาท พนักงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ได้เฉลี่ย 26,666 บาท จะเห็นได้ว่าตำรวจมีอัตราเงินประจำตำแหน่งที่ต่ำที่สุด ที่อัตราเฉลี่ย 19,375 บาท

รายงานของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจฯ มีข้อเสนอ 6 ข้อ โดยสรุปก็คือ ให้มีการจัดสรรเงินงบประมาณค่าตอบแทนสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนในแต่ละปีให้ครบถ้วน ตามจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง ไม่มียอดค้างชำระปรับค่าตอบแทนตำรวจให้เหมาะกับความเหน็ดเหนื่อย และความเสี่ยงภัย โดยเงินเดือนให้ยึดตามมาตรฐานของสำนักงานข้าราชการพลเรือน แต่ให้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งสำหรับความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเวลาการทำงานของข้าราชการพลเรือน

นอกจากนี้ ให้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย เนื่องจากการทำงานของตำรวจไทยมีความเสียงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 13.56 - 22.57 เท่า หากคำนวณตามค่าความเสี่ยงภัยนี้จะเป็นเงินที่สูงมาก จึงเสนอให้ใช้อัตราค่าตอบแทนของต่างประเทศ ซึ่งข้าราชการตำรวจได้ค่าตอบแทนมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.27 - 1.74 เท่า

ปรับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวนให้เท่าเทียมกับพนักงานสอบสวนในหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ระบบการให้ค่าตอบแทนเป็นเครื่องมือในการจูงใจให้พนักงานสอบสวนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเอาระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน(Pay for Performance : P4P) มาใช้กับพนักงานสอบสวน

ซึ่ง คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า หากนำระบบ P4P มาใช้แทนการจ่ายเงินประจำตำแหน่ง จะสามารถแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีงาน ปฏิเสธไม่รับคดี และปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการที่พนักงานสอบสวนมีปริมาณคดีในความรับผิดชอบต่างกันแต่ได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากันจะหมดไป

การปฏิรูปตาม 6 ข้อนี้ ใช้เวลา 2 ปี โดยมีแหล่งที่มาของงบประมาณจากสำนักงบประมาณ และ สตช.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการประชุม สปท.เพื่อพิจารณารายงานฉบับนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน ทั้งการเพิ่มอัตรากำลังพล และปรับค่าตอบแทนต่างๆ หลังจากนั้น ได้ลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 129 ต่อ 1 งดออกเสียง 16 เสียง จากนั้นจะส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน พิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น