ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถกรายงานปฏิรูปตำรวจ ปธ. อนุฯ ทำรายงาน อ้าง ตร. ขาดแคลนส่งผลต่อประสิทธิภาพจัดการอาชญากรรม แถมมีปัญหาค่าตอบแทนพนักงานสอบสวน บางคดีเบิกคืนไม่ได้ ทำให้คนไม่อยากทำ เผย ยอดค้างชำระตั้งแต่ปี 56 รวมกว่า 729 ล้าน แถมเงินเดือนสายปฏิบัติไม่เหมาะสมภารกิจ อ้างชาติอื่นให้เงินมากกว่า แถมทำฆ่าตัวตาย 3 ปี ถึง 113 คน ก่อนมีมติเห็นชอบ 129 ต่อ 1 งดออกเสียง 16 ชงชุด “บุญสร้าง” ดู
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. เรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน โดย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ประธานอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว กล่าวว่า ปัจจุบันตำรวจประสบปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพล ยานพาหนะ และเชื้อเพลิงของสถานีตำรวจทั่วประเทศ การขาดแคลนดังกล่าวส่งผลให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่สามารถจัดวางกำลังในสายงานต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่นครบาลที่มีกำลังสายตรวจอยู่เพียง 12,204 คน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรม ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน เนื่องจากการทำสำนวนสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐาน มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ต้องสำรองเงินส่วนตัวออกไปก่อนบางคดี ไม่สามารถเบิกจ่ายกลับคืนมาได้ ทำให้ไม่อยากรับคดี เพราะจะมีค่าใช้จ่ายตามมา ซึ่งมียอดค้างการจ่ายค่าตอบแทนการทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สะสมมาตั้งแต่ปี 2556 - ปัจจุบัน เป็นจำนวน 729 ล้านบาท จึงบั่นทอนประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวนอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเงินเดือน และค่าตอบแทนตำรวจสายปฏิบัติการไม่เหมาะสมกับภารกิจ ความรับผิดชอบ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บมากกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ แต่ได้รับเงินเดือนน้อย ทั้งที่ประเทศอื่นให้เงินเดือนตำรวจมากกว่าข้าราชการพลเรือนอื่นๆ จากความตรากตรำของตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนัก จนเกิดความเครียด ทำให้มีสถิติตำรวจฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง โดยปี 2557 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 40 คน ปี 2558 จำนวน 38 คน ปี 2559 จำนวน 35 คน รวม 3 ปี มีตำรวจฆ่าตัวตาย 113 คน
ทั้งนี้ กมธ. มีข้อเสนอว่าควรจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนสอบสวนคดีอาญา ของพนักงานสอบสวนในแต่ละปีให้ครบถ้วน ตามจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง ไม่มียอดค้างชำระ และควรปรับค่าตอบแทนตำรวจให้เหมาะกับความเหน็ดเหนื่อย และความเสี่ยงภัย อาทิ การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งแก่ตำรวจที่ต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ ตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น ให้เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานการทำงานของข้าราชการพลเรือน
จากนั้นสมาชิก สปท. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนรายงานฉบับนี้ ทั้งการเพิ่มอัตรากำลังพล และปรับค่าตอบแทนต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขวัญกำลังใจตำรวจในการปฏิบัติงาน และได้ลงมติเห็นชอบรายงานด้วยคะแนน 129 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง จากนั้นจะส่งรายงานให้ ครม. และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน พิจารณาต่อไป