xs
xsm
sm
md
lg

“บุญสร้าง” เน้นทางสายกลาง ลั่นทำโยกย้ายให้เสร็จปีนี้ “วิษณุ” เผยใช้สูตร 2-3-4 รวม 9 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ ลั่นรีบทำหลักแต่งตั้งให้เสร็จปีนี้ ดึงประชาชนมาให้ข้อมูล เน้นทางสายกลาง อาจไม่พอใจทุกคน ด้าน “วิษณุ” เผย นายกฯ สั่งเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผบ.ตร. แจงความเห็น เอารายงานชุด “คณิต - หมอประเวศ” มาดู ดู 3 ประเด็นใหญ่ สตช. ต้องสังกัดที่ใด อำนาจสอบสวนอยู่ที่เดิมหรือแยก ระบบโยกย้าย ใช้สูตร 2 - 3 - 4 คุยปัญหา ยกร่างกฎหมาย ฟังความเห็น เติมส่วนบกพร่อง รวม 9 เดือน ถ้าให้ใช้ ม.44 ก็ยินดี

วันนี้ (7 ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมอบนโยบายคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เข้าร่วมด้วย โดยมี คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คน ขาดเพียง 4 - 5 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมรับมอบนโยบาย เนื่องจากได้ลาราชการไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนนายกฯเป็นประธานมอบนโยบาย เมื่อเวลา 13.15 น. นายวิษณุ ได้หารือนอกรอบร่วมกับคณะกรรมการก่อน เพื่อทำความเข้าใจถึงกรอบการทำงานและขั้นตอนธุรการ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น เมื่อนายกฯ เข้ามอบนโยบาย นายวิษณุ ได้รายงานว่า การดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ จะเป็นการปฏิรูปตำรวจด้านกระบวนการยุติธรรม สำหรับการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก คือ ในวันที่ 12 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) โดยสถานที่การประชุมจะมีการหมุนเวียนตามความเหมาะสม ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สำหรับผู้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ คือ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. และ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการ สำหรับงบประมาณและค่าตอบแทนของคณะกรรมการ รัฐบาลรับไปหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การมอบนโยบายของนายกฯ ได้ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยนายกฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงบรรยากาศการมอบนโยบายเป็นอย่างไร เพียงแต่ยิ้มและยกนิ้วโป้งมือขวาให้กับสื่อมวลชน

จากนั้นเวลา 15.17 น. นายวิษณุ และ พล.อ.บุญสร้าง ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดย พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ตนจะตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ให้สำเร็จเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเร่งด่วน คือ การดูแลการบริหารงานบุคคลในหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลักที่จะต้องรีบทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ต้องไม่ให้เกิดและการซื้อขายตำแหน่งต้องหมดไป ส่วนการกระจายอำนาจไม่ควรให้เรื่องมาที่ส่วนกลาง ต้องกระจายไปสู่พื้นที่ สำหรับแนวทางการปฏิรูปตำรวจ โดยการประชุมนัดแรกในสัปดาห์หน้าจะตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆ

เมื่อถามว่า มีการติคณะกรรมการไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วม พล.อ.บุญสร้าง ตอบว่า เราให้ความสำคัญภาคประชาชนมากที่สุด เพียงแต่คณะกรรมการจะมีใครบ้างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะดึงประชาชนมาให้ข้อมูลความคิดเห็นด้วย

เมื่อถามว่า ตั้งเป้าหมายและคาดหวังในการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้อย่างไร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ตนเป็นทหารได้รับมอบหน้าที่อะไรจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งหน้าที่เหล่านี้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและในคำสั่งนายกฯ รวมถึงการที่เราไปคิดต่อว่าจะทำอะไรอีกบ้าง จะพยายามทำงานให้เสร็จล่วงหน้าให้เร็วที่สุด เพื่อมีเวลาขัดเกลา

เมื่อถามว่า ยึดหลักการทำงานอย่างไร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ทางสายกลางเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราคิดสุดโต่งก็จะหาทางสรุปยาก ไม่จบไม่สิ้น ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ก็ต้องคิดว่าอะไรดีสุดสำหรับประชาชน ทุกคนต้องมองจุดนี้ร่วมกัน ก็จะง่ายขึ้นในการหาข้อสรุปที่เหมาะสม ขณะที่นายกฯ ให้ข้อคิดว่า การทำเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของตำรวจและประชาชนเท่านั้น แต่หมายถึงความมั่นคงในทุกๆ ด้าน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา หลายสิบปีการปฏิรูปตำรวจทำไม่สำเร็จ เชื่อมั่นหรือไม่จะทำให้สำเร็จได้ พล.อ.บุญสร้าง ตอบว่า ต้องยึดสายกลาง ต้องทำด้วยความรักและความสามัคคี และยึดหลักปรัชญาความพอเพียง เรื่องการปฏิรูปอาจจะไม่เป็นที่พอใจของทุกคน ไม่ใช่มีประโยชน์เฉพาะกลุ่มสูงสุด อีกกลุ่มหนึ่งต้องเสียประโยชน์มากที่สุดคงไม่ใช่

ด้าน นายวิษณุ กล่าวภายหลังประชุม ว่า นายกฯ มอบหมายให้ตนมาชี้แจงใน 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือที่มาที่ไปของคณะกรรมการ 2. การทำงานเชิงธุรการ 3. เนื้อหาสาระการปฏิรูป ประเด็นแรกนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 36 คน แล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีตำรวจนั่งเป็นคณะกรรมการหลายคน เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญล็อกสเปกไว้ว่าต้องมีจำนวนตำรวจเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นตำรวจจำนวนเท่ากัน อีกทั้งโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าต้องมีประธานคณะกรรมการ 1 คนที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่ต้องเข้าใจงานที่เกี่ยวกับตำรวจ การจัดระเบียบองค์กรและความมั่นคง ซึ่งเหลือตัวเลือกว่าต้องเป็นพลเรือนหรือทหาร

“เดิมทีความตั้งใจของนายกฯ ได้หาคนที่เป็นพลเรือนที่มีความเข้าใจดังกล่าว ได้ทาบทามหลายคน แต่เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด 9 เดือนต้องจบ ก็ไม่มีคนรับ คนดีๆ ดังๆ ก็มี แต่ลำบากเรื่องการทำงาน รวมทั้งมีปัญหาสุขภาพและความลำบากในการทำงาน จึงขอไม่รับและขอเป็นเพียงที่ปรึกษา จึงมาตกที่พล.อ.บุญสร้าง ถึงแม้จะเป็นทหารแต่เกษียณมาเป็น 10 ปีแล้ว และที่สำคัญมีความเข้าใจด้านความมั่นคง การจัดระเบียบองค์กรและโครงสร้างเพราะทำงานนี้มาตลอดชีวิต ถึงตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด เชื่อว่า จะมีความเข้าใจในส่วนนี้จึงให้เป็นประธาน ขณะที่กรรมการอีก 5 คน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยตำแหน่ง มีปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง มหาดไทย อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนกรรมการที่เหลือเป็นตำรวจ 15 คน ไม่ใช่ตำรวจ 15 คน รวม 36 คน อันนี้คือที่มาที่ไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความร้าวฉาน ว่า ทหารจะมาปฏิรูปตำรวจ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีตัวแทนจากภาควิชาการ สื่อสารมวลชน” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การทำงานเชิงธุรการ จะมีการประชุมกันครั้งแรกในวันพุธที่ 12 ก.ค. หลังจากนั้น จะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนสถานที่ประชุมจะหมุนเวียนไป ทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) แล้วแต่ความสะดวก จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยจะตกลงกันในการประชุมสัปดาห์หน้าว่าจะมีกี่ชุด อีกทั้งมีการเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยนายกฯ มีคำสั่งให้ไปเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ ผบ.ตร. ทุกคน ที่เต็มใจมาให้ความเห็น ก็จะเชิญมา รวมถึงต้องไปรับฟังความคิดเห็นของตำรวจ สื่อฯ ประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ เรื่องการปฏิรูปตำรวจมีการวิจัยมากมายทั้ง สปช. สปท. สนช. สตช. กระทรวงยุติธรรม นายกฯ กำชับให้นำรายงานทั้งหมด รวมถึงชุดที่นายคณิต ณ นคร และ นพ.ประเวศ วะสี เคยทำมาย่อยให้สั้น จัดเป็นหัวข้อให้สั้นและแจกกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณา

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อหาสาระการทำงาน นายกฯ ให้แนวทางเป็นประเด็นใหญ่ 3 ประเด็น ซึ่งเป็นโจทย์ที่กรรมการทั้ง 36 คนต้องตอบ 1. คือประเด็นเกี่ยวกับองค์กร ให้ไปพิจารณาว่า สตช. ต้องสังกัดที่ใด เช่น จะอยู่ที่เดิม หรือกลับไปมหาดไทย หรือไปอยู่กระทรวงยุติธรรมหรือขึ้นกับจังหวัด หรือตั้งเป็นกระทรวงให้ไปคิดมาในแง่โครงสร้าง นอกจากนี้ โครงสร้างที่มีอยู่ อะไรควรกระจายออกไป เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจรถไฟ จะอยู่ที่เดิมหรือย้ายไปไหน 2. ประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ให้ไปพิจารณาอำนาจสอบสวนจะคงอยู่อย่างเดิม หรือจะแยกหรือคงอยู่อย่างไร จะทำงานประสานกันอย่างไรระหว่างตำรวจ มหาดไทยและอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

นายวิษณุ กล่าวว่า 3. การบริหารงานบุคคล คือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การคัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ จะใช้ระบบอะไร หลักสูตรนักเรียนนายร้อย เหมาะสมทันสมัยหรือไม่ รวมถึงการให้ตำรวจมีหรือไม่มีเครื่องแบบ และการจัดสรรกำลังเพื่อสนับสนุนงานของตำรวจ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่นายกฯ วางไว้ และให้ไปดูด้วยว่าระบบการแต่งตั้งโยกย้ายจะใช้ระบบอาวุโส ระบบความดีงาม จะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร ซึ่งคำสั่งที่ตั้งกรรมการระบุว่าเรื่องอื่นช้าได้ แต่เรื่องนี้ต้องเสร็จภายในปีนี้ โดยนายกฯ ได้เขียนสูตรการทำงานด้วยลายมือ จำนวน 13 หน้าเอสี่ โดยสูตรคือ 2 - 3 - 4 คือ 2 เดือนแรกให้คุยเรื่องปัญหาทั้งหมด อ่านงานวิจัยให้หมด 3 เดือนถัดไปยกร่างกฎหมาย กำหนดกติกาให้เสร็จ และ 4 เดือนสุดท้ายรับฟังความเห็นและแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง ทั้งหมด 9 เดือน พอดีหมดอายุกรรมการ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง และการประชุมวันนี้ไม่ใช่การประชุมเป็นการหารือนอกรอบ จะนับหนึ่งในการประชุมวันที่ 12 ก.ค.

“นายกฯ ระบุในที่ประชุมว่า คำถามคือคนรู้ทั้งประเทศว่าตำรวจมีโจทย์อะไรบ้าง สิ่งที่คนทั้งประเทศรอคือคำตอบ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องไปทำงานกัน นายกฯ เชื่อมั่นและฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการ สิ่งใดทำเสร็จก่อนให้เอาออกมาก่อน หากต้องใช้มาตรา 44 แก้ให้นายกฯ ก็ยินดี หรือต้องแก้กฎหมาย ออกคำสั่งนายกฯ หรือใช้กฎ ก.ตร. ก็ให้ดำเนินการไปก่อนได้” นายวิษณุ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น