xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กสร้าง” ถกปฏิรูปตำรวจ ชงประเด็น เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นแต่งตั้งระบบอาวุโส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 3 “บิ๊กสร้าง” ถกนาน 3 ชม. ชงประเด็นแต่งตั้ง เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยระบบอาวุโส โฆษกฯชี้ มีความชัดเจนโครงสร้างสิ้น ส.ค. แน่นอน

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 3 โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผบ.ตร. พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผบช.รร.นรต. ศ.ดร.สมคิด เลิศไพบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกฯ และคณะกรรมการคนอื่นๆ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง โดยใช้เวลากว่า 3 ชม.

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งกรรมการในคณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุด โดยหลังจากนี้จะแยกย้ายกันไปหารือ อาทิ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ และ ชุดรับฟังความเห็น จะเริ่มประชุมนัดแรกวันศุกร์นี้ ส่วนคณะอนุกรรมการชุดอื่นก็จะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์ต่อไป โดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ยังคงเน้นย้ำให้ที่ประชุมใหญ่ต้องหารือกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยจะดำเนินการไปจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม ที่คาดการณ์ว่า แนวทางการปฏิรูปตำรวจจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การแก้ไขในกระบวนการกฎหมายต่อไป

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานความเห็นการปฏิรูปตำรวจขององค์กรต่างๆ ที่มีด้วยกัน 6 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ, สภาปฏิรูปแห่งชาติ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ,คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผลการศึกษาส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกัน โดยตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ตำรวจ เรื่องการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายโดยใช้ระบบคุณธรรม รวมถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องมีอิสระต่อผู้บังคับบัญชา

นายสมคิด กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ใช้เวลาในการอภิปรายมากที่สุด คือ เรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ซึ่งมาตรา 260 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี หากทำไม่เสร็จ การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2561 จะต้องใช้ระบบอาวุโสเพียงอย่างเดียว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเป็นห่วงว่า การใช้ระบบอาวุโสเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาเรื่องผลงาน อาจทำให้ตำรวจมีความเฉื่อยชาในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จำเป็นต้องเร่งพิจารณาเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 ส่วนการปฏิรูปด้านอื่นๆ ยังคงมีเวลาดำเนินการได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2561 ที่ถือเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่

นายสมคิด กล่าวถึงการกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2560 ด้วยว่า การปฏิรูปเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะต้องนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมทราบว่า เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจนแล้วเสร็จ จะต้องส่งเรื่องไปให้รัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจะเห็นชอบหรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล จากนั้นจะต้องส่งต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่อไป ซึ่งทั้งหมดค่อนข้างจะใช้เวลามาก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันเวลาการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2561

“ที่ประชุมยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเค้าโครงการปฏิรูประบบแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในอนาคต โดยพูดถึงผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การแต่งตั้งตำรวจระดับรองผู้บัญชาการและรองผู้บังคับการ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแทรกแซงของนักการเมือง การซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งประเด็นทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติ และได้กำหนดวันประชุมอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2560 ในเวลา 09.00 น. โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาการใช้สถานที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐสภา” นายสมคิด กล่าว

เมื่อถามว่า กรอบระยะเวลาที่เหลือค่อนข้างจำกัด โจทย์ที่นายกฯ มอบให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะเสร็จทันหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ตามสูตร 2-3-4 จะเสร็จภายในวันที่ 5 เมษายน แต่ทางคณะกรรมการ จะต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องเสร็จก่อนเดือนธันวาคม ไม่ถึงเมษายน แน่นอน

นายสมคิด กล่าวว่า พล.อ.บุญสร้าง ประธานคณะกรรมการ นัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เข้าใจว่า ถ้าถึงสิ้นเดือนสิงหาคม คงจะรู้ความชัดเจนหมดแล้ว ทั้งเรื่องโครงสร้างองค์กร สำนักงานตำรวจควรจะไปอยู่ที่ไหน อย่างไร สังกัดใด เพียงแต่ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ว่า จะปรับแก้ตรงไหน ไปแก้กฎหมายส่วนไหน โดยจะจัดให้รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งว่าโมเดลที่คณะกรรมการกลั่นกรองมานั้นเป็นอย่างไร มีตรงไหนต้องปรับเพิ่มเติม

กำลังโหลดความคิดเห็น