xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลยันมติกต.โปร่งใส "ศาลฎีกา"ไร้การเมืองแทรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โฆษกศาลยุติธรรม แจงมติ กต.โปร่งใส ศาลฎีกาไร้การเมืองแทรกแซง ย้ำเป็นเรื่องภายในแก้ไขปัญหาเองได้ ไม่ต้องให้นายกฯมาใช้อำนาจ ม.44 เตรียมเสนอชื่อ"ธนฤกษ์ นิติเศรณี" รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์แทน”ศิริชัย”

วานนี้ (19ก.ค.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดแถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น นายศิริชัย วัฒนโยธิน ก่อนที่จะยืนลาออกจากตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ และกรณีการกำหนดตำแหน่งใหม่ "ที่ปรึกษาประธานศาลฏีกา" ว่า กรณีที่ นายศิริชัยได้แถลงข่าวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการเสนอความเห็นของ คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ต่อการขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานศาลฎีกานั้น ยืนยันว่าทุกอย่าง เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และระเบียบ กก.ศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของ อ.ก.ต.

"อ.ก.ต.ได้ให้โอกาสนายศิริชัย ชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังให้โอกาสนายศิริชัย เสนอพยานบุคคล และพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ ไม่ได้เป็นการรวบรัด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่านายศิริชัย ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา"

ส่วนการพิจารณาลงมติของก.ต.นั้น ไม่สามารถทบทวนมติได้ ซึ่งในก.ต. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ , ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 12 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ 4 คน และชั้นศาลชั้นต้น 2 คน รวมทั้งก.ต. จากวุฒิสภาเลือกอีก 2 คน ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติ และดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมาแทรกแซงได้ และการลงมติก็กระทำโดยเปิดเผย สามารถตรวจสอบได้

"แม้การดำเนินงานตามมติของก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง จะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระโดยองค์กรอื่นได้" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว และว่า เมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตามพ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา 50 จึงไม่เป็นการขัดต่อหลักอาวุโส

นายสืบพงษ์ ยังกล่าวถึง การตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น กับนายศิริชัย ว่า นายศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกก.ก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ภายหลังนายศิริชัย จะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว ก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัย สอบสวน หรือพิจารณาลงโทษได้

ส่วนการกำหนดตำแหน่ง"ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา" นั้น ก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ ซึ่งการกำหนดตำแหน่งดังกล่าว เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา 11 วรรคสอง กำหนดว่า นอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้

นายสืบพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายศิริชัย อ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ระบุว่า นายศิริชัยไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ในการพิจารณา มีการแยกเป็น 2 ประเด็น ถึงที่นายศิริชัยได้อ้างถึงเรื่องบัตรสนเท่ห์ ซึ่งเรื่องนั้น มีการยุติเรื่องไปแล้ว ซึ่งอ.ก.ต.ก็ไม่ได้หยิบมาพิจารณา อีกประเด็นเป็นเรื่องที่ อนุก.ต.ได้หยิบยกเรื่องมาพิจารณานั้น เป็นการหยิบข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดแจ้ง ขึ้นมาในที่ประชุม อ.ก.ต. คือ เรื่องการโอนสำนวนต่างๆ ที่มีพยานหลักฐานชัดแจ้ง

ส่วนเรื่องการได้มาของพยานหลักฐานได้มาจากที่ประชุม อ.ก.ต. มีหนังสือเรียกพยานหลักฐานไปยังศาลอุทธรณ์ ซึ่งก็ปรากฏว่า พยานหลักฐานรับกันทั้งสองฝ่ายในเรื่องเพิกถอนการโอนสำนวน ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมรับว่า มีจริง ประกอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโอนสำนวนดังกล่าว มาให้ถ้อยคำ ส่วนก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่มาดำเนินการตอนนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องของการแสวงหาข้อเท็จจริงของ อ.ก.ต. ที่นำมาเสนอในช่วงเวลาประเมินความเหมาะสม ซึ่งเรื่องการโอนสำนวนนั้นมีพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 33 ประกอบกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชฝ่ายศาลยุติธรรม เรื่องการเรียกคืนสำนวนการโอนสำนวนคดี 2547 เป็นข้อพิจารณาที่นำมาประกอบกันว่า หลักสำคัญการเรียกคืนสำนวนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อองค์คณะผู้พิพากษาในคดี มีการพิจารณาล่าช้า หรือ การพิจารณาคดีขัดต่อกฎหมาย ขัดแย้งต่อแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ขัดต่อความเป็นธรรม โดยปราศจากเหตุอันสมควร หรือขัดแนวทางการพิจาณาคดีของศาลนั้นโดยเหตุสมควร หรือกระทบกระเทือนความเป็นธรรม

นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อก.ต.พิจารณาแล้ว เห็นว่านาย ศิริชัย ไม่มีความเหมาะสม และมีเหตุต้องสงสัยกระทำความผิดวินัยในชั้นศาลอุทธรณ์ การที่จะให้นายศิริชัย อยู่ในศาลอุทธรณ์ต่อไป เป็นเรื่องที่อาจเกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับศาลอุทธรณ์ และถ้ายังเกิดกรณีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเพิกถอนสำนวนที่เกิดขึ้นกับศาลสูง ก็จะเป็นเรื่องที่เกิดความเสียหายในศาลฎีกาด้วยเช่นกัน เราต้องการจะประกันสำนวนในอนาคตว่า การเรียกคืนสำนวนเป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ถูกต้อง

ส่วนที่นายศิริชัย กล่าวว่า เห็นควรให้ คสช. เข้ามาดูแลเรื่องผลการพิจารณาของ ก.ต. อีกครั้งหนึ่งนั้น นายสืบพงษ์ กล่าวว่า บ้านของเรา เราสามารถตรวจสอบเองได้ ไม่จำเป็นฝ่ายบริหารมาตรวจสอบ เรื่องความโปร่งใส ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว ผ่านทั้ง ก.ต. และ อ.ก.ต. และ ประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรม ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตย เราได้ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการที่ ก.ต. ถูกแทรกแทรงโดยฝ่ายบริหารหลายครั้ง จนในที่สุด รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ ก.ต. เป็นองค์กรที่ปราศจาการตรวจสอบจากฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอื่นได้ และการดำเนินการในเรื่องนี้ ก็เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีเรื่องของการเมือง ส่วนที่นายศิริชัย อ้างว่านายกฯ สามารถใช้ ม.44 ได้นั้น เป็นเพียงความเห็นของ นายศิริชัย เรายังยืนยันในหลักการองค์กรที่เราเคารพกันมาอย่างยาวนาน เรายังยืนยัน ที่จะทำตามหลักเสรีภาพ

นายสืบพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เป็นอำนาจของก.ต. เมื่อมีการปะกาศราชกิจจาฯ ตำแหน่งนี้ก็ยังใช้ต่อไป เป็นการทั่วไปและก.บ.ศ.ก็ได้กำหนดแล้วให้มี 1 อัตรา ส่วนใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งในอนาคต ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า ใครเป็นผู้รักษาการ ตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า จะมีรองประธานศาลอุทธรณ์ คนที่ 1 รักษาการถึงวันที่ 30 ต.ค. ส่วนเรื่องการเสนอบัญชีรายชื่อประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป ทางสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เสนอตามอาวุโส ซึ่งคือ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา เข้าสู่การพิจารณาของ อ.ก.ต. ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และก็จะนำเข้าเสนอก.ต. ในวันที่ 31 ก.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น