xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริชัย” แถลงเปิดใจเสียงสั่น เผยเจ็บปวดโดนกระทำตลอด ระบุย้ายนั่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาอาจขัด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ศิริชัย” ประธานศาลอุทธรณ์ เปิดใจรอบสอง หลังพลาดตำแหน่งประธานศาลฎีกา ซ้ำ ก.ต.ตั้งกรรมการสอบ เผยรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกกระทำตลอด ระบุคำสั่งย้ายไปนั่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา อาจขัด พ.ร.บ.ศาลยุติธรรม มาตรา 8 พร้อมทำหนังสือขอทราบมติ ก.ต.



วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ ชั้น 7 ศาลอุทธรณ์ ถ.รัชดาภิเษก นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ได้แถลงข่าวครั้งที่ 2 ถึงกรณีที่มีข่าวระบุที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เสนอตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อการปฏิบัติราชการที่มีผลให้นายศิริชัยไม่ผ่านคุณสมบัติขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา และเสนอให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา

โดยนายศิริชัยตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีหาก ก.ต.ให้ไปเป็นที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาจะยอมรับหรือไม่ว่า ตนไม่แน่ใจว่าตำแหน่งนี้จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 8 ให้มีประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกา 1 คน, ประธานศาลอุทธรณ์ประจำศาลอุทธรณ์ 1 คน, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค และให้มีรองประธานศาลฎีกาได้มากกว่า 1 คนแต่ไม่เกิน 6 คน โดยถ้าประธานศาลฎีกาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ก็ให้รองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติราชการแทน แต่หากจะให้ตนไปอยู่ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา แม้จะบอกว่ามีอาวุโสรองจากประธานศาลฎีกา แล้วถ้าประธานศาลฎีกาไม่อยู่ แล้วใครจะรักษาการแทน ใครจะเป็นผู้บังคับบัญชา นี่จะเป็นปัญหาข้อขัดข้องหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งคือตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ปกติก็เป็นรองจากประธานศาลฎีกาเพียงเท่านั้นอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ปัจจุบันได้รับแจ้งมติ ก.ต.เรื่องตั้งคณะกรรมการสอบและการตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาหรือไม่ นายศิริชัยกล่าวว่า ตนยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของอนุ ก.ต.และ ก.ต.ทั้งหมดที่เกี่ยวกับตนเลย ตนเคยทำหนังสือขอทราบมติ ส่วนการจะทำหนังสือเสนอ ก.ต.คัดค้านการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่นั้น หากมีการดำเนินกล่าวจริงตนเข้าใจว่า ก.ต.จะแจ้งคำสั่งมา ไม่เช่นนั้นก็ต้องสอบถามไป หากจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบฯ แล้วเป็นเรื่องดีที่จะได้ชี้แจงหรือไม่นั้นถ้าพูดกันจริงๆจะตั้งกรรมการสอบหรือไม่ก็ได้ เพราะตนไม่มีเรื่องทุจริต แต่ถ้าจะตั้งก็ได้

เมื่อถามว่า ขณะนี้ได้ประธานศาลฎีกาคนใหม่แล้ว ท่านคิดว่าตัวเองควรจะอยู่ตรงไหน นายศิริชัยกล่าวย้ำว่า แนวปฏิบัติตามนิติประเพณีต้องอยู่ที่เดิม ซึ่งตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์เป็นรองจากประธานศาลฎีกา ไม่มีทางที่จะไปตำแหน่งที่ต่ำกว่าได้ และตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ยังเป็นประธานสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ซึ่งดูแลข้าราชการด้วย แต่ตำแหน่งของ “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” จะไม่มีส่วนตรงนี้เลย จึงทำให้คิดว่าถ้าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานนั้นสูงกว่าแต่ไม่มีตรงนี้เลยก็ต้องเป็นเรื่องที่น่าคิด

ส่วนที่มีคนระบุว่าตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ถือเป็นตำแหน่งฝ่ายบริหารควรอยู่ครบวาระเพียง 2 ปีที่ท่านครบแล้วก็ควรต้องไปตามวาระ นายศิริชัยกล่าวว่า จริงหากครบวาระ 2 ปี แต่ถ้าขึ้นไม่ได้ก็ต้องอยู่ที่เดิม เพราะไม่มีที่ตำแหน่งสูงกว่านี้ ตำแหน่งผู้บริหารอื่นก็เช่นกัน คือระเบียบที่ออกมาไว้นั้นก็เพื่อความยุติธรรมไม่ให้อยู่โดยนานเกินไป ซึ่งปกติตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ขึ้นประธานศาลฎีกาได้ แต่เมื่อไม่ได้ขึ้นก็เป็นเหตุให้ยกเว้นได้ โดยในอดีตก็มีที่ไม่ได้ขึ้นประธานศาลฎีกาแล้วก็ยังคงดำรงตำแหน่งเดิม เช่น สมัยนายประภาศน์ อวยชัย, นายสรรเสริญ ไกรจิตติ, นายอุดม มั่งมีดี แต่ตนอาจจะเป็นคนแรกที่ไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดิมประธานศาลอุทธรณ์ ส่วนอดีตเคยมีการแต่งตั้งนายโสภณ รัตนากร เป็นที่ปรึกษานั้น ก็เป็นที่ปรึกษาศาลฎีกาที่ปัจจุบันนายโสภณก็ยังเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” ซึ่งนายโสภณเกษียณราชการไปแล้ว ส่วนของตนปัจจุบันยังรับราชการอยู่

เมื่อถามว่า หากมีมติให้เป็น “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา” อยู่จริง คิดว่าจะลาออกหรือไม่ นายศิริชัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ตนยังรักสถาบันนี้ที่อยู่มาเกือบ 40 ปี

“ผมยังไม่อยากพูดอะไรที่มันอยู่ในอกให้มันเสื่อมเสีย แม้จะเจ็บปวดรวดร้าว ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสุดท้ายไม่ไหวจริงๆ ผมก็ถือว่าโดนกระทำอยู่ตลอดก็ไม่รู้จะทำยังไง” นายศิริชัย ประธานศาลอุทธรณ์ กล่าวด้วยสีหน้าเศร้าและน้ำเสียงสั่นเครือ

เมื่อถามว่า หากได้รับแต่งตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาจะภาคภูมิใจหรือไม่ เพราะก็ยังรองประธานศาลฎีกา เสมือนเป็นพี่เลี้ยงอีกชั้นหนึ่ง นายศิริชัยกล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ ต้องถามท่านว่าเปิดตำแหน่งนี้ขึ้นแล้วให้ไปเป็น ท่านคิดว่าน่าภูมิใจหรือไม่ ถ้าน่าภูมิใจตนก็เป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจนั้นด้วย ส่วนจะถือว่าได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ขอเก็บเอาไว้ก่อน ยังไม่อยากพูด และจะทำหนังสือร้องคัดค้านเรื่องตำแหน่งหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ ที่ผ่านมาในการทำงานตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ก็ได้รับรางวัลศาลดีเด่น และในการรับมอบรางวัลก็มีผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต.มาแสดงความยินดี

ขณะที่นายศิริชัยยังปฏิเสธคำถามถึงความจำเป็นจะต้องเข้าพบนายวีระพล ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันหรือไม่ด้วยว่า คงไม่จำเป็น เพราะเมื่อ ก.ต.มีมติอย่างไรก็คงเป็นไปตามนั้น แนวทางต่างๆ นั้นยังไม่ชัดเจน เพราะขณะนี้ตนก็ยังไม่เห็นมติของ ก.ต. และ ก.บ.ศ.ใดๆ ที่เกี่ยวกับตน

ทั้งนี้ นายศิริชัยกล่าวถึงประเด็นที่ผู้จะได้เป็นประธานศาลฎีกาควรได้รับการแต่งตั้งเป็น ก.ต.ว่าคงก็ไม่ใช่อย่างนั้นอย่างที่มีการพูดกัน ซึ่งครั้งที่คนเคยเป็นรองประธานศาลฎีกาก็เคยเป็น ก.ต.

โดยนายศิริชัยยังตอบคำถามถึงการเป็นผู้พิพากษาอาวุโสแม้ว่าจะยังไม่เกษียณราชการด้วยว่า ผู้พิพากษาอาวุโสต้องสมัครใจ ตนก็ไม่เคยยื่นขอเป็นผู้พิพากษาอาวุโสไว้ ถ้าไม่สมัครใจก็เป็นไม่ได้ควรอยู่ในตำแหน่งเดิมตามนิติประเพณี อย่างไรก็ดีเรื่องตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา สามารถยื่นคัดค้านได้ แต่ ก.ต.และ ก.บ.ศ. จะรับฟังหรือไม่ ส่วนหากไม่เห็นด้วยกับความเห็น ก.บ.ศ.ก็สามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่ถ้าเป็นมติ ก.ต.ไม่สามารถฟ้องได้ ขณะที่ตนยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น