MGR Online - ก.ต.เห็นชอบ มีมติเอกฉันท์ 14-0 “ชีพ จุลมนต์” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มีการประชุมวาระพิจารณาเห็นชอบบัญชีรายชื่อที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอชื่อนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาอาวุโสลำดับสอง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44 ซึ่งระหว่างพิจารณาวาระดังกล่าวนายชีพในฐานะคณะกรรมการตุลาการซึ่งเป็นผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้ออกจากห้องประชุม ทำให้ ก.ต.จาก 15 คน เหลือ 14 คน เป็นผู้พิจารณาวาระต่อไป
โดยเมื่อเวลา 14.40 น. มีรายงานว่าที่ประชุม ก.ต.มีมติเอกฉันท์ 14-0 เห็นชอบให้นายชีพ จุลมนต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44 ต่อไป
ทั้งนี้ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่เอกสารข่าวการลงมติเลือกประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ( ก.ต.) ครั้งที่ 14/2560 นั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ เห็นชอบบัญชีเสนอแต่งตั้ง นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เป็นประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ในทางวิชาการคดี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อข้าราชการตุลาการและเป็นไปตามลำดับอาวุโส โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายชีพ จุลมนต์ นั้นปัจจุบัน อายุ 63 ปี ซึ่งมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี จนกว่าจะเกษียณราชการในอายุ 65 ปี ซึ่งจบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 2 ม.รามคำแหง และปริญญาโทรัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ ซึ่งนายชีพ นับเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตจาก ม.รามคำแหง คนแรกที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดประมุขตุลาการนี้
โดยในส่วนของการปฏิบัติราชการตำแหน่งผู้พิพากษานั้น นายชีพ ก็เป็นองค์คณะพิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น ได้เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ในองค์คณะ 9 คนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีโครงการจำนำข้าวที่มีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลย
อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษา 1 ใน 9 องค์คณะคดีฮั้วประมูลและปฏิบัติหน้าที่มิชอบระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ – อดีตนักการเมือง-เอกชน รวม 28 รายเป็นจำเลยด้วย
และเป็นองค์คณะในคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2551 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ , บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ตกเป็นจำเลยด้วยอีกสำนวนซึ่งคดีรอฟังผลตัดสินในวันที่ 2 ส.ค.นี้
ส่วนอดีต เมื่อครั้ง นายชีพ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระหว่างปี 2552 นายชีพ ก็ได้ทำความเห็นแย้งต่อการตัดสินคดีที่ประชาชนสนใจ อย่างที่อัยการฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และผู้ใต้บังคับบัญชาอีกรวม 5 คนทั้งส่วนสำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากรและนิติกร ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลอาญา 154, 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษี 270 ล้านบาท ที่โอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งแม้องค์คณะที่พิพากษาจะตัดสินให้ยกฟ้อง แต่ในฐานะผู้บริหารที่มีหน้าที่ตรวจสำนวนและอำนาจให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการพิพากษาคดี ก็ได้ทำความเห็นแย้งให้ติดไว้ในสำนวนว่า พฤติกรรมการกระทำของนายศิโรตม์ และผู้ใต้บังคับบัญชาอีกคนจำชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้กับนายบรรณพจน์ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 270 ล้านบาท จึงควรมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157