xs
xsm
sm
md
lg

ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองใหม่สุดโหด โกงไพรมารีโหวตยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองในประเด็นไพรมารีโหวต ในวันนี้( 20 ก.ค.) ขณะนี้ตัวแทนกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ของสนช. ที่นำโดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ข้อสรุปร่วมกัน และยกร่างประเด็นที่จะแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาในการประชุมนัดแรก ที่เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ค.นี้ มีประเด็นที่จะปรับแก้10 ประเด็น ให้สอดคล้อง ปฏิบัติได้ ไม่มีปัญหาถูกตีความ และมีการกำหนดบทลงโทษชัดเจน หากไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน อาทิ แก้ไขปัญหาการคัดเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้งไม่ทัน เพราะยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็แก้ให้เป็นจังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคตั้งแต่ 100 คน ก็ให้เลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แต่การเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้ยึดตามเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้นๆ ที่กกต.ประกาศครั้งสุดท้าย และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด สามารถที่จะประชุม และส่งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น
พรรคที่จะส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีสาขา หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น เปลี่ยนองค์ประกอบ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสัดส่วนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่า 4 คน เว้นแต่มีไม่เกิน 4 คน ให้ใช้เท่าที่มี ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาฯ ตัดชื่อผู้สมัครแบ่งเขตที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมได้ การสมัครแบบแบ่งเขตในกรณีคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบรายชื่อผู้สมัครแบ่งเขต 2 ลำดับแรก ที่สมาชิกเลือกมา ให้ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหาร กับคณะกรรมการสรรหาฯ ใช้มติ 4 ใน 5 ให้ส่งผู้สมัครคนอื่นได้
ส่วนการสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ให้คณะกรรมการบริหารพรรค กก.บริหาร หัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เสนอรายชื่อผู้สมัครได้คนละไม่เกิน150 ชื่อ และให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อเรียงตามอักษร ไม่เกิน 150 รายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้ไม่เกิน 15 ชื่อ จากนั้นนับคะแนน และประกาศผล และให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีเรียงตามผลรวมคะแนน
กรณีหัวหน้าพรรคประสงค์สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ให้อยู่ลำดับ 1 คณะกรรมการบริหารพรรคใช้มติ 2ใน3 ของที่มีอยู่ ตัดผู้สมัครออกได้ และจัดลำดับผู้สมัครที่คะแนนเท่ากันใหม่ หรือไม่ได้คะแนน ใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่สำคัญคือ มีการกำหนดบทลงโทษทางอาญา และทางการเมืองทั้งการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ( ใบแดง) การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือที่เรียกว่า ตัดสิทธิชั่วชีวิต เพราะรธน. ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ รวมทั้งยุบพรรคไว้ด้วย โดยกรณีหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค สาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคฯประจำจังหวัด ไม่ดำเนินการเรื่องการส่งผู้สมัครให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หรือยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือออกเสียงลงคะแนนในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี ซึ่งการดำเนินคดีกรณีนี้ ให้ถือว่าสมาชิกพรรคทุกคนเป็นผู้เสียหาย
ส่วนหากพบว่าในขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรค ผู้ใดกระทำการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้ใด หรือไม่ให้ไปประชุม หรือลงคะแนน เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนให้กับตนเอง หรือผู้อื่น หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
และหากถ้าพบว่าพรรคการเมือง หรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัคร หรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นเช่นกัน
ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วเป็นการกระทำของพรรค หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค นอกจำต้องรับโทษอาญาดังกล่าวแล้ว ให้ถือกรณีดังกล่าวเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ในร่างแก้ไขจะกำหนดให้มีการเอาผิดกับพรรคที่ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการขั้นตอนไพรมารีโหวตไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ก็บัญญัติว่า การดำเนินการไม่ครบถ้วนนั้น ไม่มีผลทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป เพียงแต่ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าวก็ให้กล่าวโทษหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเอาผิดตามที่กฎหมายกำหนดโทษไว้
ด้าน พล.อ.สมเจตน์ ซึ่งจะร่วมเป็นหนึ่งใน กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยว่า มีการหารือเบื้องต้นกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แล้ว โดยจะมีการปรับปรุงเนื้อหาในกฎหมายตามข้อท้วงติงของกรธ.ในเรื่องของไพรมารีโหวต เพื่อให้ขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครมีความชัดเจนมากขึ้น และให้เป็นกิจการภายในของพรรคการเมือง ที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องดูแลรับผิดชอบกระบวนการคัดเลือกให้ถูกต้องตาม
กฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ครบถ้วน ก็สามารถร้องไปยังกกต.ให้ดำเนินคดีอาญา กับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้ แต่ถ้าพบว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนในการทุจริตขั้นตอนการคัดเลือกดังกล่าว นอกจากมีโทษอาญา แล้วยังมีโทษยุบพรรคด้วย
"หากกระบวนการคัดเลือกไม่ชอบ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ โดยสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายสามารถร้องไปที่ กกต.ได้ แต่ไม่กระทบกับการส่งชื่อผู้สมัคร แต่ถ้าได้เป็นส.ส. กกต. ก็สามารถสอบย้อนหลังเพื่อฟ้องต่อศาลได้ และถ้ามีกรรมการบริหารพรรคไปมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการคัดเลือกดังกล่าว ก็มีผลให้ยุบพรรคด้วย แต่ถ้าเป็นการทำผิดของผู้สมัคร ก็เป็นความผิดเฉพาะบุคคล หลังจากสนช. มีมติตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายในวันนี้ คาดน่าจะมีการประชุมนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว และว่า เชื่อว่าการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ครั้งนี้ จะไม่ทำให้เป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองในการปฏิบัติ จนกระทบกับการส่งผู้สมัครเพราะถ้าตั้งใจปฏิบัติ ก็สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นหลักการที่ดีในการพัฒนาระบบประชาธิปไตย รวมทั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคก็ต้องรอบคอบไม่เช่นนั้นก็ต้องรับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น