xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จ่อตั้ง กมธ.วิฯ กม.ลูกพรรคการเมืองร่วม 20 ก.ค.หลัง กรธ.ชง 5 ข้อเสนอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สนช. เตรียมตั้ง กมธ.วิฯ กฎหมายลูกพรรคการเมืองร่วม 3 ฝ่าย 20 ก.ค. ตามข้อเสนอ กรธ. 5 ข้อ แนะดูบทบัญญัติปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญด้วย ชี้ กระบวนการสรรหา ส.ส. ของสมาชิกพรรคส่อไม่สุจริต เหตุไร้มาตรการจัดการโกงในการประชุมสาขา โวยหัวหน้าพรรคเบอร์ 1 ปาร์ตี้ลิสต์ไม่เป็นธรรม จวกทำพรรคใหญ่ได้เปรียบ

วันนี้ (18 ก.ค.) มีรายงานจากที่รัฐสภา ว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 20 ก.ค. มีวาระเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามมาตรา 267 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดย กรธ. ได้เสนอเหตุผลที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ มายัง สนช. จำนวน 5 ข้อ ดังนี้

1. การพิจารณาบทบัญญัติใดแห่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบกับบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองตามมาตรา 258 ก (1) ของรัฐธรรมนูญ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่าประสงค์ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน

2. เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว กรธ. เห็นว่า กระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถตามมาตรา 50 และ 51 ของร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อาจมีกรณีที่ทำให้กระบวนการนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมขึ้นได้ เนื่องจากไม่มีมาตรการจัดการกับทุจริตในชั้นการประชุมสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรธ. จึงเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

3. การที่มาตรา 51 (4) แห่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับที่หนึ่งในบัญชีรายชื่อเท่านั้น เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อหัวหน้าพรรคการเมืองโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองไม่สามารลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ทั้งที่เป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง

4. กรณีมาตรา 35 ประกอบกับมาตรา 50 และ มาตรา 51 กำหนดให้จังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้น ทำให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่ว่าเพราะเหตุใดไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้นได้ และไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ย่อมเป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองไม่ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกระทบต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายต่อการเลือกตั้ง บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5. การที่มาตรา 138 แห่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบัญญัติว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ หากพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมไปถึงพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นหลังวันที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 27 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ

สำหรับรายชื่อบุคคลที่จะมาทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญฯจำนวน 11 คน แบ่งเป็นตัวแทนจาก กกต. 1 คน คือ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ตัวแทน สนช. จำนวน 5 คน ได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายกล้านรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ ด้าน ตัวแทน กรธ. 5 คน ได้แก่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายอุดม รัฐอมฤต นายภัทระ คำพิทักษ์ นายนรชิต สิงหเสนี และ นายประพันธ์ นัยโกวิท
กำลังโหลดความคิดเห็น