อดีต ส.ส.เชียงราย เพื่อไทย ชี้ กรธ.แก้ไพรมารีโหวตห้าม กกต.แจกเหลืองแดงระหว่างทำ ยังแก้ไม่ถูกวิธี แนะไม่ควรให้ยุ่งกระบวนการ เสนอใช้ระบบ 100 สมาชิกพรรครับรองผู้สมัครก่อนส่งชื่อให้ตัวแทนสาขา และ กก.บห.พิจารณาแทน ด้าน “นพดล” ชี้ระบบไม่เหมือนมะกัน ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ เชื่อทำพรรคแตกแยก ไม่แน่ใจเหมาะกับไทยหรือเปล่า
วันนี้ (10 ก.ค.) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมทบทวนหลักเกณฑ์เรื่องไพรมารีโหวตในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยไม่ให้ กกต.มีอำนาจแจกใบเหลือง-ใบแดงในขั้นตอนไพรมารีโหวต จะให้เป็นเฉพาะกระบวนการภายในพรรคการเมืองว่า มองว่ายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกวิธี ควรให้การคัดเลือกผู้สมัครเป็นเรื่องกิจการภายในพรรคการเมืองเท่านั้น กกต.ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ชุด พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานเสนอมาไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะไปกำหนดให้ กกต.มาเกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคการเมือง แทนที่จะให้ทำหน้าที่เฉพาะควบคุมการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
ส่วนเรื่องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้สมัครนั้น นายสามารถกล่าวว่า ทำได้หลายวิธีโดยพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอว่าควรให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งของตนเองอย่างน้อย 100 คน ที่ให้การรับรองการเป็นผู้สมัคร จากนั้นให้นำรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด ส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรค และตัวแทนสาขาพรรคเป็นผู้พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย วิธีนี้สอดคล้องแนวทางรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร และสามารถทำได้ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเหมือนแนวทางของ กมธ.ที่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย
ด้านนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบบไพรมารีที่พูดกันอยู่ตอนนี้ยังไม่ใช่ระบบไพรมารีตามแนวทางประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะเขาให้ประชาชนมีส่วนในการคัดเลือกผู้สมัครอย่างแท้จริง ทั้งคนในพรรคและคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เป็นเหมือนการทดสอบเสียงก่อนเลือกตั้งจริง การที่บ้านเราเอาระบบไพรมารีแบบครึ่งๆ กลางๆ มาใช้ ให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการเลือกตัวผู้สมัคร ถึงวันนั้นอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในตัวผู้สมัครของพรรคด้วยกันเอง เพราะต้องแย่งเสียงสมาชิกกัน ตนจึงไม่แน่ใจว่าระบบนี้จะเหมาะกับบ้านเราหรือไม่ ส่วนกรณีที่ กรธ.มีแนวคิดให้ระบบนี้เป็นระบบภายในพรรคไม่ให้ กกต.เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ถือว่าดีกว่าให้ กกต.เข้ามาดำเนินการ เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในพรรคการเมืองอยู่แล้ว กกต.ควรไปดูการเลือกตั้งจริงจะดีกว่า