xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เห็นชอบ กม.พรรคฯ ให้มีทุนตั้งพรรค 1 ล้าน และต้องทำไพรมารีโหวตหาผู้สมัคร ส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ก่อนมีมติเห็นชอบ ยืนยันให้พรรคมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ผู้ร่วมจัดตั้งต้องจ่ายทุกคนไม่ต่ำกว่าพัน และไม่เกิน 5 หมื่น และยังผ่านมติต้องทำไพรมารีโหวตหาผู้สมัคร ส.ส.

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 142 มาตรา แก้ไขไป 60 มาตรา ตัดออก 1 มาตรา และเพิ่มใหม่ 4 มาตรา มีเจตนารมณ์ขจัดนายทุนครอบงำพรรคการเมือง ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค มีส่วนร่วมคัดสรรผู้สมัครทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ตนยืนยันว่า พรรคการเมืองต้องถูกปฏิรูป ถ้าไม่เช่นนั้นการปฏิวัติเสียของแน่

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ สนช. และตัวแทนของ กรธ.อยู่ที่มาตรา 9 ว่าด้วยการกำหนดจำนวนเงินสำหรับเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมือง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่ได้แก้ไขให้พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าจำนวนที่ กกต.กำหนดเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งร่วมที่ผ่านมาก็ได้ โดยทุนประเดิมมาจากผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000บาท ต่างจากเดิมที่ กรธ.กำหนดให้ต้องมีเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยมาจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนคนละไม่เกิน 1,000 บาทแต่ไม่เกินคนละ 3 แสนบาท

นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ.ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ขอเสนอให้แก้ไขมาตรา 9 กลับไปตามที่กรธ.เสนอมาในครั้งแรก คือ การให้มีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยมาจากผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนคนละไม่เกิน 1,000 บาทแต่ไม่เกินคนละ 3 แสนบาท เพราะหากบังคับใช้ตามที่เสียงข้างมากแก้ไข จะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากตัวแทนของ กกต.ได้มาชี้แจงว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.จะอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท เท่ากับว่าทุนประเดิมของพรรคการเมืองจะอยู่ 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้จะมีปัญหาตามมาว่าค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของแต่ละครั้งย่อมจะไม่เท่ากันโดยจะผันแปรไปตามที่ กกต.ประกาศในแต่ละครั้ง ดังนั้น หากพรรคการเมืองไม่มีทุนประเดิมได้ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตัวเลขค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ส.ส.ย่อมจะก่อให้เกิดการตีความว่าพรรคการเมืองนั้นย่อมไม่อาจสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่เช่นกัน ดังนั้นจึงคิดว่าควรกลับไปใช้มาตรา 9 ตามที่ กรธ.เสนอไว้ตั้งแต่ครั้งแรกเพื่อให้เกิดความแน่นอนในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง

ด้าน พล.อ.สมเจตน์ชี้แจงว่า ตัวเลข 1.5 ล้านบาทอ้างอิงมาจากตัวเลขค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.ตามที่ กกต.กำหนด ซึ่งจะผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจไม่ตายตัว อย่างไรก็ตาม ยืนยันแม้ในตอนแรกพรรคการเมืองอาจไม่ต้องมีทุนประเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีทุนทรัพย์น้อยสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ แต่เมื่อดำเนินการกิจการพรรคการเมืองไปแล้ว พรรคการเมืองจะต้องมีเงินทุนประเดิม มิเช่นนั้นพรรคการเมืองจะไม่สามารถขอรับเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองได้

ภายหลังจากอภิปรายเกือบ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 109 ต่อ 95 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะ กมธ.วิสามัญ โดยเห็นควรแก้ไขมาตรา 9 ว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 5 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุุม สนช.ยังเห็นชอบกับมาตรา 35 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 49/1 และมาตรา 49/2 ว่าด้วยการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือไพรมารีโหวต โดยกำหนดให้การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสส.แบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจากผูู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างระหว่างชายและหญิงด้วย

สำหรับขั้นตอนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดกระบวนการให้มีการประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเมื่อมีการลงคะแนนแล้วจะส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้มีมติเอกฉันท์ 180 คะแนนเห็นชอบ ในวาระ 3 โดยขั้นตอนไปจะส่งร่าง พ.ร.บ.ให้กับ กรธ. และ กกต.พิจารณาว่าประเด็นที่ สนช.แก้ไขสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยทั้งสองหน่วยงานจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 10 วันและส่งกลับมายังประธาน สนช.อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น