xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ใช้ยาแรงพวกรวยผิดปกติ ลุ้นเซตซีโรกกต.1มิ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังตรวจทาน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน คาดว่าจะเสร็จในสัปดาห์หน้า และสามารถส่งให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาต่อได้ทันที ซึ่งขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณา พ.ร.ป. ทั้ง 10 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงมาทบทวนข้อคิดเห็น เหตุผล และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งเก็บรายละเอียดจากการรับฟังข้อคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 77 ที่รธน.กำหนดไว้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือ ระบบวิธีการไต่สวน ซึ่งกรธ.พยายามทำให้ชัดเจนมากกว่าเดิม โดยใน มาตรา 6 ได้บัญญัติ เรื่องการค้นหาความจริงอย่างละเอียดมากขึ้น พยานหลักฐาน ต้องเอามาใช้ได้ทุกประเภท เพื่อให้ผู้พิพากษาใช้ประกอบการพิจารณาคดีอย่างถี่ถ้วน
ส่วนขอบเขตอำนาจศาลฎีกาแผนคดีอาญานักการเมือง ตามมาตรา 10 ของกม.ลูกนี้ ได้กำหนดให้เน้นการตรวจสอบนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ รวมทั้งตุลาการศาลรธน. กรรมการในองค์กรอิสระทุกองค์กร นอกจากนี้ในมาตรา 26 กำหนดให้สามารถพิจารณาคดีได้ โดยไม่มีจำเลยมาศาล เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาจำเลยที่หนีคดีไม่มาศาล และให้ศาลพิจารณาได้ต่อไปจนได้ผลการตัดสิน ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะไม่มา แต่สามารถตั้งทนายมาต่อสู้แทนได้ แต่หากจำเลยกลับมาสู้คดี ก็สามารถรื้อฟื้นคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นการให้หลักประกันสิทธิแก่จำเลย
"เราพยายามแก้ปัญหา เพราะในอดีตนักการเมืองที่โดนคดี มักหลบหนีออกนอกประเทศ จนทำให้คดีค้างที่ศาลไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้" นายอุดม กล่าว
พล.ท.พิศณุ ยุทธวงศ์ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แถลงว่า คณะกมธ.วิสามัญฯ จะเสนอร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวให้ที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบ ในวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งขณะนี้ได้พิจารณาในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะ มาตรา 70 ว่าด้วยสถานภาพในการดำรงตำแหน่งต่อไปของกกต. โดยร่าง พ.ร.ป. ฉบับที่ กรธ.เสนอมานั้น ให้มีคณะกรรมการสรรหาเพื่อวินิจฉัยว่า ประธาน กกต. หรือ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งก่อนมี รธน.60 ขาดคุณสมบัติ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ มีสมาชิกสนช. เสนอคำแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขเนื้อหา 12 คน โดยมีความเห็นหลายแนวทาง อาทิ การเสนอให้ กกต.ที่ขาดคุณสมบัติ ไปทำหน้าที่ ที่ปรึกษาของสำนักงานกกต. หรือให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กฎหมายกำหนด
พล.ท.พิศณุ กล่าวว่า ตัวแทนของกรธ. ที่เข้ามาทำหน้าที่กมธ.วิสามัญฯได้ให้ความเห็นว่า ในเมื่อกกต.ตามรธน.ฉบับใหม่มีอำนาจมากขึ้น ทำให้กกต.ต้องมีคุณสมบัติที่สูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นที่มาว่า ทำไม กรธ.ถึงต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา เข้ามาพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. ส่วนเรื่องวาระของกกต.นั้น กมธ.จะพิจารณาโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักไม่พิจารณาภายใต้ผลประโยชน์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยจะดำเนินการให้เสร็จในวันที่ 1 มิ.ย. และคิดว่าก่อนที่จะพิจารณาชี้ขาดในเรื่องนี้ คงไม่จำเป็นต้องเชิญกกต. มาให้ความเห็นอีก เพราะก่อนที่ ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ทาง สนช.ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาพร้อมกับเชิญกกต. มาให้ข้อมูลและความคิดเห็นไว้ก่อนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น