สนช.ถกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พบ “นรนิติ-กล้านรงค์-สมเจตน์” หนุนกรรมการอยู่ต่อ ด้าน “ตวง” อ้างยึดรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ส่วน กรธ.ยันล้างไพ่ ไม่ได้โกรธเกลียดใคร ไม่เสียจุดยืน ก่อนมีมติเสียงข้างมาก 161 ต่อ 15 เซตซีโร่ ตาม ม.70 และมติ 177 ต่อ 1 ผ่านวาระ 3 ส่ง กกต.-กรธ.พิจารณาขัด รธน.หรือไม่
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยสมาชิก สนช.ได้อภิปรายสอบถามในประเด็นสำคัญ คือ การดำรงอยู่ของ กกต.ชุดปัจจุบันทั้ง 5 คน ในมาตรา 70 ที่บัญญัติว่าให้ประธาน กกต.และ กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กกต.และกรรมการ กกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีมติแก้ไขเนื้อหาจากเดิมที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมายัง สนช.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ชี้ขาดคุณสมบัติของกกต.แทน
ทั้งนี้ มีทั้งกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับมติของคณะ กมธ.และสมาชิก สนช.จำนวนหนึ่ง เช่น นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกล้านรงค์ จันทิก พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.แสดงความคิดเห็นว่าควรให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันก็มาจากกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด และต้องการให้ตัวแทนของ กรธ.ชี้แจงว่าการกำหนดการคงอยู่ของ กกต.ไว้เช่นนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระอื่นๆ หรือไม่
ขณะที่นายตวง อันทะไชย ประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงว่า การพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญฯ ได้ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นสำคัญ โดยพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดโครงสร้างของ กกต.ใหม่ทั้งหมดทั้งในเรื่องจำนวนของกรรมการหรืออำนาจหน้าที่ในการทำงานเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าควรต้องมีการปรับเปลี่ยน กกต.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ.และกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า การพิจารณาเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ กรธ.ในอนาคตอาจจะเหมือนหรือต่างกันกับของ กกต.ก็ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละองค์กระและสนธิสัญญาต่างประเทศที่มีบางองค์กรในไปลงนาม ส่วนกรณีของ กกต.นั้นยืนยันว่าดูเรื่องเจตนารมณ์ คุณสมบัติ และวัตถุประสงค์การปฏิรูป โดยไม่ได้พิจารณาว่าจะโกรธใครเกลียดใคร และขอยืนยันอีกว่า กรธ.ไม่ได้เสียจุดยืนเพราะเป็นการแก้ไขอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 161 ต่อ 15 คะแนนเห็นด้วยกับมาตรา 70 ของที่ให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และมติเสียงข้างมาก 177 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบในวาระ 3 เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายหลังเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้วจะต้องส่งให้ กกต.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่ สนช.แก้ไขนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยทั้ง กกต.และ กรธ.จะต้องพิจารณาให้เสร็จและส่งมากลับมาให้ประธาน สนช.ภายใน 10 วัน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 267