xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านวาระแรก ร่าง กม.ลูกวิธีพิจารณาคดีนักการเมือง ให้ฟันลับหลังหากจำเลยหนีศาลได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วาระแรก “มีชัย” แจงบัญญัติวิธีไต่สวนให้ชัดขึ้น ป้องกันแพ้ชนะเชิงเทคนิค ให้ศาลแสวงหาข้อเท็จจริง พร้อมให้ศาลรับฟ้องดำเนินคดีหากจำเลยหนีหมาย แต่ไม่ตัดสิทธิตั้งทนายสู้ และขอรื้อฟื้นหลังตัดสินแล้วได้ ด้าน “กล้านรงค์” ติงข้อความยังขัดกับการออกหมายจับ ก่อนที่ประชุมมีมติรับหลักการ 190 เสียง งดออกเสียง 4

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... ในวาระที่ 1 ตามที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ กรธ.ส่งให้ สนช.พิจารณา

โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า รายละเอียดส่วนใหญ่แล้วเป็นไปตามหลักการเดิมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกร่างมา แต่สิ่งที่ กรธ.กำหนดเพิ่มเติมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมี 2 เรื่อง คือ การบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการไต่สวนให้ชัดเจนมากขึ้น โดยระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัด เพื่อให้ป้องกันการแพ้ชนะคดีกันในเชิงเทคนิคที่อาศัยช่องโหว่กฎหมาย แต่ให้ศาลเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อส่วนรวม ส่วนหลักการดำเนินคดี ยังยึดหลักการดำเนินคดีที่ต้องมีจำเลยอยู่ต่อหน้า ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 25 แต่ได้เพิ่มเติมเงื่อนไขสำคัญไว้ในมาตรา 26, 27 และ 28 ที่กำหนดยกเว้นให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย หากมีหลักฐานชัดว่ามีการออกหมายจับแล้วแต่ไม่ได้ตัวจำเลยมา ก็ให้ศาลดำเนินการรับฟ้องและดำเนินคดีได้ แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการตั้งทนายความมาต่อสู้คดี และในกรณีเมื่อคดีตัดสินไปแล้วแต่จำเลยกลับมา หากจำเลยจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่ก็สามารถทำได้ซึ่งหลักการเหล่านี้เป็นไปตามหลักการสากล ไม่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนหลักการที่ กรธ.เพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักการพิจารณาคดีลับหลัง อย่างนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ที่ชี้ว่าหลักการนี้จะสามารถแก้ปัญหานักโทษหนีคดีได้ โดยยกตัวอย่างอดีตนักการเมืองที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ แต่ยังมีข้อกังวลว่าไม่มีหลักประกันที่จะเอาตัวมาลงโทษได้ ขณะที่นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช.ยังชี้ว่า ในมาตราเกี่ยวกับการยกเว้นให้พิจารณาคดีลับหลังนั้นยังมีข้อความที่ขัดกันอยู่เกี่ยวกับการพิจารณาออกหมายจับ ซึ่งนายมีชัยก็ฝากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่จะมาพิจารณากฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้จำเลยรื้อคดีได้นั้น นายมีชัยชี้ว่า เป็นการสอดคล้องตามหลักสากล

จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระ 1 ด้วยคะแนนเสียง 190 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง









กำลังโหลดความคิดเห็น