ประธาน กรธ.อ้าง กรธ.ส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัตินั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โยน สนช.ดูให้ กกต.อยู่ต่อ แต่ยันควรสอดคล้อง รธน. ชี้บทบาทผู้ตรวจการเลือกตั้งหวังเป็นหูเป็นตาให้ กกต.กลาง ยันเก็บค่าสมาชิกพรรคหวังให้รู้สึกเป็นเจ้าของ แต่ทำ กกต.มีบทบาทขึ้น โบ้ยข้อเสนอจำกัดเพดานบริจาค ให้ สนช.ตัดสินใจ
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเพิ่มคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการเอื้อให้กับผู้ดำรงตำแหน่งใน กรธ. ว่า กรธ.ส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ และในประเทศไทยเองก็มีบุคคลที่เป็นศาสตราจารย์อยู่หลายคน รวมถึงรัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้มาแล้ว อีกทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ระบุว่าแม้รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติสูงขึ้นแต่ก็สามารถบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อได้จนครบวาระในบทเฉพาะกาลของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัยกล่าวว่า หาก สนช.คิดว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็สามารถแก้ไขได้ แต่ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่า สนช.จะแก้ไขถ้อยคำอย่างไร แต่ทาง กรธ.คิดว่าคุณสมบัติควรสอดคล้องไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีข้อวิจารณ์ระบุอาจเกิดปัญหาเพราะไม่คุ้นเคยพื้นที่นั้น นายมีชัยย้ำว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งและคนนอกพื้นที่ส่วนหนึ่ง อีกทั้งบทบาทของผู้ตรวจการเลือกตั้งคือเป็นหูเป็นตาให้ กกต.กลาง ต่างจาก กกต.ประจำจังหวัดที่ได้รับมอบอำนาจจาก กกต.กลาง ซึ่งอาจเกิดปัญหาเป็นต้นแบบให้องค์กรอิสระอื่นๆ ตั้งผู้ใช้อำนาจในพื้นที่ เพื่อตัดสินหรือใช้อำนาจเบื้องต้น
นายมีชัยยังกล่าวถึงบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้เก็บค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท ว่าทาง กรธ.มีเจตนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรค มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ตัวผู้สมัคร และกฎเกณฑ์ของพรรค พร้อมยืนยันจากผลสำรวจของประชาชนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าประชาชนเห็นด้วยในหลักการที่ให้สมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงพรรค เพื่อการมีส่วนร่วม ส่วนช่องว่างให้เกิดการกลั่นแกล้งอย่างการจ่ายค่าสมาชิกแทนกันหรือกระทำผิดกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่แสดงว่าแวดวงการเมืองมีความไม่ตรงไปตรงมา การใช้กฎหมายจะต้องเข้มงวดขึ้น ให้บทบาท กกต.สูงขึ้นในการดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างกล้าหาญ
ส่วนปัญหาในการบริหารจัดการจัดเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง นายมีชัยกล่าวว่า ในกฎหมายก็มีการกำหนดไว้หลายวิธี ที่พรรคการเมืองสามารถคิดได้ พร้อมยกตัวอย่างระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ และมีหลายวิธีที่จะอธิบายให้สมาชิกรับทราบ ซึ่งสมาชิกมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก หากไม่จ่ายใน 2 ปี ก็ถือว่าขาดความเป็นสมาชิก ขณะที่ข้อทักท้วงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนและพรรคการเมืองนั้น เงินเป็นปัจจัยจำเป็นต่อพรรคการเมือง และเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่สมาชิกพรรคต้องมีส่วนแบบรับภาระนั้นด้วย อีกทั้งกฎหมายเขียนไว้ด้วยว่าจำนวนเงินที่สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองนั้น เป็นปัจจัยที่จะบอกว่าจะได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเท่าใด หากสมาชิกจ่ายเงินเยอะ ก็จะได้เงินจากกองทุนเยอะตามมา
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองมีเจตนาจัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังบริหารประเทศ จึงคิดว่าการดำเนินการเกี่ยวกับค่าบำรุงพรรคการเมืองคงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป พร้อมเข้าใจว่าปัญหาทักท้วงที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะประเทศไทย ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เสนอให้จำกัดเพดานการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ต้องรอดู สนช.ว่าจะแก้ไขอย่างไร