xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.-ศาลยุติธรรม ยังเห็นต่างกฎหมายลูกปมพิจารณาคดีลับหลัง หากจำเลยไม่มาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กรธ.ถกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่ายศาลยุติธรรม ยันต้องนำตัวจำเลยมาศาล หากไม่พามาหวั่นกระทบความสง่างาม ด้าน กรธ.ยังยันแผนเดิม จ่อให้ตั้งทนายสู้ รื้อฟื้นคดีหลังถูกพิพากษาได้ ยันเห็นพ้องกันเกือบทุกจุดแล้ว ไม่ได้ขัดแย้ง

วันนี้ (8 พ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีการเชิญตัวแทนศาลยุติธรรมจำนวน 6 คน นำโดยนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มาร่วมหารือแสดงความคิดเห็นกับ กรธ.ถึงร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ.กล่าวว่า กรธ.ยันยืนหลักการเดิม คือต้องการหาวิธีให้คนโกงเกรงกลัว มิใช่เมื่อทำผิดแล้วหนีไป 20 ปีแล้วกลับมาพยานหลักฐานต่างๆ ก็หายไปหมด สุดท้ายจำเลยก็หลุดคดี โดยแนวทางเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหา เช่น เมื่อศาลรับฟ้องคดีแล้ว ก็ให้พักคดีเอาไว้ก่อน หรือไม่ให้คดีหมดอายุความ ในกรณีที่จำเลยหนีคดีเป็นต้น

ขณะที่แหล่งข่าวใน กรธ.เปิดเผยว่า ตัวแทนศาลยุติธรรมได้ยืนยันหลักการเดิม คือ ต้องการให้นำตัวจำเลยมาฟ้องศาลเพราะหากพิจารณาคดีโดยไม่มีจำเลยจะกระทบต่อความสง่างามของศาลยุติธรรม และกระทบต่อหลักยุติธรรมสากล ขณะที่ทาง กรธ.จะนำข้อเสนอของตัวแทนศาลไปพิจารณาต่อไป พร้อมยืนยันแนวทางเดิมคือต้องการหาวิธีป้องกันไม่ให้นักการเมืองหนีคดีและไม่ให้คดีความต่างๆ เกิดปัญหาคาราคาซัง อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยหนึ่งในแนวทางก็คือเมื่อ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอและหากศาลรับฟ้องก็สามารถดำเนินคดีลับหลัง ซึ่ง กรธ.จะเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถตั้งทนายขึ้นสู้ หรือ หากจำเลยเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อถูกพิพากษาแล้วก็สามารถรื้อฟื้นคดี และอุทธรณ์คดีได้ ซึ่ง กรธ.ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมแก่นักการเมือง และไม่ให้ต่างชาติมองว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถือนอย่างแน่นอน

“กรธ.และตัวแทนศาลยุติธรรมไม่ได้มีความขัดแย้งอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นบรรยากาศการทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และสาระสำคัญของร่างกฎหมายก็เห็นตรงกันเกือบทุกจุดแล้วเหลือเพียงแค่เห็นต่างๆ ในเรื่องการให้อำนาจศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ กรธ.จะมีการหารืออีกครั้งในเร็วๆ นี้” แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น